ปัจจุบัน จีนใช้อีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวชนบทและพื้นที่ห่างไกล อีคอมเมิร์ซชนบทจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญและมีประสิทธิภาพในการขจัดความยากจนและการฟื้นฟูชนบท เพื่อแก้ปัญหา “ขายอะไร ขายอย่างไร จัดส่งอย่างไร”
“เขตซิ่วซาน” ในนครฉงชิ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร โดยในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2559-2563) เขตซิ่วซานสามารถจำหน่ายสินค้าได้มากกว่า 5,000 ล้านหยวน ความสำเร็จของเขตซิ่วซานได้รับการยอมรับจากรัฐบาลจีน และได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในต้นแบบการขจัดความยากจนและฟื้นฟูชนบทโดยคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ
ขายอะไร
เขตซิ่วซานมีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ส้ม พริกและมันฝรั่ง ซึ่งได้รับการพัฒนาตามแนวคิด “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์” สินค้าของเขตซิ่วซานจะมีคิวอาร์โค๊ด เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบที่มา คุณภาพ และความปลอดภัยของผลผลิต
ขายอย่างไร
เขตซิ่วซานมีศูนย์อีคอมเมิร์ซเพื่อการขจัดความยากจนมากกว่า 2,000 แห่ง ครอบคลุมทั่วทั้งเขตฯ มีศูนย์แปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 13 แห่ง ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตรร้อยละ 30 ช่วยลดต้นทุนลงร้อยละ 20 มีผลิตภัณฑ์ติดอันดับขายดีในแต่ละแพลตฟอร์มถึง 20 ผลิตภัณฑ์ และมีผลิตภัณฑ์ที่มียอดขายต่อปีทะลุ 100 ล้านหยวนถึง 4 ผลิตภัณฑ์
ศูนย์อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซและโลจิตติกส์เขตซิ่วซานมีบริษัทที่ดำเนินการด้านอีคอมเมิร์ซ 335 บริษัท และจัดตั้งศูนย์แสดงผลผลิตทางการเกษตรจาก 44 อำเภอและหมู่บ้านที่ยากจนในพื้นที่ภูเขาอู่หลิงกว่า 1,000 รายการ ผสมผสานระหว่างการไลฟ์สตรีมมิ่งขายแบบออนไลน์ และการขายแบบออฟไลน์ ในแต่ละวันมีคำสั่งซื้อผลผลิตทางการเกษตรกว่า 80,000 รายการ จากผู้บริโภคทั่วประเทศ
จัดส่งอย่างไร
เขตซิ่วซานมีบริษัทขนส่งด่วน 83 แห่ง มีเส้นทางการขนส่งด่วนจากเขตซิ่วซานไปยังนครฉงชิ่ง นครฉางซา นครกุ้ยหยาง โดยสามารถลดระยะเวลาได้สูงสุดถึง 51.4 ชั่วโมง ในแต่ละปีช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการในเขตซิ่วซานได้ถึง 100 ล้านหยวน
เขตซิ่วซานยังได้จัดตั้งวิทยาลัยอีคอมเมิร์ซซิ่วซานเพื่อสอนวิชาอีคอมเมิร์ซแบบเต็มเวลา และฝึกอบรมความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซ การขาย ไลฟ์สตรีมมิ่ง และการบริการหลังการขาย โดยผู้ที่ผ่านการอบรมมีอัตราการได้รับการจ้างงานถึงร้อยละ 35 นอกจากนี้ เขตซิ่วซานยังได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาอีคอมเมิร์ซเพื่อแก้ปัญหาด้านการเงินให้กับหน่วยงานด้านอีคอมเมิร์ซ โดยให้เงินกู้มากกว่า 200 ล้านหยวนกับองค์กรที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรที่ยากจน
รูปแบบการสร้างรายได้ด้วยอีคอมเมิร์ซในพื้นที่ชนบทของเขตซิ่วซานเป็นตัวอย่างที่น่านำไปเป็นแบบอย่างน่าชื่นชม องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นของไทยและเกษตรกรไทยสามารถนำไปปรับใช้ ทั้งการใช้อีคอมเมิร์ซ ไลฟ์สตรีมมิ่ง การจัดการโลจิสติกส์และการขนส่ง เพื่อเพิ่มยอดขายผลผลิตทางการเกษตรและลดต้นทุน นอกจากนี้ การฝึกอบรมความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซแก่เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องยังช่วยลดปัญหาการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย และช่วยขจัดความยากจนในชนบทได้อย่างยั่งยืน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ The Chongqing Morning Post (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 )
https://www.cqcb.com/yunongpengyouquan/yunongzixun/2021-12-08/4663655_pc.html