ตั้งแต่ปี 2561 รัฐบาลนครเฉิงตูได้พัฒนาเมืองให้เป็นเมืองแห่งสวนสาธารณะ โดยขยายพื้นที่สีเขียว เน้นการปรับปรุงผังเมือง การรักษาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยในปี 2564 นครเฉิงตูได้สร้างสวนสาธารณะใหม่ 30 แห่ง และสร้างเส้นทางสีเขียวเทียนฝู่ (天府绿道 / Tianfu Greenway) ทั้งหมด 5,188 กม. นับเป็นการสร้างโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการท่องเที่ยว ส่งผลให้นครเฉิงตูติดอันดับเมืองที่มีความสุขที่สุดอันดับ 1 ในจีนต่อเนื่อง 13 ปีซ้อน
เส้นทางสีเขียวเทียนฝู่ คือ พื้นที่สีเขียวสำหรับการท่องเที่ยว การออกกำลังกาย และการพักผ่อน สร้างวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองสวนสาธารณะ ภายใต้โครงการนี้ รัฐบาลท้องถิ่นได้ปรับปรุงสวนสาธารณะแม่น้ำจิ่นเจียงซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของนครเฉิงตู จนปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ เป็นพื้นที่สีเขียวอเนกประสงค์ และเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร การจัดนิทรรศการ การแสดง การจัดงานเทศกาล โรงแรม และการล่องเรือ
รัฐบาลนครเฉิงตูได้ออกแบบเส้นทางการล่องเรือในแม่น้ำจิ่นเจียงให้สวยงามราวกับฉากธรรมชาติในบทกวีโบราณของจีน เส้นทางล่องเรือดังกล่าวมีระยะทาง 5 กิโลเมตร เชื่อมต่อสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในเฉิงตู อาทิ Chengdu 339 ย่านธุรกิจบริการสมัยใหม่ และ Hejiang Pavilion สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในนครเฉิงตู ในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีน (31 ม.ค. – 6 ก.พ. 65) นักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งจากนครเฉิงตูและเมืองอื่น ๆ เดินทางมาล่องเรือชื่นชมความสวยงามของธรรมชาติที่แม่น้ำจิ่นเจียง นักท่องเที่ยวรายหนึ่งจากมณฑลหูเป่ยให้สัมภาษณ์ว่า “การล่องเรือ
เป็นประสบการณ์ที่น่าอัศจรรย์มาก ทำให้นึกถึงบทกวีที่มีชื่อเสียงของ “ตู้ ฝู” กวีสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งชื่นชอบการเขียนบรรยายความสวยงามของนครเฉิงตู” นักท่องเที่ยวชาวเฉิงตูอีกรายที่มากับครอบครัว กล่าวว่า “การล่องเรือบนแม่น้ำจิ่นเจียง ทำให้นึกถึงบทกวีในสมัยโบราณจึงพาลูกๆ มาสัมผัสและใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่นี่”
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวคิด “เมืองสวนสาธารณะ” ของนครเฉิงตู เน้นการพัฒนาเมืองและแหล่งที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การรักษาสิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ๆ มาปรับใช้ในการการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้ BCG Economy Model ของไทย และถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย ซึ่งสามารถนำหลักการหรือแนวปฏิบัติของจีนมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการพัฒนาตามนโยบาย BCG Economy Model ด้วยการร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและประเทศไทยให้ก้าวหน้าด้วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง: เว็บไซต์ chinadaily (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565)
https://enapp.chinadaily.com.cn/a/202203/08/AP6226b718a310b7d50bac12b6.html