ไทย – จีน ร่วมหารือกระชับความสัมพันธ์ เร่งผลักดันและบูรณาการความร่วมมือในหลายมิติให้ได้ผลเป็นรูปธรรม พร้อม MOU 5 ฉบับ

การประชุมทวิภาคีไทย-จีน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ประกาศบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย (อว.) และสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Academy of Sciences : CAS)

นายกฯ ต้อนรับประธานาธิบดีจีนเยือนไทยในรอบ 11 ปี เปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ กระชับความร่วมมือด้านมั่นคง เศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมโยง และขจัดความยากจน เพื่อประชาชนทั้งสองประเทศ

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.20 น. ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเยือนไทย ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

จากนั้น เวลา 13.30 น. นายกรัฐมนตรีเชิญประธานาธิบดีจีนไปยังตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ผู้นำทั้งสองได้ร่วมกันหารือถึงการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือ โดยฝ่ายไทยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมด้วย ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับประธานาธิบดีจีนเยือนไทยครั้งนี้ นับเป็นการเยือนไทยในรอบ 11 ปี และเป็นการเยือนครั้งแรกนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้การเยือนไทยของประธานาธิบดีจีนครั้งนี้มีความหมายและความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการกระชับความสัมพันธ์ ที่จะได้ร่วมกันกำหนดทิศทางความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านที่ครบรอบ 10 ปีในปีนี้ และมุ่งไปสู่การฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568 รวมทั้งการเข้าร่วมการประชุมของจีนมีผลอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการประชุมเอเปคที่จะร่วมกันบรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมที่เปิดกว้าง มีพลวัต พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีสันติภาพ รวมถึงยังส่งผลความมั่นคงความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อภูมิภาคและโลกโดยรวม 

ประธานาธิบดีจีนรู้สึกยินดีเป็นเกียรติที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ พร้อมกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการจัดการต้อนรับ ทั้งนี้ มิตรภาพจีน-ไทยสืบทอดกันมาหลายพันปี ประชาชนมีความสัมพันธ์เหมือนพี่น้องกัน โดยจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทย เพราะจีนและไทยไม่ใช่อื่นไกลคือพี่น้องกัน จีนพร้อมร่วมมือกันสรรค์สร้างความเจริญรุ่งเรืองและอนาคตร่วมกัน เปิดศักราชใหม่ของความร่วมมือ เพื่อผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีจีนแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีและประเทศไทยที่ได้จัดการประชุมเอเปคด้วยความสำเร็จ แสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความสร้างสรรค์ สามัคคี และปรองดอง พร้อมพัฒนาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค และสร้างสรรค์ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังระบบเศรษฐกิจทั่วโลกด้วย

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง นายกรัฐมนตรีเสนอให้เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์และหารือยุทธศาสตร์ในระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ และกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคง โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การหลอกลวงทางโทรศัพท์ ซึ่งจีนยินดีร่วมมือกับไทย เพื่อผลประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ รวมถึงต่อภูมิภาคโดยรวม ซึ่งประธานาธิบดีจีนยินดีร่วมมือเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งทั้งสองประเทศควรปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) เพื่อผลักดันและบูรณาการความร่วมมือในหลายหลายมิติให้ได้ผลเป็นรูปธรรม

สำหรับการสร้างความมั่งคั่ง ไทยและจีนเห็นพ้องการเพิ่มพูนมูลค่า และอำนวยความสะดวกทางการค้าด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีจีนยังขอให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางราง รวมถึงการดำเนินการโครงการรถไฟไทย-จีน ให้เป็นไปตามที่กำหนด 

ประธานาธิบดีจีนเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรต่อยอดความร่วมมือแบบดั้งเดิมทั้งเรื่องการลงทุน การค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือแบบใหม่ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล รถยนต์พลังงานทดแทน นวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่มองว่า ควรจะเร่งความร่วมมือสามฝ่ายไทย-จีน-ลาว ในเรื่องการเชื่อมโยงระบบรถไฟ โดยไทยและจีนควรส่งเสริมการเชื่อมโยงตั้งแต่ EEC ของไทยไปยังรถไฟจีน-ลาว ต่อไปจนถึงมณฑลยูนนานของจีน และเชื่อมไปยังเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกและทางน้ำสายใหม่ของจีน สำหรับในขั้นต่อไปจีนหวังว่า จะมีการเชื่อมโยงทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และระบบศุลกากรเพื่อขยายการขนส่งสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย เช่น ทุเรียนและมังคุด

ทางด้านความยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมเสริมสร้างมิตรภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โอกาสนี้ ประธานาธิบดีจีนชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนในไทย และมีแนวคิดว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จีนยินดีร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องการลดความยากจนและการพัฒนาชนบท โดยรัฐบาลจีนมีภาระหน้าที่สำคัญในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจีน และสร้างสรรค์บ้านเมืองในการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างรอบด้านโดยมีอัตลักษณ์ของจีน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของไทย จีนเห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรจะเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ร่วมกัน แลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือที่สอดคล้องกันของทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืน  

นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณจีนที่อนุญาตให้นักศึกษาไทยทยอยกลับไปศึกษาต่อในจีนได้ รวมทั้งพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง ซึ่งประธานาธิบดีจีนกล่าวว่า จีนและไทยเป็นเหมือนพี่น้องและญาติมิตร จีนส่งเสริมให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายเดินทางไปมาหาสู่กันได้ หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาโควิด-19 ได้สำเร็จด้วยดี เชื่อว่าหากทุกฝ่ายสามัคคีร่วมมือกัน จะนำไปสู่ผลประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนได้ในระยะยาว

สำหรับความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ทั้งสองฝ่ายต่างมองว่า สถานการณ์โลกและภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความท้าทายจากความมั่นคงรูปแบบใหม่ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน และความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้ไทยและจีนต้องร่วมมือรับความท้าทาย เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน เพื่อเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ ประธานาธิบดีจีนยืนยันที่จะแสดงบทบาทอย่างสร้างสรรค์ และพร้อมร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดในกรอบพหุภาคีต่าง ๆ ทั้งเวทีอาเซียน ACMECS รวมถึงกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง 

หลังจากการหารือเต็มคณะ ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศเอกสารความร่วมมือและความตกลงที่มีการลงนามในช่วงการเยือน จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่

(1) แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่4 (พ.ศ. 2565-2569) 

(2) แผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วย การร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

(3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 

(4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และ

(5) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการก่อตั้งคณะทำงานความร่วมมือด้านการลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

จากนั้น ประธานาธิบดีจีนได้ลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึก ณ บริเวณโถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีจีน และภริยา ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

ที่มา : นายกฯ ต้อนรับประธานาธิบดีจีนเยือนไทยในรอบ 11 ปี เปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ กระชับความร่วมมือด้านมั่นคง เศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมโยง และขจัดความยากจน เพื่อประชาชนทั้งสองประเทศ

ภาพ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]