1. 5G + อุตสาหกรรมเหมืองแร่
8 ส.ค. 65 – 5G เป็นเครื่องมือที่สำคัญในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ด้วยขีดความสามารถในการรับส่งข้อมูลปริมาณมหาศาลอย่างรวดเร็ว ทำให้การควบคุมเครื่องจักรทางไกลมีความแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น เช่น การควบคุมอุปกรณ์แบบเรียลไทม์ การวิเคราะห์ภาพและวิดีโออัจฉริยะ การตรวจสอบและการเตือนล่วงหน้าของภัยพิบัติ รถขุดไร้คนขับ ด้วยการกำหนดตำแหน่งที่แม่นยำของ 5G และการสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างคนงานในเหมืองและระบบอัตโนมัติ ข้อมูล ณ เดือนเมษายน ค.ศ. 2022 เหมืองถ่านหินจำนวนเกือบ 400 แห่งจีน ได้ดำเนินการก่อสร้างแบบอัจฉริยะ ลดบุคลากร เพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วย การขับเคลื่อนการทำงานแบบไร้คนขับ ด้วยเครือข่ายการสื่อสารที่ถ่ายทอดทั้งภาพและเสียง รวมถึงประสาทสัมผัสที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง
2, นักวิชาการโจวเทา : การพัฒนาและใช้เทคโนโลยี Big Data จีน
8 ส.ค. 65 – ศ. โจว เถา แห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีนอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับการขนานนามว่า “เด็กอัจฉริยะทางวิชาการ” และ “ศาสตราจารย์ที่มีอายุน้อยที่สุดในมณฑลเสฉวน” เป็นผู้มีชื่อเสียงทางด้านเทคโนโลยี Big Data ของจีน ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2020 ศ.โจว เถาทำหน้าที่เป็นหัวหน้ากลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Big Data ของสำนักงานป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดเฉิงตู เป็นเครื่องมือช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) ในมณฑลเสฉวน ศ.โจว กล่าวว่า Big Data ช่วยให้การตัดสินใจในการบริหารจัดการภาครัฐ ในเรื่องการประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม และสามารถช่วยทําให้ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และแม่นยำมากยิ่งขึ้น
3. กระทรวงวิทย์ฯ จีน ประกาศลดภาระของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์
9 ส.ค. 65 – กระทรวงวิทย์ฯ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 5 หน่วยงานของจีน ประกาศบรรเทาภาระของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ รอบที่ 3 เพื่อลดภาระของบุคลากรวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ในเรื่องโอกาสในการพัฒนาวิชาชีพ การประเมินที่มากเกินไป ขาดเงินทุนในการทำวิจัย และภาระการทำธุรกรรม เพื่อเป็นกำลังใจแก่นักวิทยาศาสตร์ในการสร้างสรรค์ผลงานอันมีคุณค่า ทั้งนี้ ในปี ค.ศ. 2021 รัฐบาลได้สนับสนุนทีมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี จำนวนมากกว่า 300 ทีม โดยส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้นำในการดำเนินโครงการวิจัยขั้นพื้นฐาน
4. จีนพบ ‘ดาวเคราะห์น้อย’ ใกล้โลก 2 ดวงใหม่
10 ส.ค. 65 – หอดูดาวจื่อจินซาน หรือหอดูดาวภูเขาสีม่วง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เปิดเผยการค้นพบดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกจำนวน 2 ดวง รหัส 2022 OS1 และ 2022 ON1 ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกด้วยกล้องโทรทรรศน์สำรวจวัตถุใกล้โลกของหอดูดาวแห่งนี้ เมื่อวันที่ 23-24 ก.ค. 65 ตามลำดับ ดาวเคราะห์น้อย 2 ดวงใหม่นี้ อยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์น้อยอามอร์ (Amor) มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 230 เมตร และ 45 เมตร ตามลำดับ มีวงโคจรที่ต่ำกว่า 1.3 หน่วยดาราศาสตร์ของระยะห่างจากดวงอาทิตย์ และมีโอกาสที่จะเข้าใกล้โลก ทั้งนี้การค้นพบดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้มนุษย์เข้าใจสภาพแวดล้อมที่อยู่บนโลกได้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถป้องกันความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
5. วท. จีน ประกาศโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
11 ส.ค. 65 – กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน ร่วมกับมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติธรรมชาติของจีน และกระทรวงการคลัง ประกาศกลไกการวางแผนและการจัดการโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สร้างระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปรับปรุง การดำเนินการตามแผนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรและกำกับดูแลการระดมทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วางระบบพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมอย่างรอบด้าน เร่งการพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นอิสระ และส่งเสริมการลงทุนในโครงการวิจัยพัฒนา นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้เปิดตัวโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งชาติ และโครงการวิจัยเทคโนโลยีอื่น ๆ จำนวนมาก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่มีคุณภาพสูงรอบด้าน