Science Technology Innovation Weekly No.35/2565

1. จีนพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ สำเร็จ

5 ก.ย. 65 – บริษัทอุตสาหกรรมการบินแห่งชาติจีน (Aviation Industry Corporation of China Limited) ผู้ผลิตเครื่องบินชั้นนำของจีน รายงานว่า “คิวเอ็มเอ็กซ์50” (QMX50) อากาศยานไร้คนขับขนาดใหญ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ประสบความสำเร็จในการทดสอบการบินจากพื้นดินระยะ 20-100 กิโลเมตร นาน 26 นาที ณ เมืองอวี๋หลิน มณฑลส่านซี เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565

2. จีนออกแนวปฏิบัติส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคใหม่

5 ก.ย. 65 – สำนักงานทั่วไปของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) และสำนักงานทั่วไปของคณะรัฐมนตรีจีน ได้ออกแนวปฏิบัติ “ส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคใหม่” เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมงานด้านการเผยแพร่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมบทบาทนักวิจัยในการเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ และเพิ่มสัดส่วนของพลเมืองที่มีความรู้วิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ นับตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ของพลเมืองของจีนได้เพิ่มขึ้นนอย่างรวดเร็ว โดยสัดส่วนของพลเมืองจีนในปี ค.ศ. 2020 ที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เพิ่มขึ้น 10.56 % เมื่อเทียบกับปี ค.ศ.2015

3. นักวิจัยจีนพบแอนติบอดีที่สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสสายพันธุ์ ‘เดลตา-โอไมครอน’

6 ก.ย. 65 – มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฉงชิ่ง ร่วมกับสถาบันวิทยาไวรัสอู่ฮั่น สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ค้นพบแอนติบอดี “586” (58G6) สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาและ โอไมครอนได้ดี รวมถึงสายพันธุ์อัลฟา เบตา และสายพันธุ์แกมมา ซึ่งพบในผู้ป่วยโรคโควิด-19 และแสดงประสิทธิภาพการป้องกันผ่านการฉีดพ่นทางจมูก โดยได้ให้แอนติบอดีดังกล่าวแก่ หนูทดลองทางจมูก และพบว่าแอนติบอดีปริมาณมากขนาด 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถป้องกันหนูทดลองจากการติดเชื้อไวรัสทั้งสองสายพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดการณ์ว่า จะมีการนำแอนติบอดีชนิดนี้มาใช้ในการรักษาด้วยวิธีพ่นยา ผลการศึกษาดังกล่าวได้เผยแพร่ผ่านวารสาร Signal Transduction and Targeted Therapy

4. จีนทดสอบระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมโดยใช้คลื่นความถี่ Q/V ครั้งแรกสำเร็จ

8 ก.ย. 65 – จีนประสบความสำเร็จในการทดสอบการสื่อสารจากดาวเทียมโดยใช้คลื่นความถี่ Q/V ของจีน โดยดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า (Geostationary Earth Orbit (GEO) Satellite) ที่ความสูงจากพื้นโลกประมาณ 35,700 กิโลเมตร ( 22,200 ไมล์) ในห้องปฏิบัติการเผิงเฉิง ความสำเร็จดังกล่าวได้ส่งเสริมความก้าวหน้าในด้านการวางแผนพัฒนาระบบกลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่ พัฒนาการเชื่อมโยงเครือข่ายทางอวกาศของประเทศ ขยายและส่งเสริมการพัฒนาระบบเครือข่ายโทรคมนาคมเชื่อมต่อกันระหว่างเครือข่ายการสื่อสาร เครือข่ายการเฝ้าระวังและตรวจการณ์ ทางอวกาศ และเครือข่ายดาวเทียมบอกพิกัดและนำทางเข้าด้วยกัน อนึ่ง ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมโดยใช้คลื่นความถี่ Q/V ยังคงได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมในการแพร่กระจาย เช่น สามารถถูกลดทอนเนื่องจากฝน การรบกวนของสัญญาณ และปัญหาต้องเผชิญกับการสื่อสารผ่านดาวเทียมในย่านความถี่ที่มีความยาวคลื่นระดับมิลลิเมตร

5. เทคโนโลยีมีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพไวน์จีน

8 ก.ย. 65 – จีนเปิดตัวเขตนำร่องสำหรับการทำไร่องุ่นและผลิตไวน์คุณภาพสูงแห่งแรกของประเทศ ในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อปี ค.ศ. 2021 เขตนำร่องดังกล่าวมีพื้นที่สำหรับการทำไร่องุ่นจำนวน 500 ตารางกิโลเมตร สามารถให้ผลผลิตมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านหยวน (ราว 5.08 แสนล้านบาท) โดยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นแหล่งผลิตไวน์คุณภาพสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปี ค.ศ. 2025 พื้นที่นี้ มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำไร่องุ่นเพื่อพัฒนาคุณภาพของไวน์ เช่น การใช้โดรนติดกล้องตรวจจับความร้อน กล้องถ่ายภาพ มัลติสเปกตรัม เพื่องานวิเคราะห์ไร่องุ่นโดยเฉพาะ เพื่อตรวจสอบควบคุมปริมาณน้ำและสารอาหารที่ใช้หล่อเลี้ยงไร่องุ่น เพื่อให้ได้ผลองุ่นคุณภาพสูงตามต้องการ

  • http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-09/05/content_541095.htm?div=-1
  • http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-09/05/content_541108.htm?div=-1
  • http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-09/07/content_541199.htm?div=-1
  • http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-09/08/content_541321.htm?div=-1
  • http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-09/08/content_541322.htm?div=-1
อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]