• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • การประชุมสัมมนาการศึกษาตามแนวโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ครั้งที่ 3 ณ กรุงปักกิ่ง

การประชุมสัมมนาการศึกษาตามแนวโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ครั้งที่ 3 ณ กรุงปักกิ่ง

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2021  สถาบันวิทยาศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ (National Institute of Education Sciences) จัดการประชุมสัมมนาการศึกษาตามแนวโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ครั้งที่ 3 ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง โดยมีตัวแทนจากสถาบันวิจัย 44 แห่ง มหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐบาล และสถาบันด้านการศึกษาจาก 30 ประเทศตามแนวโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เข้าร่วมการประชุมออนไลน์ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

นายเถียน เสวียจวิน (Tian Xuejun) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของจีน  กล่าวในพิธีเปิดว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 กระทรวงศึกษาธิการจีนได้ออกนโยบายส่งเสริมการศึกษาตามแนวโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เป็นการเปิดของการศึกษาจีนสู่โลกภายนอก ช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จีนได้พัฒนานโยบายและกลไกด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงคุณภาพการศึกษา สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศ ส่งเสริมการศึกษาต่อในจีนสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ผลักดันความก้าวหน้าของความร่วมมือด้านการสอนและการวิจัย เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในอนาคตและช่วยให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ของ ค.ศ. 2030 ในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและพัฒนาระดับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เสริมสร้างคุณค่าของอารยธรรม และสร้างโลกที่ดีกว่าสำหรับ “ทุกคน”

นายเถียน เสวียจวิน (Tian Xuejun) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของจีน

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตและการทำงานของเราอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงการศึกษาด้วย ยิ่งเราเผชิญกับความท้าทายระดับโลกในด้านการศึกษามากเท่าไร ก็ยิ่งต้องใช้ความพยายามร่วมกันมากขึ้น ในการเสริมสร้างการเจรจาและปรึกษาหารือด้านนโยบาย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่เน้นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ปลัดกระทรวง อว. ได้กล่าวถึงนโยบาย Bio-Circular-Green หรือ BCG  ได้ถูกนำมาใช้เป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนตามจุดแข็งของประเทศ ได้แก่ อาหารและการเกษตร ยาและสุขภาพ พลังงาน วัสดุ ชีวเคมี การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งกระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน BCG Model ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างกำลังคนและการพัฒนาความรู้ควบคู่ไปกับการวิจัย และนวัตกรรมสำหรับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ การพัฒนาตามพื้นที่ และความครอบคลุม ในแง่ของการสร้างขีดความสามารถของมนุษย์ การเพิ่มการผลิตบัณฑิตในสาขา STEM หรือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยจัดให้นักศึกษามีทักษะในการถ่ายทอดสำหรับอาชีพในอนาคตโดยการส่งเสริมการวิจัยและการศึกษาที่เน้นผลลัพธ์ และการศึกษาแบบบูรณาการ

ในส่วนของการเสริมสร้างความเข้มแข็งการศึกษา STEM กระทรวง อว. ได้ร่วมมือกับ สถาบันวิทยาศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ ในเรื่องห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโครงการโรงเรียนในเครือมหาวิทยาลัยโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการศึกษา STEM และส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา ความร่วมมือที่เน้นการเรียนการสอนในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ในช่วงวิกฤต การผนึกกำลังระหว่างการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน และกล่าวย้ำว่า กระทรวง อว. ยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยในระดับทวิภาคีและพหุภาคีตลอดจนการสร้างเครือข่ายเชิงกลยุทธ์ระหว่างสถาบันต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันและส่งเสริม ความเป็นสากลของการศึกษาระดับอุดมศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย

นายเซี๊ยะ จื้อหาน (Xia Zehan) ผู้แทนของสำนักงาน องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโกประจำประเทศจีน กล่าวสุนทรพจน์ว่า กลไกความร่วมมือตามแนวโครงการ“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”  ได้เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวิชาการในระดับสูง และส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาที่ดีขึ้น และได้บรรลุถึงความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของการศึกษาในประเทศต่าง ๆ และการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน

นายเซี๊ยะ จื้อหาน (Xia Zehan) ผู้แทนของสำนักงาน องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโกประจำประเทศจีน

นายซุย เป่าซือ (Cui Baoshi) ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ  กล่าวว่า ด้วยความพยายามร่วมกันในการจัดสัมมนาเพื่อการศึกษาตามแนวโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และสร้างเครือข่ายการวิจัย ได้กำหนดหน้าที่ที่ชัดเจนในการวางตำแหน่งและเป้าหมายการพัฒนาที่สมบูรณ์ และได้จัดตั้งพันธมิตรการทำงานที่ค่อนข้างหลากหลายและค่อนข้างมั่นคง โดยการผลิตบุคลากรและความสำเร็จทางวิชาการที่มีคุณภาพและมีอิทธิพลและการพัฒนาไปสู่ชุมชนการศึกษาและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ

นายซุย เป่าซือ (Cui Baoshi) ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ

ในการประชุมได้กำหนดหัวข้อของเสวนาด้านการศึกษาครั้งนี้คือ “การวิจัย ความร่วมมือ และนวัตกรรม” โดยมีนายสวี่ หย่งจี๋ (Xu Yongji) รองอธิบดีกรมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการของจีน นายลี่ เซี่ยงหยาง (Li Xiangyang) คณบดีสถาบันยุทธศาสตร์เอเชียแปซิฟิกและระดับโลกของสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences)  และนาย Julian Fraillon ผู้อำนวยการโครงการความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของสมาคมประเมินการศึกษานานาชาติ ได้กล่าวรายงานประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายการวิจัยด้านการศึกษาตามแนวโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจำนวน 14 คนจากประเทศจีน รัสเซีย คิวบา นิวซีแลนด์ เยอรมนี มองโกเลีย กาตาร์ อียิปต์ สมาคมประเมินการศึกษานานาชาติ และประเทศอื่น ๆ และองค์กรระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นความก้าวหน้าของการวิจัยเกี่ยวกับนโยบายการศึกษา โดยจัดทำรายงานพิเศษเกี่ยวกับทิศทาง วิธีการ และเส้นทางการศึกษานานาชาติ ความร่วมมือและนวัตกรรมกรณีศึกษาในประเทศต่าง ๆ

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]