1. จีนพัฒนาฟิล์มคลุมหญ้าที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
1 ส.ค. 65 – สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรเจียงซู (Jiangsu Academy of Agricultural Sciences: JAAS) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาฟิล์มคลุมหญ้าควบคุมวัชพืช ทำจากวัสดุฟางข้าวและวัสดุพอลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ช่วยเพิ่มอุณหภูมิของดินรักษาความชื้นในดิน รักษาโครงสร้างดิน ป้องกันศัตรูพืชและโรคที่เกิดจากจุลินทรีย์บางชนิด โดยเกษตรกรเมืองฉางโจว มณฑลเจียงซู ได้ปลูกเผือกแดงกว่า 5,000 ไร่ รวมถึงมะเขือเทศ กระเทียม และมันเทศ ด้วยฟิล์มชนิดใหม่นี้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ฟิล์มนี้ในการปลูกมันฝรั่งในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย และแตงฮามี่ในมณฑลไห่หนาน ความสำเร็จจากการพัฒนาฟิล์มคลุมหญ้านี้ มีส่วนสนับสนุนความแข็งแกร่งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาทางการเกษตร และการสร้างชนบทที่สวยงาม
2. ระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่ว (Beidou) ของจีน
1 ส.ค. 65 – ระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโตว 3 (Beidou-3) ซึ่งมีดาวเทียมบริการในวงโคจรทั้งหมด 45 ดวง มีบทบาทกับชีวิตคนจีนอย่างมาก ด้วยความสามารถในการเข้าถึงตำแหน่งอย่างแม่นยำ ช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องการเดินทาง การประมง การเฝ้าสังเกตอุทกวิทยา การพยากรณ์อากาศ การสำรวจและการทำแผนที่ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ การป้องกันไฟป่า การจ่ายกระแสไฟฟ้า การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การค้นหาและกู้ภัยฉุกเฉิน นอกจากนี้ ดาวเทียมเป๋ยโต่วได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้แก่จีน โดยปี ค.ศ. 2021 มูลค่าอุตสาหกรรมของดาวเทียมนำทางในประเทศจีนสูงถึง 469,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นประมาณ 16.29% เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2020
3. ’Museum Night 2022’
3 ส.ค. 65 – พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติปักกิ่งจัดงาน ‘Museum Night’ ปี ค.ศ. 2022 ระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคม 2565 โดยเริ่มเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เวลา 19:00 น. ของทุกคืน ภายในงานประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมพาสปอร์ต (Museum Passport) กิจกรรมเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญและเหล่าดาราศิลปิน นิทรรศการเพื่อการศึกษา และ ‘Museum Night Talk – นี่คือปักกิ่ง’ โดยมีการถ่ายทอดสดรายการ Museum Night Talk ผ่านทางออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Tiktok ด้วย
4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของจีน
3 ส.ค. 65 – ด้วยตระหนักว่า เทคโนโลยีแกนหลักมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการพึ่งพาตนเองทางนวัตกรรม จีนจึงดำเนินการทบทวนและวางแผนกลยุทธ์ในการส่งเสริมการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รอบด้าน ประกอบด้วย 1.เร่งพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ด้วยการเสริมสร้างนวัตกรรมด้วยตนเอง 2. มุ่งพัฒนาการวิจัยขั้นพื้นฐาน 3. เร่งรัดการบ่มเพาะบุคลากรที่มีทักษะความสามารถสูงของทุกภาคส่วน 4. ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งการพัฒนาผ่านการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยภายในปี ค.ศ. 2030 จีนตั้งเป้าหมายจัดตั้งทีม ‘บุคลากรทักษะสูง’ เฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ จำนวนทั้งสิ้น 50,000 คน
5. จีนทดลองเครื่องปฏิกรณ์ระบายความร้อนด้วยก็าซอุณหภูมิสูง
3 ส.ค. 65 – โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในเมืองหรงเฉิง มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและทดสอบเครื่องปฏิกรณ์ระบายความร้อนด้วยก็าซอุณหภูมิสูง (High-Temperature Gas-Cooled Reactors) โรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานฟิวชั่นแห่งแรกของโลกในเชิงพาณิชย์ที่มีการใช้เทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์รุ่นที่ 4 และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แรกที่ได้รับการอนุมัติใน “แผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 12” ของจีน ด้วยเงินลงทุนรวม 3 พันล้านหยวน ได้รับการพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยชิงหวา ร่วมกับบริษัทนิวเคลียร์แห่งชาติจีน (China National Nuclear Corp: CNNC) บริษัท China Huaneng Group Co., Ltd. และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมานานเกือบ 20 ปี ความสำเร็จดังกล่าวเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของจีน ส่งผลให้จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์รุ่นที่ 4 ของโลก
- http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-08/02/content_539453.htm?div=-1
- https://news.cctv.com/2022/08/01/ARTIczn8lKHR6oecVwYJte7y220801.shtml?spm=C94212.PGZDd8bkBJCZ.E850fz1ryIUd.27
- http://cul.china.com.cn/2022-08/03/content_42057629.htm
- http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-08/03/content_539529.htm?div=-1
- https://www.zghy.org.cn/item/575305580822876160