ไฮไลท์
- กว่างซีประกาศแผนปฏิบัติการยกระดับระเบียงขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2564 – 2566) โดยมุ่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในทุกมิติ ทั้งการขนส่งทางเรือ ทางรถไฟ ทางถนน และทางแม่น้ำ เพื่อเสริมสร้างบทบาทการเป็น “พื้นที่แห่งโอกาส” ในการพัฒนาความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกกับอาเซียน และการเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI)
- เป้าหมายสำคัญของแผนปฏิบัติดังกล่าว อาทิ การส่งเสริมบทบาทของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในฐานะ International Gateway ผ่านการพัฒนระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าเทียบเรือในทุกมิติ การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทุกรูปแบบให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางรถไฟ การเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการรองรับงานขนส่งและโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุน
โลจิสติกส์ต้องลดลง และการเสริมแกร่งให้แหล่งรองรับการค้าการลงทุนภายในมณฑล เพื่อส่งเสริมพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกของเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าไปอีกขั้น - การพัฒนาระเบียง NWLSC ในกว่างซีมีนัยสำคัญยิ่งต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีน กล่าวได้ว่า กว่างซีเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่ภาคธุรกิจไทยจะสามารถ “เชื่อมต่อ” เศรษฐกิจภายในประเทศของไทยให้เข้ากับเศรษฐกิจของจีนตะวันตกผ่านระเบียง NWLSC ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศแผนปฏิบัติการยกระดับระเบียงขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2564 – 2566) หรือที่เรียกสั้นๆว่า NWLSC (New Western Land and Sea Corridor) โดยมุ่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในทุกมิติ ทั้งการขนส่งทางเรือ ทางรถไฟ ทางถนน ทางแม่น้ำ และทางอากาศ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพในการบริการด้านการขนส่งให้มีความคล่องมากขึ้นอีก และเสริมสร้างบทบาทการเป็น “พื้นที่แห่งโอกาส” ในการพัฒนาความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกกับอาเซียน
เป้าหมายสำคัญของแผนปฏิบัติการยกระดับระเบียงขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก ระหว่างปี พ.ศ.2564 – 2566 มีดังนี้
—— บทบาทของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในฐานะ International Gateway มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก (ท่าเทียบเรือ เส้นทางเดินเรือ) ของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของขนาด (รองรับเรือบรรทุกขนาด 2-3 แสนตันได้จากทั่วโลก) ความเฉพาะด้าน (รองรับสินค้าหลายประเภท เช่น สินค้าโภคภัณฑ์อย่างแร่อลูมิเนียม รถยนต์ และสินค้าเกษตรสด) และความเป็นอัจฉริยะ (เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง บิ๊กดาต้า AI และ IoT) ท่าเรือเทียบมีปริมาณขนถ่ายสินค้าได้มากกว่า 400 ล้านตัน ตู้คอนเทนเนอร์ 8 ล้าน TEUs (ในจำนวนนี้ เป็นตู้สินค้าในระบบการค้าต่างประเทศ 1.6 ล้าน TEUs) เส้นทางเดินเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์มีมากกว่า 90 เส้นทาง (ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางเดินเรือต่างประเทศมากกว่า 60 เส้นทาง และเส้นทางเดินเรือสมุทรระยะไกลมากกว่า 19 เส้นทาง) และการบริการเส้นทางเดินเรือ (direct service) และบริการเรือด่วน (express vessel) ระหว่างกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ รวมถึงท่าเรือใกล้เคียงในอาเซียนให้มีความถี่มากขึ้น
—— โครงข่ายการคมนาคมขนส่งมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยมี “รถไฟ” เป็นเส้นทางหลัก และ “ถนน” (Express way) เป็นส่วนเสริม โดยเฉพาะการก่อสร้างส่วนต่อขยายเส้นทางรถไฟสายใหม่ในมณฑล เส้นทางรถไฟไปยังชายแดนเวียดนาม (ด่านผิงเสียง-Langson ด่านตงซิง-Mongcai และด่านหลงปัง-Caobang) และเส้นทางเชื่อมกับมณฑลรอบข้าง (โดยเฉพาะมณฑลกุ้ยโจว มณฑลหูหนาน และมณฑลกวางตุ้ง) การขยายงานก่อสร้างสถานีรถไฟขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ในท่าเรือชินโจว การก่อสร้างรางรถไฟเป็นเส้นคู่เข้า-ออกกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ และการสร้างถนนและสะพานเชื่อมเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ไว้ด้วยกัน การยกระดับประสิทธิภาพงานขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำซีเจียง (เชื่อมกับพื้นที่ปากแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง) การสร้างศูนย์ชลประทานหลายแห่งในลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำซีเจียง (เพื่อควบคุมระดับน้ำในการลำเลียงเรือบรรทุกสินค้าในแม่น้ำซีเจียง) และการขุดคลองขนส่งผิงลู่ (คล้ายคลองปานามา เพื่อเชื่อมแม่น้ำซีเจียงกับทะเลอ่าวเป่ยปู้ที่เมืองชินโจว)
—— ขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการรองรับงานขนส่งและโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้นอีก การขนส่งสินค้า “ทางรถไฟ” มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ เที่ยวขบวนรถไฟที่ให้บริการในโมเดลการขนส่ง “เรือ+รถไฟ” มีมากกว่า 8,500 เที่ยวขบวน (ลำเลียงตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 4.25 แสน TEUs) เที่ยวขบวนรถไฟจีน-เวียดนามผ่านด่านรถไฟผิงเสียงมีมากกว่า 1,500 เที่ยวขบวน การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนรวมโลจิสติกส์ต้องลดลง การยกระดับมาตรฐานและการพัฒนาโมเดลการบริการเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการผ่านพิธีการศุลกากรให้ก้าวหน้าไปอีกระดับ โครงข่ายเส้นทางบินมีความถี่มากขึ้น โมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal transportation) ระหว่างจีน-อาเซียนเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และส่งเสริมการใช้ “เอกสารการขนส่งฉบับเดียว” สำหรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
——การพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกของเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจในแพลตฟอร์มต่างๆ อาทิ เขตสาธิตเศรษฐกิจท่าอากาศยานหนานหนิง (Nanning Airport Economic Demonstration Zone) เขตทดลองความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามแดนกับเวียดนาม 3 แห่ง (อำเภอระดับเมืองตงซิง อำเภอระดับเมืองผิงเสียง และเมืองไป่เซ่อ) เขตนำร่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดนแบบครบวงจรแห่งชาติ 2 แห่ง (ในนครหนานหนิง และเมืองชายแดนฉงจั่ว) และเขตสินค้าทัณฑ์บน การส่งเสริมความร่วมมือด้านการผลิต (capacity) ระหว่างมณฑลและระหว่างประเทศมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น (เป็นฐานรองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรม) อุตสาหกรรมเลียบท่าเรือ เลียบชายแดน และรอบสนามบินเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การพัฒนานิคมโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรมประสบผลสำเร็จอย่างชัดเจน การส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์และงานโลจิสติกส์เฉพาะด้าน โดยเฉพาะโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น โลจิสติกส์สำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์สำหรับสินค้าทัณฑ์บน
บีไอซี เห็นว่า การอิ่มตัวทางเศรษฐกิจและนโยบายการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงของพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเล ทำให้พ่อค้านักลงทุนต้องหักพวงมาลัยมุ่งสู่ “จีนตะวันตก” เป็นจุดเริ่มต้นของ “กระแส Go West” หรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนสู่พื้นที่ตอนในทางภาคตะวันตกของประเทศจีน พร้อมกับปรากฎการณ์การไหลเข้าของแรงงานคืนถิ่นสู่ภาคตะวันตก ทำให้เศรษฐกิจและสังคมในจีนตะวันตกมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยที่การคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เป็นตัวจักรที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หลายมณฑลในจีนตะวันตก(และจีนตอนกลาง)จึงได้ร่วมกันพัฒนาและใช้ประโยชน์จากระเบียงขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (NWLSC) เพื่อสร้างช่องทางการค้า(ใหม่)กับต่างประเทศ โดย “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” ซึ่งมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้และเมืองชายแดนติดประเทศเวียดนาม เป็นหนึ่งในผู้เล่นตัวสำคัญของระเบียง NWLSC ในฐานะข้อต่อระหว่างพื้นที่จีนตอนในกับต่างประเทศ
การพัฒนาระเบียง NWLSC ในกว่างซีมีนัยสำคัญยิ่งต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีน กล่าวได้ว่า กว่างซีเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่ภาคธุรกิจไทยจะสามารถ “เชื่อมต่อ” เศรษฐกิจภายในประเทศของไทยให้เข้ากับเศรษฐกิจของจีนตะวันตกผ่านระเบียง NWLSC ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新网广西) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564
เว็บไซต์ www.gxzf.gov.cn (广西政府网) วันที่ 22 ตุลาคม 2564