ไฮไลท์
- การค้า e-Commerce ข้ามแดน (Cross Border Electronic Commerce – CBEC) เป็นเทรนด์ธุรกิจใหม่ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีมานี้ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบธุรกิจสู่ผู้บริโภค (B2C) และธุรกิจสู่ธุรกิจ (B2B)
- เพื่อเสริมสร้างมาตรฐานและส่งเสริม ecosystem ให้กับธุรกิจ CBEC ในจีน รัฐบาลกลางได้ทยอยอนุมัติการจัดตั้ง “เขตทดลองการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดนแบบครบวงจร” ทั่วประเทศจีน โดยในปี 2562 มีทั้งหมด 105 แห่ง
- เขตทดลอง CBEC แบบครบวงจรนครหนานหนิง เป็นเขตทดลอง CBEC เพียงแห่งเดียวในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งนอกจากมีฟังก์ชันด้าน CBEC แล้ว ยังครอบคลุมถึงธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การชำระบัญชี/เงินโอน โลจิสติกส์ พิธีการศุลกากร และการคืนภาษี
- ปัจจุบัน เขตทดลอง CBEC นครหนานหนิงมีบริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามแดนเข้าไปจัดตั้งแล้วมากกว่า 50 ราย ครอบคลุมธุรกิจผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์ม โลจิสติกส์ และคลังสินค้า อาทิ Alibaba / JD / LAZADA / SF Express และยังคงเปิดรับนักลงทุนอยู่
- เขตทดลอง CBEC นครหนานหนิงเป็นอีกช่องทางที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้เจาะตลาดผู้บริโภคภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่างของจีน โดยอาศัยความใกล้ชิดด้านทำเลที่ตั้ง ความสะดวกในการขนส่ง ความคุ้นเคยและการยอมรับสินค้าไทยของผู้บริโภคชาวจีน อีกทั้งยังมีคู่แข่งจำนวนไม่มาก
ปัจจุบัน ธุรกิจการค้าออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในโครงสร้างการค้าระหว่างเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยนครหนานหนิงเป็นที่ตั้งของ “เขตทดลองการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดนแบบครบวงจร” (Integrated Pilot Zones for Cross Border e-Commerce /中国跨境电子商务综合试验区)” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เขตทดลอง CBEC”
ช่วง 10 ปีมานี้ e-Commerce มีบทบาทในระบบเศรษฐกิจและสังคมจีน ชาวจีนนิยมซื้อ(ขาย)สินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะการค้า e-Commerce ข้ามแดน (CBEC) ซึ่งเป็นเทรนด์ธุรกิจใหม่ที่พัฒาอย่างรวดเร็วในหลายปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบธุรกิจสู่ผู้บริโภค (B2C) และธุรกิจสู่ธุรกิจ (B2B)
เพื่อเสริมสร้างมาตรฐานและส่งเสริม ecosystem ให้กับธุรกิจ CBEC ในจีน รัฐบาลกลางได้ริเริ่มการจัดตั้ง “เขตทดลองการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดนแบบครบวงจร” ที่นครหังโจว มณฑลเจ้อเจียงเป็นแห่งแรก (เมืองที่ตั้งของเครือบริษัท Alibaba) ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ปัจจุบัน จีนมีเขตทดลอง CBEC ทั้งหมดใน 105 เมือง และในปี 2562 ยอดการค้าข้ามแดนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มีมูลค่า 186,210 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 38.3%
“เขตทดลอง CBEC แบบครบวงจรนครหนานหนิง” ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 (บัญชีรายชื่อชุดที่ 3) ให้เป็นพื้นที่นำร่องการค้าออนไลน์เพียงแห่งเดียวของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งนอกจากฟังก์ชันด้าน CBEC แล้ว ยังครอบคลุมถึงธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การชำระเงิน โลจิสติกส์ พิธีการศุลกากร การคืนภาษี และการชำระบัญชีเงินโอน
