• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กว่างซีจับมือมณฑลส่านซีดันนโยบาย ‘คืนภาษี’ สินค้าส่งออกที่ท่าต้นทาง เสริมสภาพคล่องการเงินให้ภาคธุรกิจ – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

กว่างซีจับมือมณฑลส่านซีดันนโยบาย ‘คืนภาษี’ สินค้าส่งออกที่ท่าต้นทาง เสริมสภาพคล่องการเงินให้ภาคธุรกิจ – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • ปรากฎการณ์ใหม่ของนโยบายการคืนภาษีสินค้าส่งออกของประเทศจีน เมื่อรัฐบาลจีนเห็นชอบให้ผู้ส่งออกที่มีคุณสมบัติพร้อม สามารถยื่นขอคืนภาษีสินค้าส่งออกได้ทันทีที่ท่าต้นทาง (port of loading) หลังจากดำเนินพิธีการศุลกากรขาออกที่สถานีรถไฟขนส่งสินค้าในนครซีอาน มณฑลส่านซี ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับภาคธุรกิจได้มากพอสมควร (เดิมที การยื่นขอคืนภาษีสินค้าส่งออกต้องดำเนินการที่ท่าเรือสินค้าออก หรือ port of departure)
  • นโยบายดังกล่าวจะช่วยดึงดูดใจให้ภาคธุรกิจส่งออกในภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศจีนหันมาใช้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในการทำการค้ากับต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่ช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าให้กับยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” หรือที่เรียกสั้นๆว่า ILSTC (New International Land and Sea Trade Corridor) อีกด้วย
  • ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของระบบงานขนส่งทางรางระหว่างจีนตะวันตกกับต่างประเทศ ปี 2564 ท่าเรือเที่ยซานเป๋ยไห่เปิดให้รถไฟลำเลียงสินค้าวิ่งเข้าสู่ท่าเรือได้แล้ว และกำลังเตรียมการก่อสร้างรางเฉพาะสำหรับขนถ่ายและขนส่งตู้สินค้าในลานตู้คอนเทนเนอร์ฟานโจวในท่าเรือเที่ยซาน / ท่าเรือชินโจวกำลังเร่งปรับจูนระบบปฏิบัติการในท่าเทียบเรืออัจฉริยะกับรถไฟ / ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ได้ก่อสร้างรางรถไฟเพิ่มอีก 2 เส้น และได้เริ่มใช้งานลานจัดขบวนรถไฟแห่งที่ 2 แล้ว ทำให้กำลังการขนถ่ายสินค้าได้เฉลี่ยวันละ 3,500 คัน
  • ในฤดูผลไม้ที่กำลังจะมาถึงในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ผู้ประกอบการสามารถพิจารณาเลือกใช้ ‘ท่าเรือชินโจว’ เพื่อการขนส่งผลไม้ไปจีน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรแออัดที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่บริเวณนอกด่านทางบกโหย่วอี้กวาน (จังหวัด Langson ของเวียดนาม) ทำให้รถบรรทุกผลไม้ต้องรอคิวผ่านด่านเป็นเวลานาน ส่งผลต่อความสดใหม่หรือทำให้ผลไม้เน่าเสียได้ง่าย

 

เมื่อไม่นานมานี้ ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ‘อ่าวตังเกี๋ย’ ได้เริ่มต้นนโยบายการเป็นจุดทดลองการคืนภาษีสินค้าส่งออกให้กับท่าเรือต้นทางที่เป็นท่าเรือบก (dry port) เป็นที่แรกของประเทศจีน ซึ่งเดิมทีนโยบายดังกล่าวใช้กับท่าเรือต้นทางที่เป็นท่าเรือทางน้ำ(แม่น้ำ ทะเล) ตามประกาศของกระทรวงการคลัง สำนักงานศุลกากรแห่งชาติ และสำนักงานกิจการภาษีแห่งชาติจีน

นับเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของนโยบายการคืนภาษีสินค้าส่งออกของประเทศจีน เมื่อรัฐบาลจีนเห็ชอบให้ผู้ส่งออกที่มีคุณสมบัติพร้อม สามารถยื่นขอคืนภาษีสินค้าส่งออกได้ทันทีหลังจากดำเนินพิธีการศุลกากรขาออกที่สถานีรถไฟในเขต Xi’an International Trade & Logistics Park (西安国际港务区) ในนครซีอาน มณฑลส่านซี ซึ่งเป็นท่าเรือต้นทาง (port of loading) ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับภาคธุรกิจได้มากพอสมควร

เดิมที การยื่นขอคืนภาษีสินค้าส่งออกต้องดำเนินการที่ท่าเรือสินค้าออก หรือ port of departure หากไม่มีนโยบายดังกล่าว สินค้าส่งออกจากนครซีอานที่จะไปขึ้นเรือที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี จะสามารถยื่นขอคืนภาษีสินค้าส่งออกได้ก็ต่อเมื่อตู้สินค้าได้ดำเนินพิธีการส่งออกที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซีแล้ว

