• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ติดสปีดงานตรวจปล่อย ‘สินค้าเทกอง’ ด้วยระบบอัจฉริยะที่กว่างซี – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ติดสปีดงานตรวจปล่อย ‘สินค้าเทกอง’ ด้วยระบบอัจฉริยะที่กว่างซี – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

 

ไฮไลท์

  • ศุลกากรท่าเรือฝางเฉิงก่างของกว่างซีได้ดำเนินการปฏิรูประบบการตรวจปล่อยสินค้าเทกองด้วยแพลตฟอร์มอัจฉริยะมาใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพงานตรวจปล่อยสินค้าให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดภาระการปฏิบัติงานด้วยแรงงานคน รวมถึงป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากข้อพิพาททางการค้า (การปลอมปน การขาดหายของน้ำหนักสินค้า และสินค้าผิดสเปก) โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถติดตามและควบคุมการทำงานด้านการตรวจสอบสินค้าได้ตลอดกระบวนการผ่านหน้าจอแบบ real time ในห้องควบคุมระยะไกล
  • เทคโนโลยีการตรวจปล่อยสินค้าเทกองแบบอัตโนมัติของท่าเรือฝางเฉิงก่าง เป็นต้นแบบการเรียนรู้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยในการนำไปพัฒนาหรือต่อยอดการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกของไทย
  • สำหรับผู้ประกอบการไทย ‘ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี’ ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ ทั้งนี้ หากพิจารณาในเชิงกายภาพ การขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศไทยและกว่างซีมีระยะทางสั้น ขณะที่ในเชิงนโยบาย หน่วยงานภาครัฐก็พยายามพัฒนาและยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วในการนำเข้า-ส่งออก และกระจายสินค้า อีกทั้ง ท่าเรือแต่ละแห่งยังมีฟังก์ชันในการนำเข้าสินค้ากลุ่มพิเศษที่ต้องได้รับการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ อาทิ ผลไม้ เนื้อสัตว์ ข้าวเปลือก

 

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับคำว่า สินค้าโภคภัณฑ์กันก่อน สินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodity Goods คือ สินค้าที่มีมาตรฐานเดียวกันทั้งโลก มีความสำคัญและมักจะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าและบริการอื่นๆ อาทิ น้ำมันดิบ ทองคำ ถ่านหิน ทองแดง น้ำตาล ข้าวโพด ถั่วเหลือง ยางพารา ทั้งนี้ ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์จะมีราคาไม่ต่างกันไม่ว่าจะมาจากที่ใด และถูกกำหนดด้วยอุปสงค์-อุปทานของตลาดโลก ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก

‘ท่าเรือฝางเฉิงก่าง’ เป็นหนึ่งในท่าเรือน้ำลึกที่ตั้งอยู่ในอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (คนไทยรู้จักในชื่อ ‘อ่าวตังเกี๋ย’) ตั้งอยู่ในเมืองฝางเฉิงก่างของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือหลักที่ใช้เพื่อการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะสินแร่ประเภทต่างๆ อาทิ เหล็ก ทองแดง และถ่านหิน

กล่าวได้ว่า ‘ท่าเรือฝางเฉิงก่าง’ เป็นของขวัญล้ำค่าที่ธรรมชาติมอบให้กับเมืองฝางเฉิงก่าง ทำให้เมืองแห่งนี้มีบทบาทสำคัญในด้านการค้าต่างประเทศ จากข้อมูลปี 2564 เมืองฝางเฉิงก่างมีมูลค่าการค้าต่างประเทศสูงเป็นอันดับที่ 3 ของมณฑล (รองจากเมืองฉงจั่ว และนครหนานหนิง) คิดเป็นมูลค่า 88,556 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 25.0% (YoY) แบ่งเป็นการนำเข้า 80,760 ล้านหยวน (+73.1%) และการส่งออก 7,796 ล้านหยวน (-67.8%)

โครงสร้างการค้าต่างประเทศที่การนำเข้าครองสัดส่วนสูงถึง 91.2% ของการค้าต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่นำเข้าในลักษณะสินค้าเทกอง (bulk cargo) อย่างพวกสินแร่เหล็ก สะท้อนให้เห็นว่า ‘ท่าเรือฝางเฉิงก่าง’ ต้องรับบทหนักในงานตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก

เดิมที การตรวจปล่อยสินค้าที่นำเข้าในลักษณะสินค้าเทกอง ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรแรงงานและค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก และยังต้องขึ้นกับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อีก อาทิ สภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม และตัวบุคคล เพื่อลดภาระการปฏิบัติงานด้วยแรงงานคน ยกระดับประสิทธิภาพงานตรวจปล่อยสินค้าให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากข้อพิพาททางการค้า (การปลอมปน การขาดหายของน้ำหนักสินค้า และสินค้าผิดสเปก) ศุลกากรท่าเรือฝางเฉิงก่างได้ดำเนินการปฏิรูประบบการตรวจปล่อยสินค้าเทกองด้วยแพลตฟอร์มอัจฉริยะ ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่ผสมผสานกันระหว่าง 5G บิ๊กดาต้า หุ่นยนต์ และคลาวด์คอมพิวติง

