• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • นครหนานหนิงปักธงธุรกิจแอร์ คาร์โก ส่งออก-นำเข้าผลไม้สด โอกาสผลไม้ไทยอีกไกลแค่ไหน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

นครหนานหนิงปักธงธุรกิจแอร์ คาร์โก ส่งออก-นำเข้าผลไม้สด โอกาสผลไม้ไทยอีกไกลแค่ไหน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • รัฐบาลกว่างซี(จีน)ได้กำหนดตำแหน่งให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงเป็น Hub การบินที่ใช้เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกอาเซียน ยิ่งท่ามกลางสภาวะธุรกิจการค้ายุคใหม่ที่ทั่วโลกต้องปรับตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งทางอากาศ หรือแอร์ คาร์โก (Air Cargo) กำลังทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นในระบบการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ
  • ปัจจุบัน ท่าอากาศยานหนานหนิง ได้เปิดใช้ คลังสินค้าระหว่างประเทศแห่งใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนา “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานเพื่อรองรับการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ เมื่อผ่านการตรวจรับจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติแล้ว ท่าอากาศยานแห่งนี้ก็จะสามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้ รวมถึงผลไม้ไทยด้วย
  • “ท่าอากาศนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” เป็นช่องทางและโอกาสใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ ในการบุกเบิก “สินค้าสดและสินค้ามีชีวิต” รวมถึงสินค้าอื่นๆ จากไทยไปกว่างซี(จีน) โดยผู้ค้าไทยสามารถใช้จุดได้เปรียบจากทำเลที่ตั้ง เพื่อใช้ท่าอากาศแห่งนี้เป็นจุดกระจายสินค้าไปยังเมืองและมณฑลต่างๆ โดยไม่จำกัดรูปแบบการขนส่งเชื่อมต่อเฉพาะเครื่องบินเท่านั้นแต่ยังสามารถใช้รูปแบบการขนส่งทางถนนและทางรถไฟที่เชื่อมโยงถึงกันได้อีกด้วย

 

ปัจจุบัน ตลาดส้มในอาเซียนมีทิศทางที่สดใส เนื่องจากมีความต้องการสูง เมื่อไม่นานมานี้ ส้มแมนดารินท้องถิ่น “วั่วกาน” ของกว่างซีได้ส่งออกผ่านท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (Nanning Wuxu International Airport/南宁吴圩国际机场) ไปที่ประเทศมาเลเซียเป็นที่เรียบร้อย ถือเป็นส้มวั่วกานล็อตแรกที่ส่งออกผ่านด่านทางอากาศ แม้ว่าปริมาณการส่งออกล็อตนี้จะยังไม่มาก (เป็นตัวอย่างเพียง 539 กิโลกรัม) แต่ถือว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาห่วงโซ่โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุตสาหกรรมผลไม้ของกว่างซีไปยังต่างประเทศ

ส้ม “วั่วกาน” (Orah mandarin) เป็นส้มแมนดารินท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นสายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง Temple (tangor) กับ Dancy (mandarin) มีต้นกำเนิดในประเทศอิสราเอล โดยกว่างซีเป็นมณฑลแรกที่นำเข้ามาปลูกจนเป็นอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่เขตอู่หมิง (Wuming District/武鸣区) ของนครหนานหนิง ฤดูกาลของส้มชนิดนี้จะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม ไปจนราวๆ เดือนมีนาคมของปีถัดไป

ลักษณะเด่นของส้มวั่วกาน คือ ผลกลมแบน ผิวสีส้มสดใส เปลือกบางปอกง่าย รสชาติหวาน ฉุ่มฉ่ำ ซังอ่อนนุ่ม มีวิตามินซีสูง มีคาร์โบไฮเดรตค่อนข้างต่ำ เก็บไว้ได้นาน และเป็นหนึ่งในผลไม้มงคลที่ได้รับความนิยมของชาวจีน ผลขนาดกลางมีน้ำหนักประมาณ 150-220 กรัม ปัจจุบัน มีทั้งส้มมีเมล็ด (ดั้งเดิม) และส้มไร้เมล็ด (ปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่ ยังมีผลผลิตไม่สูง)

เพื่อให้การส่งออกส้มวั่วกานล็อตแรกนี้เป็นไปอย่างราบรื่น สำนักงานศุลกากรประจำท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง ได้ให้คำแนะนำกับผู้ส่งออกอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับแนวปฏิบัติเพื่อการส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศ อาทิ การขึ้นทะเบียนขนส่งผลไม้ การขอใบรับรองถิ่นกำเนิด การขอใบรับรองสุขอนามัยพืช และการยื่นสำแดงพิธีการส่งออก ช่วยประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยลดเวลาที่ใช้ในกระบวนการส่งออก และการเปิดช่องทางพิเศษ (Fast track) สำหรับการส่งออกแบบ “ถึงปุ๊บ ตรวจปั๊บ” (สินค้าไม่ต้องรอตรวจสอบก่อนส่งออก)

