• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กว่างซีคุมเข้มอาหารแช่แข็งนำเข้าจากต่างประเทศ ต้นแบบการเรียนรู้ของประเทศไทย – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

กว่างซีคุมเข้มอาหารแช่แข็งนำเข้าจากต่างประเทศ ต้นแบบการเรียนรู้ของประเทศไทย – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

 

ไฮไลท์

  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้ประกาศยกระดับการบริหารจัดการห่วงโซ่ความเย็นในอาหารนำเข้าแบบปิด (closed-loop) และเร่งผลักดันการพัฒนาระบบการควบคุมแบบรวมศูนย์และระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability system) ในอาหารแช่เย็นแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ
  • ระบบบริหารจัดการที่น่าสนใจ คือ การเชื่อมโยงระบบงานควบคุมคลังสินค้าเข้าไว้ด้วยกันด้วยเทคโนโลยี “อินเทอร์เน็ต + บิ๊กดาต้า + คลังสินค้าแบบรวมศูนย์” และลิงก์ข้อมูลสถานะคลังสินค้ารายวัน ข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับของอาหารแช่เย็นแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศเข้ากับแพลตฟอร์มกลางของประเทศ
  • นอกจากนี้ ยังได้พัฒนากลไกความตกลงยอมรับผลในเอกสาร/ใบรับรองต่างๆ ร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement) ทั้งในมณฑลและข้ามมณฑล ทั้งการยอมรับใบรับรองการนำอาหารแช่เย็นแช่แข็งออกจากคลังสินค้า การยอมรับผลตรวจกรดนิวคลิอิกและผลการฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการปนเปื้อนในสินค้าแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งช่วยช่วยประหยัดเวลาในการตรวจสอบย้อนกลับ และช่วยยกระดับประสิทธิภาพการหมุนเวียนของสินค้าให้มีสภาพคล่อง
  • การยกระดับมาตรการการบริหารจัดการห่วงโซ่ความเย็นในอาหารนำเข้าแบบปิดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการเพิ่มความรัดกุมในการตรวจสอบและควบคุมอาหารแช่เย็นแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ นอกเหนือจากผลไม้สดที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ยกตัวอย่างมาตรการป้องกันโควิด-19 ในผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศที่ด่านโหย่วอี้กวาน (แนวปฏิบัติเหมือนกันทั้งจีน) จะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และการฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ภายนอกสำหรับผลไม้นำเข้า

 

ด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้ประกาศยกระดับการบริหารจัดการห่วงโซ่ความเย็นในอาหารนำเข้าแบบปิด (closed-loop) และเร่งผลักดันการพัฒนาระบบการควบคุมแบบรวมศูนย์และระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability system) ในอาหารแช่เย็นแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังเร่งพัฒนาโมเดลการบริหารจัดการ “อินเทอร์เน็ต + บิ๊กดาต้า + คลังสินค้าแบบรวมศูนย์” เพื่อสร้างระบบงานควบคุมคลังสินค้าแบบรวมศูนย์ทั่วกว่างซีเข้าไว้ด้วยกัน และลิงก์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเข้ากับแพลตฟอร์มกลางของจีน อาทิ สถานะคลังสินค้ารายวัน ข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับของอาหารแช่เย็นแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ

การบริหารจัดการคลังสินค้าอาหารแช่เย็นแช่แข็งแบบรวมศูนย์ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ มีบทบาทสำคัญในการ ‘ตัดตอน’ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก่อนสินค้าที่มีการปนเปื้อนจะกระจายเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคในประเทศ และเป็นมาตรการที่ทำให้ภาคธุรกิจอาหารแช่เย็นแช่แข็งต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการปฏิบัติตามระเบียบข้อกำหนดเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างหลักประกัน ‘อาหารปลอดภัย’ ในอาหารแช่เย็นแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนากลไกความตกลงยอมรับผลในเอกสาร/ใบรับรองต่างๆ ร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement) ทั้งในมณฑลและข้ามมณฑล ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับใบรับรองการนำอาหารแช่เย็นแช่แข็งออกจากคลังสินค้า การยอมรับผลตรวจกรดนิวคลิอิกและผลการฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการปนเปื้อนในสินค้าแช่เย็นแช่แข็ง

ตามรายงาน ปัจจุบัน ใบรับรองการนำอาหารแช่เย็นแช่แข็งนำเข้าออกจากคลังสินค้าที่เป็นจุดทดลองใน 4 เมือง (นครหนานหนิง เมืองหลิ่วโจว เมืองชินโจว และเมืองเฮ่อโจว) สามารถใช้ได้ทั่วมณฑลแล้ว การยอมรับใบรับรองร่วมกันนี้ ช่วยประหยัดเวลาในการตรวจสอบย้อนกลับ (หากไม่มีใบรับรองฯ จะต้องตรวจสอบแหล่งที่มาสินค้าอย่างละเอียด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สินค้า) และช่วยยกระดับประสิทธิภาพการหมุนเวียนของสินค้าให้มีสภาพคล่อง

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การยกระดับมาตรการการบริหารจัดการห่วงโซ่ความเย็นในอาหารนำเข้าแบบปิดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการเพิ่มความรัดกุมในการตรวจสอบและควบคุมอาหารแช่เย็นแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ นอกเหนือจากผลไม้สดที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ยกตัวอย่างมาตรการป้องกันโควิด-19 ในผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศที่ด่านโหย่วอี้กวาน (แนวปฏิบัติเหมือนกันทั้งจีน) จะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และการฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ภายนอกสำหรับผลไม้นำเข้า ดังนี้

1. นอกจากการสุ่มตรวจและกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืชที่ดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว (ตู้ผลไม้ไทยมีอัตราการสุ่มตรวจและกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืช 30% ขณะที่ผลไม้เวียดนามตรวจ 100%) ตู้ผลไม้นำเข้าจะต้องถูกสุ่มตรวจเชื้อโควิด-19 และฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ภายนอกทั้งหมดทุกกล่อง

2. การตรวจหาเชื้อโควิด-19 และฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ภายนอกทุกตู้ทุกกล่อง แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

2.1 กรณีที่ตู้สินค้าถูกสุ่มตรวจโรคพืชและแมลงศัตรูพืช + ถูกระบบสุ่มให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 และฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ภายนอกที่ด่านโหย่วอี้กวาน กระบวนการทั้งหมดดำเนินเสร็จสิ้นในบริเวณพื้นที่ลานตรวจสินค้าภายในด่านโหย่วอี้กวาน

2.2 กรณีที่ตู้สินค้าไม่ได้ถูกระบบสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 และฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ภายนอกที่ด่านโหย่วอี้กวาน รถบรรทุกจะต้องลากตู้สินค้าที่ถูกปิดผนึก (seal) ไปที่ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้าเกษตรที่กำหนดในเมืองผิงเสียง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายแห่ง เพื่อทำการสุ่มเก็บตัวอย่างสำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์ภายนอกทุกตู้ทุกกล่อง ซึ่งกระบวนการฆ่าเชื้อจะดำเนินการระหว่างการขนถ่ายตู้สินค้าจากตู้เดิมของไทยไปยังตู้สินค้าของจีน โดยลำเลียงผ่านสายพานที่ติดตั้งเครื่องพ่นละอองฆ่าเชื้อไวรัส

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 27 มกราคม 2565

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]