เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 สถาบันวิจัยพลังงานความร้อนนครซีอาน (Xi’an Thermal Power Research Institute: 西安热工研究院) รายงานว่า การเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ด้วยวัฏจักรคาร์บอนไดออกไซด์วิกฤตยิ่งยวด (Large-scale supercritical carbon dioxide cycle power generator) เครื่องแรกของจีน ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์/วัน และใช้อุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นในจีนทั้งหมด ทั้งยังได้รับการจดสิทธิบัตรทางเทคนิคมากถึง 400 รายการ
นายซู ลี่ซิน (Su Lixin: 苏立新) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงานความร้อนนครซีอาน ได้กล่าวเปรียบเทียบกับเครื่องแบบเดิม (ที่ใช้ไอน้ำ) ว่าภายใต้ความจุและกำลังเดียวกัน เครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยวัฏจักรคาร์บอนไดออกไซด์วิกฤตยิ่งยวดนี้มีลักษณะเด่นสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ มีขนาดเล็ก ประสิทธิภาพสูง และมลพิษต่ำ กล่าวคือ มีขนาดของเครื่องเพียง 1/25 ของขนาดเครื่องเดิม มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 3% -5% และที่สำคัญคือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าได้ถึงกว่า 10% (ซึ่งเครื่องทั่วไปจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพียง 1%-2% เท่านั้น)
จีนกับเป้าหมายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยมลพิษ
การใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสื่อในการผลิตกระแสไฟฟ้า ถือเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญของโลก ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาอยู่ระหว่างทดลองการผลิตไฟฟ้าด้วยวัฏจักรคาร์บอนไดออกไซด์วิกฤตยิ่งยวดขนาดสูงสุดเพียง 0.2 เมกะวัตต์ ในขณะที่ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีในลักษณะนี้เช่นกัน ข้อมูลจากการจัดลำดับขององค์กร Climate Watch ในปี 2561 พบว่า จีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 19.19% ของก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา (18.13%) ส่วนไทยอยู่ที่อันดับ 20 ของโลก (0.8%) ตามข้อมูลการตรวจหาการปล่อยคาร์บอนแบบเรียลไทม์ทั่วโลก (Carbon Monitor) พบว่าแหล่งที่มาของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในจีน 3 อันดับแรก คือ การผลิตไฟฟ้า (39%) การผลิตภาคอุตสาหกรรม (28%) และการขนส่งทางบก (18%)
การประยุกต์ใช้ทางวิศวกรรมของเทคโนโลยีนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางไปสู่การอนุรักษ์พลังงานและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการผลิตพลังงานอย่างยั่งยืนของจีน นอกจากนี้ เทคโนโลยีนี้ยังสามารถนำไปใช้ในด้านอื่นๆ ได้อีกมากมาย อาทิ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานความร้อน การใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูง และการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานปรมาณู
ปัจจุบัน สถาบันวิจัยพลังงานความร้อนนครซีอาน เป็นผู้นำในการจัดตั้งเครือข่ายนวัตกรรมที่ประกอบด้วยมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และองค์กรชั้นนำ 40 แห่ง (อาทิ มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยซีอานเจียวทง สถาบันวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์) เพื่อเร่งการวิจัยและพัฒนาการผลิตไฟฟ้าด้วยวัฏจักรคาร์บอนไดออกไซด์วิกฤตยิ่งยวด เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของจีน ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 จีนได้ตั้งเป้าหมายจะเป็นประเทศที่ปลอดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ในอีก 4 ทศวรรษข้างหน้า อย่างไรก็ดี การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังวิกฤต COVID-19 อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้จีนก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ช้าลง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเร่งเดินหน้าฟื้นฟูอุตสาหกรรม จำเป็นต้องใช้พลังงานจำนวนมาก และยังจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานถ่านหินและปิโตรเคมีอยู่ อย่างไรก็ตาม การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีข้างต้น เป็นการยืนยันว่า จีนกำลังพยายามเดินไปสู่เป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม
ในส่วนของประเทศไทย ก็ได้ตั้งเป้าหมายลดภาวะเรือนกระจกให้ได้ราว 20-25% จากปีฐาน 2548 หรือคิดเป็น 111-139 ตันคาร์บอนฯ ภายในปี 2573 และตั้งเป้าที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ดังนั้น ไทยจึงอาจพิจารณาศึกษาและประยุกต์องค์ความรู้จากเทคโนโลยีข้างต้นมาใช้ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ดังกล่าว
แหล่งที่อ้างอิง
- http://www.shaanxi.gov.cn/xw/sxyw/202112/t20211210_2203542.html
- http://www.tanpaifang.com/tanzhonghe/2021/0506/77729_5.html
- https://xueshu.baidu.com/usercenter/paper/show?paperid=156c0eh0960r0m506a6404t0np626911&site=xueshu_se
- 4. https://www.bbc.com/thai/international-amp