Science Technology Innovation Weekly No.10/2565

1. นโยบาย “ลดสองเท่า” ลด “การบ้าน-เรียนพิเศษ”

14 มี.ค. 65 – นโยบาย “ลดสองเท่า” หรือลด “การบ้าน-เรียนพิเศษ” ที่ได้ใช้มานานกว่า 7 เดือน ช่วยลดปริมาณและจำนวนชั่วโมงที่นักเรียนต้องทำการบ้านและการเรียนพิเศษในสถาบันกวดวิชา “ลดสองเท่า” คือ แบ่งเวลาเรียนอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ และสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ดี โดยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองจำนวน 511,043 คน ร้อยละ 86.8 เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว หลังจากที่จีนออกกฎหมายควบคุมที่เข้มงวดสำหรับการสอนพิเศษ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 65 กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า โรงเรียนกวดวิชาลดลงจากเดิม 124,000 แห่ง เหลือเพียง 9,728 แห่ง และโรงเรียนกวดวิชาออนไลน์เดิมมี 263 แห่ง ลดลงเหลือ 34 แห่ง

2. นักวิทยาศาสตร์จีนค้นพบยีน PpTST1 ควบคุมรสชาติของลูกท้อ

15 มี.ค. 65 – นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศจีนระบุยีน PpTST1 มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการสะสมน้ำตาลในลูกท้อและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสะสมของกรดอินทรีย์ ซึ่งยีน PpTST1 เป็นตัวควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมที่สำคัญ ที่จะทำให้ได้พันธุ์ลูกท้อที่มีคุณภาพ โดยผลงานดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Horticultural Research ซึ่งความก้าวหน้าครั้งนี้ มีบทบาทสำคัญต่อการวิจัยคุณภาพของผลไม้และการปรับปรุงพันธุ์โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุล

3. นักวิทยาศาสตร์จีน รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นจากองค์การยูเนสโก

15 มี.ค. 65 – ศ.หลี่หลันจวน (Li Lanjuan) นักวิทยาศาสตร์ชาวจีน ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นระดับนานาชาติทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์จากองค์การยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ศ.หลี่หลันจวน เป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการหลักของรัฐสำหรับการวินิจฉัยและการรักษาโรคติดเชื้อ ณ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของจีน เป็นผู้เชี่ยวชาญคนแรกที่เสนอให้ล็อกดาวน์อู่ฮั่น เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 เป็นผู้ค้นพบการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 มากกว่า 30 สายพันธุ์ และเป็นคนแรกที่เปิดเผยวิธีการแพร่เชื้อของไวรัสกลไกระดับโมเลกุลและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

4. 7 หน่วยงานร่วมตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

16 มี.ค. 65 – สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (CAST) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐของสภาแห่งรัฐ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) สถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีน (CASS) และสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันราชอาณาจักร ร่วมมือจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง ด้วยการส่งเสริมงานด้านวิทยาศาสตร์ฯ มุ่งบ่มเพาะจิตวิญญาณของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ในระดับชาติ

5. จีนส่งดาวเทียมสำรวจระยะไกลดวงใหม่ ขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ

18 มี.ค. 65 – เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 ตามเวลาปักกิ่ง จีนส่งดาวเทียมสำรวจระยะไกลหมายเลข34-02 โดยจรวดขนส่งลองมาร์ช-4ซี (Long March 4C) ณ ศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วเฉวียน เข้าสู่วงโคจรที่กำหนดไว้ได้สำเร็จ ดาวเทียมนี้ ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท China Aerospace Science and Technology Corporation เพื่อใช้ในการสำรวจอวกาศและทดสอบเทคโนโลยีใหม่ในการให้บริการข้อมูลต่างๆ เช่น การสำรวจ สำมะโนที่ดิน การวางผังเมือง การคาดประมาณผลผลิตทางด้านการเกษตร จากการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม รวมไปถึงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น

ที่มา

  • https://news.cctv.com/2022/03/14/ARTIPJq5FzpMoxgm8BzJNWzu220314.shtml?spm=C94212.P2Zgu9C2lQBU.EdmaNB4aadRE.4
  • https://tech.gmw.cn/2022-03/15/content_35586693.htm
  • https://m.thepaper.cn/baijiahao_17139217
  • http://www.stdaily.com/index/kejixinwen/202203/c92451fdf212416f8ded4da94234dc8f.shtml
  • http://digitalpaper.stdaily.com/http_www.kjrb.com/kjrb/html/2022-03/18/content_532331.htm?div=-1
อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]