ตามรายงาน สำนักงานศุลกากรประจำท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง จะมุ่งให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการส่งออกผลไม้ท้องถิ่น โดยเฉพาะการให้คำแนะนำและการสนับสนุนเชิงเทคนิค ส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร เพื่อให้ได้รับการรับรองคุณสมบัติผู้ส่งออก ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการ  “ก้าวออกไป” ของผลไม้กว่างซี

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ด้วยจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้ง และยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกลางกำหนดให้กว่างซีเป็น Gateway to ASEAN ทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง กลายเป็นหนึ่งในด่านสากลทางอากาศที่รัฐบาลกว่างซี(จีน) ให้ความสำคัญ และมุ่งพัฒนาให้เป็น Hub การบินเพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งในด้านการค้า  (Air Cargo) และการแลกเปลี่ยนภาคประชาชน

นับตั้งแต่ต้นปี 2564 ท่าอากาศยานแห่งนี้ได้ทยอยเปิดเส้นทางการขนส่งทางอากาศ หรือแอร์ คาร์โก้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีเส้นทางบินคาร์โก้กับนครโฮจิมินห์ของเวียดนาม กรุงมะนิลาและเมืองดาเวาของฟิลิปปินส์ กรุงพนมเปญของกัมพูชา กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย สิงคโปร์ กรุงธากาของบังกลาเทศ และกรุงกาฐมัณฑุของเนปาล

บีไอซีขอสรุปภาพรวมพัฒนาการที่น่าสนใจของ “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” กับบทบาท “ประตูการค้า” ของท่าอากาศยานแห่งนี้ อาทิ

เมื่อเดือนกันยายน 2564 ท่าอากาศยานหนานหนิง ได้รับอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC ให้จัดตั้ง “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานเพื่อรองรับการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการพัฒนาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและวางระบบการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องให้เข้าเกณฑ์มาตรฐานข้อกำหนดด้านการควบคุมและตรวจสอบโรคและแมลงศัตรูพืชของ GACC ก่อนเข้าสู่กระบวนตรวจรับก่อนที่จะสามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้อย่างเป็นทางการ เมื่อกระบวนการแล้วเสร็จ ท่าอากาศยานนานาชาติหนานหนิงจะขึ้นแท่นเป็นด่านทางอากาศแห่งที่สองของกว่างซีที่สามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้ ต่อจากท่าอากาศยานนานาชาติเหลี่ยงเจียงเมืองกุ้ยหลิน

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2564 ท่าอากาศยานแห่งนี้ได้เปิดใช้ คลังสินค้าระหว่างประเทศแห่งใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากที่ได้ผ่านการตรวจรับจากสำนักงานศุลกากรหนานหนิงเป็นที่เรียบร้อย เป็นคลังสินค้าใหม่ที่สร้างขึ้นและแยกการทำงานออกจากการขนส่งสินค้าทางอากาศในประเทศ มีพื้นที่รวม 8,200 ตร.ม. พร้อมรองรับการขนถ่ายสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศได้ 80,000 ตัน/ปี มีฟังก์ชันรองรับการนำเข้า-ส่งออกอย่างครบครัน ทั้งสินค้าทั่วไป พัสดุส่งด่วนและไปรษณียภัณฑ์ รวมถึงสินค้ามีชีวิต

บีไอซี เห็นว่า “ท่าอากาศนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” เป็นช่องทางและโอกาสใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ ในการบุกเบิก “สินค้าสดและสินค้ามีชีวิต” รวมถึงสินค้าอื่นๆ จากไทยไปกว่างซี(จีน)

ทั้งนี้ ผู้ค้าไทยสามารถใช้จุดได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งของท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงเพื่อกระจายสินค้าไปยังเมืองและมณฑลต่างๆ ได้โดยไม่จำกัดรูปแบบการขนส่งเชื่อมต่อเฉพาะเครื่องบินเท่านั้นแต่ยังสามารถใช้รูปแบบการขนส่งทางถนนและทางรถไฟที่เชื่อมโยงถึงกันได้อีกด้วย

ในอนาคต หลังจากที่ “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานแห่งนี้ได้พัฒนาแล้วเสร็จ และผ่านการตรวจรับจาก GACC แล้ว ท่าอากาศยานแห่งนี้จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยสร้าง “โอกาส” ให้กับผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก รวมถึงผลไม้เกรดพรีเมียม และผลไม้ที่มีเงื่อนไขด้านเวลาและการขนส่ง (บอบช้ำง่าย เน่าเสียง่าย) อาทิ ลองกอง ขนุน ชมพู่ มะขาม จากผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้ง 22 ชนิด และเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหารถบรรทุกแออัดบริเวณด่านพรมแดนกว่างซี-เวียดนามได้อีกด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
https://gx.news.cn (广西新闻网 ) วันที่ 26 ธันวาคม 2564

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]