โอกาสขับเคลื่อน BCG Model ของไทยกับกว่างซี

ไฮไลท์

  • หลายปีมานี้ ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกับชาติสมาชิกอาเซียนได้เริ่มผลิดอกออกผลและเจริญงอกงามอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดตั้งแพลตฟอร์มระดับทวิภาคีกับอาเซียน ถือเป็นโมเดลที่กว่างซี(จีน)ใช้ขับเคลื่อนการ “ก้าวออกไป” ถ่ายทอดเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ
  • เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศ “แผนงานนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14” (ระหว่างปี 2564-2568) ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับอาเซียนด้วย โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยีแบบรอบด้าน อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การเกษตร การแพทย์และยาสมุนไพรจีน ความร่วมมือทางทะเล การควบคุมและป้องกันโรคระบาด และการสาธารณสุข และการจัดตั้งศูนย์วิจัยและห้องปฏิบัติการร่วมระดับนานาชาติกับอาเซียนในสาขาต่างๆ
  • เนื้อหาส่วนหนึ่งของแผนงานฯ ได้ระบุถึงการส่งเสริมการพัฒนา China-ASEAN Technology Transfer Center (CATTC) Bangkok Innovation Center (เป็นความร่วมมือกับ สวทช.) และ China-Thailand and ASEAN Innovation Hub (เป็นความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA) ซึ่งสตาร์ทอัปไทยสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดังกล่าวเพื่อเสริมศักยภาพองค์ความรู้ด้านการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
  • นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยยังสามารถใช้โอกาสดังกล่าวเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) บนพื้นฐาน 4+1 ซึ่งประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศได้เช่นกัน

 

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในความร่วมมือระหว่างเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (จีน) กับชาติสมาชิกอาเซียน หลายปีมานี้ ความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายได้เริ่มผลิดอกออกผลและเจริญงอกงามอย่างต่อเนื่อง การจัดตั้งแพลตฟอร์มระดับทวิภาคีกับชาติสมาชิกอาเซียน ถือเป็นโมเดลที่กว่างซี(จีน)ใช้ขับเคลื่อนการ “ก้าวออกไป” ถ่ายทอดเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ

เพื่อวางแนวทางในการพัฒนาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของกว่างซี เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศ “แผนงานนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14” (ระหว่างปี 2564-2568) ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับอาเซียนด้วย โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยีแบบรอบด้าน อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การเกษตร การแพทย์และยาสมุนไพรจีน ความร่วมมือทางทะเล การควบคุมและป้องกันโรคระบาด และการสาธารณสุข และการจัดตั้งศูนย์วิจัยและห้องปฏิบัติการร่วมระดับนานาชาติกับอาเซียนในสาขาต่างๆ

ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับอาเซียน แผนงานฯ ได้ยกความสำคัญใน 2 ประเด็นหลัก คือ “การพัฒนาความร่วมมือเชิงลึกด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียน” มีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน หรือ CAIH (China-ASEAN Information Harbor) เป็นตัวจักรสำคัญ ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่นำร่องด้านนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่กับอาเซียน บ่มเพาะและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะและการใช้เทคโนโลยี Spatio-temporal Big Data จากระบบพิกัดนำร่องดาวเทียมเป่ยโต้ว จัดตั้งสาขาของศูนย์วิจัยบิ๊กดาต้าระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ CBAS (International Research Center of Big Data for Sustainable Development Goals/可持续发展大数据国际研究分中心) เพื่อส่งเสริมการวิจัยและนำร่องการใช้งานบิ๊กดาต้า เทคโนโลยี และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับ Big Earth Data ในอาเซียน

นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของผลักดันการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียน และศูนย์ประมวลผลปัญญาประดิษฐ์จีน(กว่างซี)-อาเซียน หรือ Center for Ai Computing ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจีน-อาเซียน ยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะจีน-อาเซียน หรือ CASC i-Center  (China-ASEAN Smart City Innovation Center/中国—东盟新型智慧城市协同创新中心) พัฒนาโครงการนำร่องข้ามชาติในด้านโลจิสติกส์ การแพทย์ และการเงิน และผลักดันความร่วมมือในการใช้งานเทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) และบล็อกเชนในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้านการแปลภาษาประจำชาติของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน

อีกประเด็นที่มีการขยายความถึง คือ “การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน-อาเซียน” หรือ CATTC (China-ASEAN Technology Transfer Center/中国—东盟技术转移中心) ทั้งในด้านการพัฒนาการดำเนินงานของศูนย์ฯ การเสริมสร้างเครือข่ายประสานความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีของศูนย์ฯ และการผลักดันกลไกการทำงานของศูนย์ฯ ในระดับทวิภาคีที่เป็นรูปธรรม เร่งส่งเสริมการพัฒนา China-ASEAN Technology Transfer Center (CATTC) Bangkok Innovation Center (เป็นความร่วมมือกับ สวทช.) และ China-Thailand and ASEAN Innovation Hub (เป็นความร่วมมือกับ สนง.นวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA) แสวงหาลู่ทางในการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในต่างประเทศ (Incubation Platform) ยกระดับความมีชื่อเสียงของงานประชุมความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจีน-อาเซียน พัฒนาแพลตฟอร์มการค้าเทคโนโลยีจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Technology Trading Platform (www.cattc.org.cn) ก่อตั้งพันธมิตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจีน-อาเซียน พัฒนาพื้นที่คลัสเตอร์การถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน-อาเซียน และส่งเสริมการเข้มแข็งในการบริการด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบรอบด้านกับอาเซียน

บีไอซี เห็นว่า สตาร์ทอัปไทยสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น China-ASEAN Technology Transfer Center (CATTC) Bangkok Innovation Center และ China-Thailand and ASEAN Innovation Hub ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อเสริมศักยภาพองค์ความรู้ด้านการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

หรือสามารถเลือก “ก้าวออกไป” สร้างความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มที่ตั้งอยู่ในกว่างซีก็ได้ ในลักษณะของการทำโครงการร่วมกัน การทดลองใช้นวัตกรรมเพื่อการขยายตลาด หรือการดึงสตาร์ทอัปกว่างซี(จีน)ที่มีศักยภาพและมีความสนใจจะมาขยายธุรกิจในไทย โดย Innovation Space for China-ASEAN Science and Technology Talents (中国-东盟科技人才创新驿站) เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ เพราะว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการแบบครบวงจรกับอาเซียน ครอบคลุมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงการแลกเปลี่ยนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งพร้อมจะให้บริการด้านการให้คำปรึกษา การจับคู่ธุริจ การฝึกอบรมผู้ประกอบการ และการร่วมลงทุน

นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยยังสามารถใช้โอกาสดังกล่าวเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) บนพื้นฐาน 4+1 ซึ่งประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศได้เช่นกัน

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์  
www.gx.chinanews.com.cn (中新社广西) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564
       เว็บไซต์ www.gxzf.gov.cn / เว็บไซต์ www.casiccb.com
เว็บไซต์ www.stsbeijing.org / เว็บไซต์
http://kjt.gxzf.gov.cn
เว็บไซต์ www.nstda.or.th / เว็บไซต์ www.nia.or.th

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]