การประชุมสองสภาเสนอแนวทางการพัฒนาอาชีวศึกษา 4 ด้าน
ปัจจุบันอาชีวศึกษาได้รับความสนใจและได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น โดยมีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ และเป็นประเด็นร้อนในช่วงการ “ประชุมสองสภาจีน” ในปีนี้ (2022) ในที่ประชุมสองสภาฯ มีการพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนาอาชีวศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในสายวิชาชีพที่จำเป็นต่อตลาดแรงงาน
เมื่อเดือนเมษายนปี ค.ศ. 2021 นายสี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนและประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางได้ออกคำสั่งที่สำคัญเกี่ยวกับอาชีวศึกษา โดยกำหนดให้มีการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษาที่เปิดสอนถึงระดับปริญญาตรีอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างหลักสูตรและสถาบันการอาชีวศึกษาชั้นนำ ตามความคิดเห็นของสำนักงานทั่วไปของคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสำนักงานกลางของคณะมนตรีรัฐกิจว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของการอาชีวศึกษาสมัยใหม่ ระบุว่า
“เป้าหมายในปี ค.ศ. 2025 อัตราการลงทะเบียนของนักศึกษาอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรีจะต้องไม่น้อยกว่า 10% ของนักศึกษาอาชีวศึกษาระดับสูง”
ความท้าทายที่พบในปัจจุบัน คือ ปัญหาและข้อบกพร่องของระบบการประกันคุณภาพวิทยาลัยอาชีวศึกษา ประการแรก คือ โรงเรียนอาชีวศึกษาหรือสถาบันการอาชีวศึกษามีจำนวนน้อยและมีขนาดค่อนข้างเล็ก ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ประการที่สอง คือ สถาบันการอาชีวศึกษาของเอกชนที่เปิดการสอนถึงระดับปริญญาตรี บางแห่งยังมีข้อบกพร่องของบริหารจัดการ เช่น อัตราส่วนของครูผู้สอนที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน นักศึกษา
การพัฒนาอาชีวศึกษา จำเป็นต้องเป็นไปตามทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และคำนึงถึงความจำเป็นในการเตรียมบุคลากรด้านเทคนิคและทักษะอาชีพรอบด้าน เพื่อการวางแผนกำลังคนให้เหมาะสมกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยระบบอาชีวศึกษา จะต้องได้รับการออกแบบและพัฒนาอย่างเป็นระบบ เพื่อขับเคลื่อนประเทศเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ศาสตราจารย์หาน ลู่เจีย สมาชิกคณะกรรมการแห่งชาติแห่งสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน ได้เสนอแนวทางการพัฒนา 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. ยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาสถาบันการอาชีวศึกษา
ให้ความสำคัญกับแนวทางการปรับปรุงสถาบันการอาชีวศึกษาที่เปิดสอนถึงระดับปริญญาตรีทั้งหมดจำนวน 32 แห่งที่เปิดสอนในปัจจุบัน โดยมอบหมายให้ฝ่ายบริหารการศึกษาระดับมณฑลเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการปฎิรูปอาชีวะอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานด้านอาชีวศึกษาและยกระดับคุณภาพสถานศึกษาอาชีวศึกษา
2. สร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการอาชีวศึกษา
พิจารณาถึงภาพรวมแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่สำคัญ รวมถึงรากฐานของอุตสาหกรรมและบริการ และพื้นฐานการศึกษา ในการส่งเสริมสถาบันการอาชีวศึกษา โดยการขยายพื้นที่และเพิ่มหลักสูตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนฉบับที่ 14 ได้ดำเนินการสนันสนุนนโยบาย “หลักสูตรและสถาบันการอาชีวศึกษาชั้นนำขึ้น” จำนวน 187 แห่ง โดยให้ความสำคัญกับสถาบันการอาชีวศึกษาชั้นนำ 50 แห่ง เช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิคเซินเจิ้น (Shenzhen Polytechnic: SZPT) ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นแหล่งการพัฒนาอาชีวศึกษา มุ่งยกระดับและขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยี โดยปรับสถาบันการศึกษาให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานและพัฒนาจุดแข็งหรือข้อได้เปรียบที่แตกต่างจากสถาบันอื่น ๆ เพื่อให้มีความโดดเด่น
3. มุ่งพัฒนาและส่งเสริมให้สถาบันการอาชีวศึกษาผลิตบุคลากรด้านเทคนิคให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะมนตรีรัฐกิจ ได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติมานานกว่า 6 ปี เพื่อผลักดันให้สถาบันการอาชีวศึกษาจำนวนมากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ พัฒนาหลักสูตรที่มุ่งพัฒนากำลังคน เพื่อตอบสนองกับความต้องการของอุตสาหกรรม และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาสถาบันการอาชีวศึกษาที่เน้นการฝึกปฏิบัติงานและทักษะอาชีพ ส่งเสริมการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่าง มีประสิทธิภาพ และการดำเนินการตามรูปแบบการศึกษาที่เน้นการพัฒนาร่วมกันระหว่างสถาบันการอาชีวศึกษากับองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อน และส่งเสริมการบริหารจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องได้รับการสนับสนุนและพัฒนาให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการนำเสนอรูปแบบการให้บริการของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ฝึกอบรมบุคลากรด้านเทคนิคให้มีประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างมืออาชีพ สามารถปรับตัวในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ เช่น การผลิตขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ การเกษตรสมัยใหม่
4. เร่งปฏิรูประบบการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษาของสถาบันการอาชีวศึกษา
ผลักดัน “กฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษา” เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีพัฒนาหรือปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของสถาบันการอาชีวศึกษา จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เร่งปรับปรุงระบบการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษา การรับรองสมรรถนะและประสิทธิภาพในการเรียนการสอน และการรับรองการฝึกงานและฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการ ฯลฯ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับรายละเอียดของหลักสูตรที่ฝึกอบรม รวมไปถึงการให้บริการแนะแนวการศึกษาต่อและการสร้างภาพลักษณ์ให้โดดเด่น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของเป็นกลุ่มเป้าหมาย
ที่มา : วารสาร “วิทย์ไมตรีไทย-จีน” ฉบับเดือนมีนาคม 2565 “ระบบการศึกษาและแผนพัฒนาอาชีวะศึกษาของจีน”