เขตทดลอง CBEC นครหนานหนิง ได้กลายมาเป็นช่องทางสำคัญในการกระชับความร่วมมือทางการค้าระหว่างกว่างซี(จีน)-อาเซียน ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ทำให้ “อาเซียน” เป็นตลาดสำคัญในโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศของกว่างซี ทั้งการค้าทั่วไปและการค้าออนไลน์
ในปี 2562 ยอดธุรกรรมการค้าปลีกนำเข้า-ส่งออกผ่านระบบออนไลน์สูงถึง 34.89 ล้านรายการ อยู่อันดับที่ 37 ของประเทศ และตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนเมษายน 2563 การค้าปลีก CBEC มีจำนวน 6.82 ล้านรายการ รวมมูลค่า 284.01 ล้านหยวน โดยคาดว่าจะพุ่งทะลุหลักพันล้านหยวนในปี 2563
ผลการดำเนินงานของเขตทดลอง CBEC แบบครบวงจรนครหนานหนิงในปี 2562 มีดังนี้
- ดึงดูดธุรกิจด้าน CBEC ให้เข้าไปจัดตั้งธุรกิจแล้วมากกว่า 50 ราย ครอบคลุมธุรกิจผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์ม โลจิติกส์ และคลังสินค้า อาทิ Alibaba / com / LAZADA / SF Express / Best Logistics
- จัดตั้งศูนย์บิ๊กดาต้า ศูนย์สั่งซื้อสินค้าต่างประเทศ (Cross-border Bonded Direct Purchase Center) และคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับสาธารณะเช่าใช้
- พัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (Single window) ซึ่งช่วยให้การตรวจปล่อยพัสดุสินค้าข้ามแดนมีประสิทธิภาพรวดเร็วเป็นอย่างมาก
- LAZADA แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในอาเซียน ได้เข้ามาจัดตั้งใน “ศูนย์บริการนวัตกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามแดน” เพื่อการบ่มเพาะธุรกิจ การไลฟ์สดอีคอมเมิร์ซข้ามแดน และการฝึกอบรมอีคอมเมิร์ซข้ามแดนหลายภาษา เพื่อพัฒนา “ห่วงโซ่อุปทาน” ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดนจีน-อาเซียน
แผนการดำเนินงานของเขตทดลอง CBEC แบบครบวงจรนครหนานหนิง ปี 2563
- เร่งพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในเขตทดลอง CBEC เพื่อรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดนจีน-อาเซียนที่ตั้งเป้าหมายว่า มูลค่าการค้า CBEC จะเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัว และมีสัดส่วน 15% ของมูลค่าการค้าต่างประเทศในปี 2563
- เชิญชวนนักลงทุน CBEC รายใหม่ให้ได้อย่างน้อย 30 รายในปีนี้ และดึงดูดให้ผู้ประกอบการ CBEC เข้ามาตั้งคลังสินค้า 2-3 ราย ในช่วงครึ่งปีแรก
- พัฒนาโมเดลการสต็อกสินค้าทัณฑ์บนนำเข้าจากอาเซียน (สินค้าที่เข้ามาในคลังสินค้าทัณฑ์บน) โดยเฉพาะสินค้าที่มีชื่อเสียงของอาเซียน (ผลไม้) และผลิตภัณฑ์สำหรับแม่และเด็ก โดยใช้โอกาสจากการพัฒนาเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) และเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC)
- ปั้นให้ “นครหนานหนิง” เป็นศูนย์กระจายสินค้าและโลจิสติกส์ ศูนย์กลางการค้าขาย และศูนย์ธุรกรรมการชำระบัญชีด้วยสกุลเงินหยวนระดับภูมิภาคที่เชื่อมโยงตลาดจีนกับตลาดอาเซียนไว้ด้วยกัน
บีไอซี เห็นว่า ศูนย์ CBEC นครหนานหนิง เป็นอีกช่องทางที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์ในการเจาะตลาดผู้บริโภคภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่างของจีน โดยอาศัยความใกล้ชิดด้านทำเลที่ตั้ง ความสะดวกในการขนส่ง ความคุ้นเคยและการยอมรับสินค้าไทยของผู้บริโภคชาวจีน อีกทั้งยังมีคู่แข่งจำนวนไม่มาก
จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์ พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 21 เมษายน 2563
เว็บไซต์ www.nanning.gov.cn (南宁市人民政府门户网站) ประจำวันที่ 20 เมษายน 2563
เว็บไซต์ www.gov.cn (中华人民共和中央人民政府) ประจำวันที่ 8 เมษายน 2563
เว็บไซต์ www.dsb.cn (电商报) ประจำวันที่ 14 มกราคม 2563
รูปประกอบ www.pixabay.com/