ไฮไลท์
- ณ วันนี้ รถไฟความเร็วสูงในจีนไม่ได้จำกัดฟังก์ชันเพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณีย์ ด้วย โดยรัฐบาลจีนได้พัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงให้ครอบคลุมพื้นที่กว่าราว 6 ล้านตารางกิโลเมตรทั่วประเทศ กลายเป็น “เครื่องมือ” สำคัญที่ช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการเติบโตของภาคธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เร็วๆ นี้ กว่างซีได้ประกาศ “แผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูง” โดยตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2568 กว่างซีจะมี “ฐานการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูง” ที่สร้างเสร็จพร้อมใช้งาน จำนวน 10 แห่ง โดยมี “นครหนานหนิง” เป็น Hub และเชื่อมกับระบบงานขนส่งทางถนนและเครื่องบินแบบไร้รอยต่ออีกด้วย
- นอกจากนี้ กว่างซีจะใช้ “ฐานการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูง” เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องเข้าจัดตั้งธุรกิจด้วย อาทิ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจจัดส่งพัสดุไปรษณีย์ (Courier) ธุรกิจคลังสินค้า ผู้ค้า รวมถึงธุรกิจบริการแปรรูป เพื่อให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ห่วงโซ่ธุรกิจโลจิสติกส์ และเกิดระบบนิเวศ (ecosystem) ในธุรกิจขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูง
- นัยสำคัญต่อประเทศไทย ปัจจุบัน ภาครัฐกว่างซี (จีน) ให้ความสำคัญกับการขนส่งด้วย “ระบบราง” ทั้งโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ การพัฒนา “ท่าเรือบก” ที่ท่ารถไฟระหว่างประเทศนครหนานหนิง และล่าสุด ที่กำลังพัฒนาฐานการขนส่งสินค้าในสถานีรถไฟความเร็วสูงแห่งสำคัญทั่วมณฑล ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป โดยสินค้าไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในกว่างซีในการกระจายสินค้าไปยังพื้นที่อื่นได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
ณ วันนี้ รถไฟความเร็วสูงในจีนไม่ได้จำกัดฟังก์ชันเพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณีย์ด้วย โดยรัฐบาลจีนได้พัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงให้ครอบคลุมพื้นที่กว่าราว 9.6 ล้านตารางกิโลเมตรทั่วประเทศ กลายเป็น “เครื่องมือ” สำคัญที่ช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการเติบโตของภาคธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างดี
ความเคลื่อนไหวล่าสุดในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงหลังจากเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ได้เปิดตัวโปรเจกต์ก่อสร้าง “ฐานโลจิสติกส์ด้วยรถไฟความเร็วสูงหนานหนิง” (南宁高铁物流基地) แห่งแรกของมณฑล และแห่งที่ 2 ที่กำลังก่อสร้างในประเทศจีน
ณ สิ้นปี 2564 ระยะทางของรถไฟความเร็วสูงในเขตฯ กว่างซีจ้วงมีเกือบ 1,800 กิโลเมตร (ไม่นับรวมเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกหลายเส้นทาง) โดย 12 เมืองจากทั้งหมด 14 เมืองในกว่างซีมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งให้บริการแล้ว และรถไฟความเร็วสูงในกว่างซีสามารถวิ่งตรงไปยัง 21 หัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีนแบบ “วันเดียวถึง”
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมคมนาคมขนส่งเขตฯ กว่างซีจ้วง และบริษัทการรถไฟแห่งชาติจีน สาขาหนานหนิง (กำกับดูแลทั้งเขตฯ กว่างซีจ้วง) ได้ประกาศ “แผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูง” โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในช่วงปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 หรือในปี 2568 กว่างซีจะมี “ฐานการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูง” ที่สร้างเสร็จพร้อมใช้งาน จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วยที่นครหนานหนิง เมืองหลิ่วโจว เมืองกุ้ยหลิน เมืองยวี่หลิน เมืองเป๋ยไห่ เมืองไป่เซ่อ เมืองเหอฉือ เมืองอู๋โจว อำเภอระดับเมืองผิงเสียง และอำเภอระดับเมืองตงซิง
ในแผนปฏิบัติการดังกล่าว ระบุชัดถึงการพัฒนาศักยภาพแฝงของสถานีรถไฟความเร็วสูงในการให้บริการด้านการขนส่งสินค้า การขยายปริมาณการขนส่งสินค้าในขบวนรถผู้โดยสารและขบวนรถเปล่า รวมถึงการพัฒนาตลาดการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูง โดยตั้งเป้าหมายว่า…
- ในปี 2566 ปริมาณการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงของกว่างซีจะทะลุ 5 แสนชิ้น
- ในปี 2568 ฐานการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูง 10 แห่งในกว่างซี โครงการเฟสแรกจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมให้บริการ ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงของกว่างซีทะลุ 1.5 ล้านชิ้น
- ในปี 2578 ฐานการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงจะก่อสร้างแล้วตามแผนทั้งหมด การขนส่งสินค้าด้วยขบวนรถไฟความเร็วสูงสามารถให้บริการได้เป็นประจำ ปริมาณการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงของกว่างซีทะลุ 1,180 ล้านชิ้น
ในแผนปฏิบัติการฯ ยังระบุถึง การใช้ “ฐานการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูง” เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องเข้าจัดตั้งธุรกิจด้วย อาทิ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจจัดส่งพัสดุไปรษณีย์ (Courier) ธุรกิจคลังสินค้า ผู้ค้า รวมถึงธุรกิจบริการแปรรูป เพื่อให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ห่วงโซ่ธุรกิจโลจิสติกส์ และเกิดระบบนิเวศ (ecosystem) ในธุรกิจขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูง
การพัฒนาธุรกิจขนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูงในกว่างซีจะมี “นครหนานหนิง” เป็น Hub เชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงภายในมณฑลกับต่างมณฑล รวมทั้งการพัฒนาระบบงานบริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal transportation) ระหว่างรถไฟความเร็วสูงกับรถบรรทุกและเครื่องบินแบบไร้รอยต่อด้วย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และยกระดับประสิทธิภาพงานขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณีย์ให้สูงขึ้นได้อย่างมาก
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในประเทศจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยระยะทางราว 41,000 กิโลเมตร (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2564) และกำลังก่อสร้างอยู่อย่างต่อเนื่อง หัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีนสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ด้วยรถไฟความเร็วสูง
เมื่อปลายปี 2563 ประเทศจีน โดยบริษัท CRRC Tangshan Co.,Ltd (บริษัทลูกของ China Railway Rolling Stock Corp. ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงขนาดใหญ่สุดของจีน) ได้เปิดตัวรถไฟความเร็วสูงรุ่นใหม่ที่ใช้สำหรับบรรทุกสินค้า วิ่งด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (คิดง่ายๆ ระยะทางจากแม่สาย-สุไหงโกลก ใช้เวลาไม่ถึง 6 ชั่วโมง) น้ำหนักบรรทุกได้เที่ยวละ 110 ตัน แต่ละเที่ยวมีตู้รถไฟ 8 ตู้ ตู้รถไฟแต่ละตู้มีความกว้าง 2.9 เมตร พื้นที่ใช้สอยคิดเป็น 85% ของพื้นที่บรรทุกบนรถไฟ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (บิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติ้ง และระบบอัจฉริยะ) มีความรวดเร็ว ปลอดภัยสูง และได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศน้อยกว่าทางรถยนต์และเครื่องบิน
ในแผนการพัฒนากิจการรถไฟแห่งชาติ (ฉบับล่าสุด) ของ China State Railway Group รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านการรถไฟของจีน ระบุว่า ภายในปี พ.ศ. 2578 รางรถไฟในจีนจะมีระยะทางรวม 200,000 กิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นรางรถไฟความเร็วสูงราว 70,000 กิโลเมตร เมืองที่มีประชากรมากกว่า 200,000 คนจะมีทางรถไฟวิ่งเชื่อมต่อถึงกัน และเมืองที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คนจะมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงวิ่งเชื่อมต่อถึงกัน
บีไอซี ขอเน้นย้ำว่า เทรนด์การขนส่งและกระจายสินค้าทางรถไฟในประเทศจีนเป็นประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับผู้ค้าไทย โดยเฉพาะในมิติของการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าสามารถเจาะตลาดในพื้นที่ใหม่ๆ ได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว ประหยัดทั้งระยะเวลาและต้นทุน
ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัด อาทิ การพัฒนาโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ หรือ ILSTC (International Land and Sea Trade Corridor) เพื่อใช้ในการลำเลียงสินค้าเพื่อการนำเข้า-ส่งออก โดยมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่อของอ่าวตังเกี๋ย) เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจุดหลักในการค้าของมณฑลในภาคตะวันตกของจีนกับต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
นอกจากนี้ ยังมี “ท่ารถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” หนึ่งในโครงการเชิงสัญลักษณ์ของ ระเบียงการขนส่ง ILSTC และเป็น Key project ของศูนย์โลจิสติกส์ระดับประเทศประเภทท่าเรือบกในนครหนานหนิง และเป็นฐานโลจิสติกส์ที่สำคัญของบริษัท China Railway โดยท่ารถไฟแห่งนี้มีฟังก์ชันการบริการด้านพิธีการศุลกากรขาเข้า-ขาออกแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกระหว่างจีน-เวียดนาม (กรุงฮานอย) อีกด้วย
นัยสำคัญต่อประเทศไทย ปัจจุบัน ภาครัฐกว่างซี (จีน) ให้ความสำคัญกับการขนส่งด้วย “ระบบราง” ทั้งโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ การพัฒนา “ท่าเรือบก” (dry port) ที่ท่ารถไฟระหว่างประเทศนครหนานหนิง และล่าสุด ที่กำลังพัฒนาฐานการขนส่งสินค้าในสถานีรถไฟความเร็วสูงแห่งสำคัญทั่วมณฑล ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป โดยสินค้าไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในกว่างซีในการกระจายสินค้าไปยังพื้นที่อื่นได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
นอกจากการใช้กว่างซีเป็น Hub กระจายสินค้าแล้ว ภาคธุรกิจไทยยังสามารถเข้าไปจัดตั้งธุรกิจเพื่อการค้าและการแปรรูปสินค้าในพื้นที่ฟังก์ชันของฐานการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงในกว่างซี เพื่อใช้ประโยชน์จากระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ เพื่อการผลิตและจำหน่ายสินค้าไปยังเมือง/มณฑลอื่นทั่วประเทศจีนได้เช่นกัน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเป็นทางเลือกใหม่สำหรับภาคธุรกิจไทยได้อีกหนึ่งช่องทาง และบีไอซีจะเกาะติดสถานการณ์ความเคลื่อนไหวเพื่อนำเสนอกับผู้อ่านในโอกาสต่อไป
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新社广西) วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565