ไฮไลท์
- การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในช่วงไตรมาสแรก ปี 2563 หดตัวลง 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ทั้งประเทศจีนลดลง 6.8%) มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 467,085 ล้านหยวน
- นอกจากนี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่งสูงถึง 5.7% โดยเฉพาะหมวดอาหาร สุรา ยาสูบเพิ่มขึ้น 19.1% เนื้อสุกรขยายตัวพุ่งสูงถึง 147.8% ขณะที่การค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มลดลง แบ่งเป็นเขตเมืองลดลง 15.6% และเขตชนบทลดลง 11%
- อุตสาหกรรมภาคการบริการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ชัดเจนมากที่สุด โดยเฉพาะร้านอาหารมีรายได้ลดลง 47.3% ขณะที่สินค้าค้าปลีกลดลง 12.1%
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในช่วงไตรมาสแรก ปี 2563 สรุปได้ดังนี้
เศรษฐกิจมหภาค ผลผลิตมวลรวม (GDP) มีมูลค่า 467,085 ล้านหยวน ลดลง 3.3% (YoY) ขณะที่ทั้งประเทศจีนลดลง 6.8%
ลำดับขั้นอุตสาหกรรม เป็นอุตสาหกรรมภาคการเกษตร 46,100 ล้านหยวน (+1.7%) อุตสาหกรรมภาคการผลิต 143,349 ล้านหยวน (-10.0%) และอุตสาหกรรมภาคการบริการ 277,636 ล้านหยวน (-0.1%)
ภาคการเกษตร มูลค่าการผลิตภาคเกษตร ป่าไม้ ปศุสัตว์และประมงเพิ่มขึ้น 1.9% ปริมาณการผลิตพืชผัก (+6.5%) สัตว์ปีกและไข่ (+9.6%) ปริมาณการผลิตเนื้อสุกร โค และแกะ 8.86 แสนตัน ปริมาณการผลิตสัตว์น้ำ 6.64 แสนตัน (+6.2%)
นอกจากนี้ การผลิตสุกรมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น (หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาแอฟริกาในสุกร หรือ African Swine Fever) มีจำนวนสุกร 16.7 ล้านตัว (เพิ่มขึ้น 4.4% จากไตรมาส 4/2562) โดยเป็นสุกรแม่พันธุ์ 1.89 ล้านตัน (+4.5%)
ภาคอุตสาหกรรม มูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมในบางสาขามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ การผลิตและส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า (+1.9%) การถลุง หล่อ และรีดโลหะนอกกลุ่มเหล็ก (+23.7%) การถลุง หล่อ และรีดโลหะกลุ่มเหล็ก (+29.4%) การผลิตอาหาร (+4.6%) และยาสูบ (+12%)
ภาคการบริการ มูลค่าเพิ่มในสาขาธุรกิจบริการส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง อาทิ อาหารเครื่องดื่ม (-41.1%) คมนาคมขนส่ง โกดัง และไปรษณีย์ (-14.9%) ค้าปลีกและค้าส่ง (-13.3%)
ภาคอสังหาริมทรัพย์ มูลค่าการลงทุนลดลง 7.9% พื้นที่จำหน่ยอาคารชุด 9.91 ล้านตร.ม. (-11.8%) ยอดจำหน่ายอาคารชุด 59,680 ล้านหยวน (-14.9%)
ภาวะเงินเฟ้อ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 5.7% โดยเฉพาะหมวดอาหาร สุรา ยาสูบ เพิ่มขึ้น 19.1% โดยพืชผักสดเพิ่มขึ้น 2.1% และเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น 147.8%
การใช้จ่ายของประชาชน มูลค่าการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเขตเมืองลดลง 15.6% ขณะที่เขตชนบทลดลง 11% หากแบ่งเป็นประเภทการบริโภค พบว่า ร้านอาหารลดลง 47.3% และสินค้าค้าปลีกลดลง 12.1%
รายได้ประชาชน รายได้เฉลี่ยที่ใช้จ่ายได้ 6,561 หยวน (หักอัตราเงินเฟ้อ ลดลง 3.3%) แบ่งเป็นรายได้เฉลี่ยที่ใช้จ่ายได้ของชาวเมือง 9,515 หยวน (-4.4%) และชาวชนบท 4,072 หยวน (-1.9%)
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 23 เมษายน 2563
เว็บไซต์ http://tjj.gxzf.gov.cn (广西统计局) วันที่ 17 เมษายน 2563
เครดิตภาพ www.freepik.com