“แพลตฟอร์มการตรวจสอบอัจฉริยะแบบเบ็ดเสร็จ” เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมและแสดงข้อมูล จำแนกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ ข้อมูลเรือสินค้า ข้อมูลการเก็บตัวอย่างอัตโนมัติ ข้อมูลการตรวจวัดค่ารังสี ข้อมูลการคัดแยกสิ่งปะปน ข้อมูลการชั่งน้ำหนักแบบสายพานลำเลียง และวิดิโอภาพบันทึกการตรวจปล่อยสินค้า  โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถติดตามและควบคุมการทำงานด้านการตรวจสอบสินค้าได้ตลอดกระบวนการผ่านหน้าจอแบบ real time ในห้องควบคุมระยะไกล

ระบบการทำงานอัจฉริยะนี้ครอบคลุมถึงการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าแบบอัตโนมัติเพื่อตรวจสอบคุณภาพ ขนาดสินแร่ และปริมาณน้ำ (ส่วนใหญ่สินแร่จะมีการฉีดพ่นน้ำเพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง การระเหยของน้ำอาจส่งผลต่อน้ำหนักสินค้าที่ออกจากท่าเรือต้นทางกับน้ำหนักที่มาถึงท่าเรือปลายทาง) การชั่งน้ำหนักและตรวจวัดปริมาณรังสีของสินค้าบนสายผ่านลำเลียง การคัดแยกสิ่งปะปนอื่นที่เป็นของแข็งได้อย่างรวดเร็ว การวัดน้ำหนักสินค้าได้อย่างแม่นยำ และยังมีหุ่นยนต์ที่คอยวิ่งตรวจสอบสินค้าในลานสินค้า โดยค่าดัชนีที่ตรวจวัดได้ทั้งหมดจะถูกส่งไปประมวลผลแบบเบ็ดเสร็จบนแพลตฟอร์มอัจฉริยะของศุลกากร และแจ้งเตือนกรณีสินค้ามีปัญหา

นายเซ่ อวิ้นเฉียง (Xie Yunqiang) รองหัวหน้าฝ่ายงานท่าเรือ บริษัท Guangxi Steel Group (广西钢铁集团有限公司) ให้ข้อมูลว่า การปฏิรูประบบงานตรวจปล่อยสินค้าในครั้งนี้ ช่วยป้องกันปัญหาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากคน หรือ human error ช่วยให้การตรวจปล่อยสินค้าก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องสภาพอากาศ และช่วยร่นเวลาในการตรวจปล่อยสินค้าให้เร็วขึ้นเฉลี่ย 4 วัน และคาดว่า ในแต่ละปีจะประหยัดต้นทุนประกอบการลงได้มากกว่า 95 ล้านหยวน

บีไอซี เห็นว่า เทคโนโลยีการตรวจปล่อยสินค้าเทกองแบบอัตโนมัติของท่าเรือฝางเฉิงก่างเป็นต้นแบบการเรียนรู้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยในการนำไปพัฒนาหรือต่อยอดการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกของไทย

สำหรับผู้ประกอบการไทย ‘ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี’ ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ ทั้งนี้ หากพิจารณาในเชิงกายภาพ การขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศไทยและกว่างซีมีระยะทางสั้น ขณะที่ในเชิงนโยบาย หน่วยงานภาครัฐก็พยายามพัฒนาและยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วในการนำเข้า-ส่งออก และกระจายสินค้า อีกทั้ง ท่าเรือแต่ละแห่งยังมีฟังก์ชันในการนำเข้าสินค้ากลุ่มพิเศษที่ต้องได้รับการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ อาทิ ผลไม้ เนื้อสัตว์ ข้าวเปลือก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาและใช้ประโยชน์จากท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีในการทำการค้ากับประเทศจีน (โดยเฉพาะจีนตะวันตก) โดยรัฐบาลกว่างซีได้แบ่งหน้าที่ของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ ท่าเรือชินโจวเป็นท่าเรือศูนย์กลางสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ ท่าเรือฝางเฉิงก่างและท่าเรือเป๋ยไห่เป็นท่าเรือสำหรับสินค้าเทกอง (Bulk) โดยทั่วไปแล้ว เรือสินค้าจากต่างประเทศจะเข้ามาที่ท่าเรือชินโจวก่อนกระจายไปยังสองท่าเรือนี้

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา
 เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新社广西) วันที่ 11 มีนาคม 2565

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]