• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • เขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่งได้รับอนุมัติแผนการก่อสร้างศูนย์กลางการประมวลผลแห่งชาติ

เขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่งได้รับอนุมัติแผนการก่อสร้างศูนย์กลางการประมวลผลแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่งได้รับอนุมัติแผนการก่อสร้างศูนย์กลางการประมวลผลแห่งชาติ (national computing hubs) จากรัฐบาลจีนแล้ว

คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อนุมัติโครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างศูนย์กลางการประมวลผลแห่งชาติ 8 แห่งในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ เขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง ภูมิภาคนครปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี เขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลกานซู่ และเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย โดยมีแผนจะสร้างคลัสเตอร์ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ (national data centers) รวม 10 แห่ง

ศูนย์กลางการประมวลผลแห่งชาติทั้ง 8 แห่งจะทำหน้าที่เป็นแกนหลักของเครือข่ายข้อมูลประมวลผลของจีน       ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคลัสเตอร์ศูนย์ข้อมูลและการบูรณาการการทำงานของศูนย์ข้อมูล การประมวลผลระบบคลาวด์ (cloud computing) และข้อมูลมหัต นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างช่องทางเชื่อมโยงทรัพยากรข้อมูลประมวลผล (computing resources) จากภูมิภาคตะวันออกไปยังตะวันตกซึ่งยังมีระดับการพัฒนาที่ต่ำกว่า การอนุมัติโครงการดังกล่าวจึงนับเป็นการบรรลุการจัดทำภาพรวมโครงร่างของระบบศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่แบบบูรณาการระดับประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลของจีนได้ดียิ่งขึ้น

ในลำดับต่อไป จีนจะมุ่งส่งเสริมผลการดำเนินงานของศูนย์กลางการประมวลผลแห่งชาติทั้ง 8 แห่งเพื่อขับเคลื่อนการประมวลผลข้อมูลแบบบูรณาการทั่วประเทศ

ที่ผ่านมา จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาในลักษณะจับกลุ่มพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อบูรณาการความร่วมมือและอาศัยข้อได้เปรียบของแต่ละพื้นที่เพื่อทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น เขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง ภูมิภาคนครปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย เขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีโครงการบูรณาการความร่วมมือในลักษณะเฉพาะสาขา เช่น โครงการผันน้ำจากภาคใต้สู่ภาคเหนือและโครงการส่งพลังงานจากภาคตะวันตกไปยังภาคตะวันออก

ปัจจุบัน ศูนย์ข้อมูลของจีนส่วนใหญ่กระจายอยู่ในภาคตะวันออกของจีน อย่างไรก็ดี การขาดแคลนทรัพยากรที่ดินและพลังงานในภูมิภาคตะวันออกเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาศูนย์ข้อมูลอย่างยั่งยืน ในขณะที่ภูมิภาคตะวันตกของจีนอุดมไปด้วยทรัพยากร โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนและมีศักยภาพที่จะพัฒนาศูนย์ข้อมูลและตอบสนองความต้องการของการประมวลผลข้อมูล การดำเนินโครงการนี้จึงสะท้อนยุทธศาสตร์ในการจัดสรรทรัพยากรข้อมูลประมวลผลจากภูมิภาคตะวันออกไปยังภูมิภาคตะวันตกที่มีการพัฒนาน้อยกว่าแต่อุดมไปด้วยทรัพยากร เพื่อให้การบูรณาการการพัฒนาระบบประมวลผลในระดับประเทศบรรลุผลสำเร็จ และนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาคุณภาพสูง ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรและการพัฒนาที่ยั่งยืน

เขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่งเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติของจีนในการพัฒนาเมืองและพื้นที่รอบ ๆ เมืองของนครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง เพื่อทำให้เกิดการขยายความเจริญ และมีการพยายามแบ่งเป้าหมายในการพัฒนา ซึ่งทั้งนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งได้บรรจุการเร่งสร้างเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปี 2565 การกำหนดให้เขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่งเป็น 1 ใน 8 พื้นที่ดำเนินโครงการฯ สะท้อนการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่งในลักษณะการบูรณาการของรัฐบาลกลาง รวมถึงการเน้นย้ำความเป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ของเมืองทั้งสองในการพัฒนาภาคตะวันตกของจีน

ปัจจุบันเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของยุคของดิจิทัล มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย  ซึ่งทำให้มีข้อมูลจำนวนมากเกิดขึ้นในระบบ การสร้างศูนย์กลางการประมวลผลแห่งชาติเพื่อรวบรวมและจัดเก็บข้อมูล จะช่วยให้การประมวลผล การเชื่อมโยงทรัพยากรข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลสะดวกมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความกินดีอยู่ดีของประชาชน

ไทยผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 มุ่งให้ประเทศมีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี และขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้เป็น “เศรษฐกิจดิจิทัล” (digital economy) โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) หรือการใช้เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และมีผลการดำเนินงานที่ดีจากโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่ทันสมัย โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 Speedtest Global Index รายงานว่า ไทยมีความเร็วอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เป็นอันดับ 4 จาก 177 ประเทศ ดังนั้น ด้วยนโยบายและโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่รองรับการผลักดันไปสู่การปรับเปลี่ยนไปเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาและเชื่อมโยงระบบข้อมูลประมวลผลอย่างบูรณาการทั่วประเทศ ดังเช่นที่จีนกำลังดำเนินการอยู่ จึงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญหลักในการพัฒนาประเทศไทยให้มีความยั่งยืน

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักข่าวซินหัว (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565)

http://sc.news.cn/content/2022-02/18/c_1128389794.htm

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]