Science Technology Innovation Weekly No.18/2565

1. ดาวเทียมจีนส่งข้อมูลด้วยควอนตัมได้ไกล 1,200 กม.

6 พ.ค. 65 – ทีมวิจัยนำโดย ศ.พาน เจี้ยนเว่ย แห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน ประสบความสำเร็จในการใช้ดาวเทียมสื่อสารควอนตัม “Micius” หรือ “Mozi” ทดลองการเข้ารหัสเชิงควอนตัม (Quantum Key Distribution: QKD) ระหว่างสถานีรับส่งสัญญาณบนโลกสองแห่ง คือ สถานีลี่เจียง มณฑลยูนนาน และสถานีภาคพื้นดินเต๋อลิ่งฮา เขตปกครองตนเองทิเบต ระยะห่าง 1,200 กิโลเมตร โดยสามารถเข้าและถอดรหัสข้อมูลได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ไร้การรบกวนจากแฮกเกอร์ ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายการประมวลผลข้อมูลควอนตัมทั่วโลก ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นวิธีการสื่อสารข้อมูลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงในอนาคต ผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ “Physical Review Letters”

2. ยานบรรทุกสัมภาระ ‘เทียนโจว-4’ เทียบท่าสถานีอวกาศแล้ว

11 พ.ค. 65 – สำนักงานวิศวกรรมอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีน (China Manned Space Engineering Office: CMSEO) รายงานว่า ยานอวกาศบรรทุกสินค้า ‘เทียนโจว-4’ ได้เชื่อมต่อกับโมดูลหลักของสถานีอวกาศ “เทียนเหอ” เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 65 เทียนโจว-4 มีความหมายว่า เรือสวรรค์ ได้บรรทุกอุปกรณ์ทดลอง วัสดุตัวอย่าง ชิ้นส่วนอะไหล่ อาหาร และเชื้อเพลิง ฯลฯ เพื่อเป็นเสบียงและเป็นห้องปฏิบัติการสำหรับนักบินอวกาศชุดใหม่ของยานอวกาศเซินโจว-14 ที่เตรียมจะขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศเทียนกงเป็นเวลา 6 เดือน ในเดือนมิถุนายนของปีนี้

3. นักวิทย์จีนค้นพบยีนพันธุ์ข้าวมีความต้านทานต่อภาวะโลกร้อน

6 พ.ค. 65 – ทีมวิจัยจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การเกษตรเจียงซี (Jiangxi Academy of Agricultural Sciences) ค้นพบยีนที่จะใช้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ทนต่ออุณหภูมิสูง ยีนนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เพื่อคัดเลือกและขยายพันธุ์พืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตของพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพตามความต้องการตลาด และมีความต้านทานต่อภาวะโลกร้อน

4. นักเรียนเมืองฮูเหอเฮ่าเท่อเรียนรู้เรื่องแผ่นดินไหวในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

12 พ.ค. 65 – นักเรียนโรงเรียนประถมในเมืองฮูเหอเฮ่าเท่อ เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางตอนเหนือของจีน เรียนรู้โครงสร้างของอาคารต้านทานแผ่นดินไหวผ่านอุปกรณ์สาธิต การจัดแสดงนิทรรศการ มัลติมีเดีย ฉากเสมือนจริง ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และได้เรียนรู้สาเหตุการเกิดแผ่นดินไหว ความรู้เบื้องต้นในการป้องกันแผ่นดินไหวและทักษะการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น เพื่อเตรียมพร้อมในการป้องกันและสร้างความปลอดภัย ภายใต้แนวทางของแผนการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ ครั้งที่ 14

5. เปิดภาพ “หลุมดำมวลยิ่งยวด” ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก

13 พ.ค. 65 – หอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เปิดภาพแรกของหลุมดำมวลยิ่งยวด ณ ใจกลางทางช้างเผือก โดยใช้เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Event Horizon Telescope (EHT) นับเป็นครั้งแรกที่สามารถบันทึกภาพหลุมดำฯ ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก ที่เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันการมีอยู่ของหลุมดำฯ การค้นพบครั้งนี้ ทำให้นักดาราศาสตร์เข้าใจเกี่ยวกับหลุมดำฯ มากขึ้น และพิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์

  • http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-05/09/content_534799.htm?div=-1
  • https://www.zghy.org.cn/item/544855921507926016
  • http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-05/09/content_534801.htm?div=-1
  • https://www.zghy.org.cn/item/545219740491022336
  • http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-05/13/content_535129.htm?div=-1

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]