เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ SGMW (上汽通用五菱) ได้ก้าวสู่อีกหลักชัยที่สำคัญ เมื่อรถยนต์คันที่ 25 ล้านของบริษัทได้เคลื่อนที่ออกจากสายการผลิต นับว่า SGMW เป็นค่ายรถยนต์แบรนด์จีน (Nation brand) รายแรกที่สามารถผลิตรถยนต์ได้ทะลุเป้า 25 ล้านคัน และเป็นการตอกย้ำความเป็นที่สุดในการเป็นผู้นำรถยนต์สัญชาติจีนตัวจริงของเมืองหลิ่วโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงด้วย
ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากความทุ่มเทและตั้งใจปฎิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถของพนักงาน โดยเฉพาะช่วงที่ยากลำบากทั้งจากวิกฤตโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก วิกฤตชิปขาดแคลน ต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงวิกฤตพลังงาน ส่งผลให้การเติบโตของอุตสหากรรมยานยนต์ต้องชะลอตัวลง
ปัญหาขาดแคลนชิปเป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ห่วงโซ่การผลิตชิปทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง ขณะที่ความต้องการใช้ชิปกลับเพิ่มสูงขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว บริษัท SGMW ได้เร่งส่งเสริมการพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่การผลิตชิปในประเทศ โดยการสร้างแพลตฟอร์มเปิดให้นักพัฒนาใช้แบ่งปันและทดสอบชิปที่จีนผลิตขึ้นเอง (ปัจจุบัน มีชิปมากกว่า 5 ล้านชิ้นที่ใช้ในรถยนต์ของบริษัท SGMW) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าของการพัฒนาชิปในประเทศจีน
รถยนต์ที่บริษัท SGMW ผลิตมีหลายแบรนด์หลายรุ่น โดยรถตู้ขนาดเล็กในตระกูล wuling sunshine (五菱之光) ยุคแรก เคยได้รับการจัดจากนิตยสาร Forbes ให้เป็น “the most important car on earth” มาแล้ว ต่อมาในยุคที่ 2 บริษัท SGMW ได้พัฒนารถยนต์อีกหลายรุ่นที่ได้รับความนิยมทั้งตลาดจีนและตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะรถยนต์อเนกประสงค์ ทั้งรถ SUV และรถ MPV ที่เคยสร้างสถิติยอดขายสูงสุดมากกว่า 8 หมื่นคันในหนึ่งเดือน
และในยุคที่ 3 นี้ บริษัท SGMW มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือก เพื่อตอบโจทย์กระแส Go green โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก Mini EV รุ่น Wuling Hongguang (五菱宏光) เคยครองแชมป์ยอดขายอันดับ 1 ในตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกของจีนติดต่อกัน 14 เดือน และครองแชมป์ยอดขายอันดับ 1 ในตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกทั่วโลก 4 เดือนในปีนี้
บริษัท SGMW ได้ก้าวสู่เส้นทาง “โกอินเตอร์” ด้วยการเปิดตัวรถยนต์หลายรุ่นในตลาดต่างประเทศ และมีการส่งออกรถยนต์ประกอบสำเร็จหลายต่อหลายรุ่นไปจำหน่ายใน 40 กว่าประเทศทั่วโลก ในปี 2563 บริษัทส่งออกรถยนต์ประกอบสำเร็จและชิ้นส่วนยานยนต์ 77,376 คัน/ชุด
ที่สำคัญ บริษัท SGMW เป็นค่ายรถยนต์จีนรายแรกที่ “ก้าวออกไป” ตั้งโรงงานแบบครบวงจรทั้งห่วงโซ่การผลิตในต่างประเทศอีกด้วย โดยโรงงานตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ก่อตั้งมาแล้ว 4 ปี
ในรายงานการจัดอันดับมูลค่าคงเหลือ (residual value) ของรถยนต์ในแบรนด์สัญชาติจีนต่างๆ ของสถาบันวิจัยมูลค่าคงเหลือรถยนต์ของประเทศจีน ประจำปี 2564 พบว่า บริษัท SGMW เป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มูลค่าคงเหลือสูงที่สุดในจีนที่ 49.0% และเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 สมาคมดีลเลอร์รถยนต์แห่งประเทศจีน (China Automobile Dealers Association/中国汽车流通协会) ได้จัดอันดับตารางมูลค่าคงเหลือ (residual value) ของรถยนต์ในแบรนด์ต่างๆ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ระบุว่า แบรนด์ Wuling ของบริษัท SGMW เป็นแบรนด์ท้องถิ่น (Self-owned Brand) ที่มีมูลค่าคงเหลือมากที่สุดที่ 68.78% ขณะที่แบรนด์ Baojun ของบริษัท SGMW เช่นกัน มีมูลค่าคงเหลือมากเป็นอันดับ 3 ที่ 63.02%
เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันในตลาดรถยนต์ บริษัท SGMW ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง การจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาและทดสอบรับรองมาตรฐานยานยนต์ด้วยเงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านหยวน เพื่อใช้ทดสอบคุณภาพยานยนต์ อาทิ การชนกระแทก ระดับเสียง ความสั่นสะเทือน และความกระด้าง ระบบส่งกำลังรถยนต์ เครื่องยนต์ การปล่อยมลพิษของรถยนต์
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบระบบการขับขี่แบบอัตโนมัติ การเชื่อมต่อ การปรับให้เป็นระบบไฟฟ้า และการแบ่งปันกันใช้งาน หรือที่เรียกสั้นว่า ACES (Autonomous, Connected, Electric, and Shared) ที่ได้มาตรฐานระดับสากล โดยเทคโนโลยี ACES จะเป็นเทคโนโลยีแกนที่เข้ามาเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์รูปแบบเดิมอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย นับเป็นจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมสำหรับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในการแสวงหาโอกาสความร่วมมือทั้งด้านการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์กับกว่างซี (รวมถึงทั้งประเทศจีน) โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์พลังงานทางเลือก ทั้งการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่ ตลอดจนการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย โดยเริ่มต้นจากการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ การสร้างตัวตนในตลาดให้อีกฝ่ายได้รู้จักมากยิ่งขึ้น และสามารถต่อยอดไปถึงการร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งานตามยุคสมัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา www.gxnews.com (广西新闻网) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564
ภาพประกอบ gxnews.com.cn