เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 สถาบันวิจัย Cloud River Urban Research Institute เผยแพร่ดัชนี “The China Integrated City Index 2020” จัดอันดับการพัฒนาเมืองในจีนประจำปี 2563 (ทั้งนี้ สถาบันวิจัยได้พิจารณาเมืองต่าง ๆ ของจีนครอบคลุมกว่า 297 เมือง) โดยเมืองที่มีการพัฒนาด้านสภาพแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ เมืองเซินเจิ้น นครกว่างโจว นครเฉิงตู นครฉงชิ่ง นครหนานจิง นครหังโจว นครเทียนจิน และเมืองซูโจวตามลำดับ
นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า เมืองที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากที่สุด 10 เมืองแรกต่างกระจายอยู่ในแผนการพัฒนาเมืองแบบรวมกลุ่มเขตเศรษฐกิจ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง เขตเศรษฐกิจกรุงปักกิ่ง – นครเทียนจิน – มณฑลเหอเป่ย และเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู – นครฉงชิ่ง และมีความพร้อมในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงมีการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนอย่างรวดเร็ว
หากเปรียบเทียบกับเมืองอื่น ๆ นครเฉิงตูและนครฉงชิ่งเป็นเมืองที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล แต่กลับมีระดับการพัฒนาอยู่ในระดับแถวหน้าของจีน โดยเมื่อเทียบกับการจัดอันดับในปีที่ผ่าน ๆ มาทั้งสองเมืองมีการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะนครเฉิงตูที่ขยับขึ้นมาถึง 6 อันดับเมื่อเทียบกับการจัดอันดับในปี 2559 ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคตะวันตกให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับภูมิภาคตะวันออก และการจัดตั้งเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู – นครฉงชิ่งขึ้นเพื่อเป็นเสาหลักในการพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทำให้ทั้งสองเมืองร่วมมือกันพัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สภาพแวดล้อม การสร้างเขตสาธิตอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ตลอดจนเปิดกว้างสำหรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุน เพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจแบบเปิดและการพัฒนาคุณภาพสูง
นครฉงชิ่งยังมีจุดเด่นในการเป็นศูนย์กลางของระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (ILSTC) และอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ “Chongqing ILSTC Dry Port” ที่ครอบคลุมด้าน“โลจิสติกส์ + การค้า + อุตสาหกรรม + การเงิน” โดยเป็นท่าเรือบกแห่งแรกในโครงการสาธิตท่าเรือบกในเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู – นครฉงชิ่ง และอยู่ระหว่างการสร้างเขตสาธิตเศรษฐกิจท่าอากาศยานนานาชาตินครฉงชิ่งอีกด้วย ทำให้นครฉงชิ่งมีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งครบวงจร และมีโอกาสพัฒนาเติบโตสูงอยู่ในระดับแถวหน้าของจีนต่อไป
แผนการพัฒนาเมืองแบบรวมกลุ่มเขตเศรษฐกิจส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งรวมถึงเมืองรองต่าง ๆ โดยรอบ ทั้งด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม การพัฒนาสีเขียว ระบบคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์หลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
หน่วยงานส่วนท้องถิ่นของไทยอาจพิจารณารูปแบบการพัฒนาเมืองข้างต้นของจีนเพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่นโดยบูรณาการศักยภาพของท้องถิ่นตนเข้ากับความได้เปรียบของพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมืองและพื้นที่ชนบทให้มีระดับการพัฒนาที่ก้าวหน้าไปด้วยกัน
แหล่งอ้างอิง (ข้อมูล)
- https://peoplesdaily.pdnews.cn/opinions/city-development-amid-covid-19-from-the-perspective-of-china-integrated-city-index-2020-244186.html
- https://cici-index.com/cn/1179/
- https://www.h2o-china.com/news/321093.html
- https://cici-index.com/cn/1176/
- 5.https://caijing.chinadaily.com.cn/a/202112/28/WS61caf252a3107be4979ff816.html?from=singlemessage
- https://ddc.moph.go.th/uploads/files/2017420210820025238.pdf