หลายฝ่ายเชื่อว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยดึงดูดใจให้ภาคธุรกิจส่งออกในภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศจีนหันมาใช้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในการทำการค้ากับต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่ช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าให้กับยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” หรือที่เรียกสั้นๆว่า ILSTC (New International Land and Sea Trade Corridor) อีกด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัท Beibu Gulf Port Group กับสายเรือ SITC ยังได้ร่วมมือกันพัฒนาโมเดลการขนส่งสินค้า “เรือ+ราง” ในเส้นทาง “อาเซียน – ท่าเรือชินโจว (กว่างซี) – นครซีอาน (มณฑลส่านซี)”  โดยเที่ยวเรือจากอาเซียน-ท่าเรือชินโจวมีสัปดาห์ละ 7 เที่ยว ใช้เวลาสั้นสุดเพียงครึ่งวัน และเที่ยวรถไฟจากท่าเรือชินโจว-นครซีอาน ใช้เวลาเพียง 5 วัน เป็นเส้นทางขนส่ง (ทางเลือกใหม่) ที่ใช้เวลาสั้น สะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนต่ำ

บีไอซี เห็นว่า  ‘ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้’ ซึ่งประกอบด้วยท่าเรือชินโจว (ท่าเรือหลัก) ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกและนำเข้าสินค้ากับประเทศจีน โดยมีมณฑลตอนในของจีนเป็นตลาดเป้าหมายหลัก

ปัจจุบัน เทรนด์การ Go west ของภาคธุรกิจจีนและต่างประเทศ ทั้งเพื่อไปจัดตั้งกิจการใหม่หรือขยายกิจการเพิ่มในพื้นที่ภาคตะวันตกของจีนมีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้น รัฐบาลกลางให้น้ำหนักกับการพัฒนาของเมืองต่างๆ ในภาคตะวันตกผ่านนโยบายพิเศษต่างๆ เป็นจำนวนมาก รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงกันทั้งในและต่างประเทศแบบไร้รอยต่อ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ โดยเฉพาะรถไฟขนส่งสินค้า (มีต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพการลำเลียงสินค้าได้จำนวนมาก มีความปลอดภัย และสามารถควบคุมเวลาได้ดีกว่ารถบรรทุก)

จุดเชื่อมต่อสำคัญของระบบงานขนส่งทางรางระหว่างจีนตะวันตกกับต่างประเทศ ก็คือ ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี โดยปี 2564 ท่าเรือเที่ยซาน เมืองเป๋ยไห่ สามารถเปิดให้รถไฟลำเลียงสินค้าวิ่งเข้าสู่ท่าเรือได้แล้ว และกำลังเตรียมการก่อสร้างรางเฉพาะสำหรับขนถ่ายและขนส่งตู้สินค้าในลานตู้คอนเทนเนอร์ฟานโจวในท่าเรือเที่ยซาน / ท่าเรือชินโจวกำลังเร่งปรับจูนระบบปฏิบัติการในท่าเทียบเรืออัจฉริยะกับรถไฟ / ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ได้ก่อสร้างรางรถไฟเพิ่มอีก 2 เส้นในเขตท่าเรือ และได้เริ่มใช้งานลานจัดขบวนรถไฟแห่งที่ 2 แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ท่าเรือมีกำลังในการขนถ่ายได้เฉลี่ยวันละ 3,500 คัน

ปี 2564 จึงนับเป็น ‘ปีทอง’ ของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี ทำให้กลุ่มท่าเรือนี้ก้าวขึ้นไปติด Top10 ท่าเรือชั้นนำของประเทศจีน โดยปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 6.01 ล้าน TEUs อันดับที่ 8 ของท่าเรือทะเลในประเทศจีน และอันดับที่ 28 ของท่าเรือชั้นนำทั่วโลก และปริมาณการขนถ่ายสินค้า 360 ล้านตัน อันดับที่ 9 ของท่าเรือทะเลในประเทศจีน และอันดับที่ 19 ของท่าเรือหลักในโลก และการลำเลียงตู้สินค้าเชื่อม “เรือ+ราง”  มีจำนวน 6,117 เที่ยว เพิ่มขึ้น 33 เท่าจากปี 2560 ที่เริ่มเปิดดำเนินการ

กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ถือเป็นหนึ่งในท่าเรือของจีนที่ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด โดยเฉพาะ ‘ท่าเรือชินโจว’ มีฟังก์ชันพิเศษในการนำเข้าสินค้ากลุ่มพิเศษที่ต้องได้รับการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ อาทิ ผลไม้ เนื้อสัตว์ ธัญพืช(ข้าว) รถยนต์ประกอบสำเร็จ และไวน์ ปัจจุบัน มีเที่ยวเรือสินค้าให้บริการกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพหลายเที่ยวต่อสัปดาห์

            ในฤดูผลไม้ที่กำลังจะมาถึงในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ผู้ประกอบการสามารถพิจารณาเลือกใช้ ‘ท่าเรือชินโจว’ เพื่อการขนส่งผลไม้ไปจีน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรแออัดที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่บริเวณนอกด่านทางบกโหย่วอี้กวาน (จังหวัด Langson ของเวียดนาม) ทำให้รถบรรทุกผลไม้ต้องรอคิวผ่านด่านเป็นเวลานาน ส่งผลต่อความสดใหม่หรือทำให้ผลไม้เน่าเสียได้ง่าย

            อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรศึกษา วางแผน และจองระวางขนสินค้าทางเรือไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนที่ยังคาราคาซัง และการจัดสินค้าขาขึ้นและขาล่อง เพื่อให้เกิดการค้าสองทาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความสมดุลให้กับการค้าระหว่างสองฝ่าย ช่วยให้ต้นทุนโลจิสติกส์ลดลง (ไม่ตีตู้เปล่า) และช่วยให้สายเรือสามารถจัดเที่ยวเดินเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ www.bbwgw.com (广西北部湾国际港务集团有限公司 ) วันที่ 14 มีนาคม 2565
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新社广西) วันที่ 13 มีนาคม 2565

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]