ไฮไลท์
- นครหนานหนิงเร่งติดตามความคืบหน้าโครงการ “นิคมโลจิสติกส์ธัญพืชจีน-อาเซียน” ซึ่งมีไฮไลท์ที่น่าสนใจ คือ การเป็นแพลตฟอร์มเปิดให้ “ข้าว” จากอาเซียนใช้ขยายตลาดในมณฑลและกระจายไปยังมณฑลอื่นทั่วจีน
- นิคมแห่งนี้เป็นตลาดซื้อขายเฉพาะสินค้าธัญพืช ครอบคลุมทั้งกลุ่มสินค้าข้าวเปลือก ถั่ว และมันที่ยังไม่แปรรูป รวมถึงข้าว ธัญพืช (grain) น้ำมัน และอาหารที่แปรรูปแล้ว เป็นศูนย์โลจิสติกส์ธัญพืชขนาดใหญ่ที่ทันสมัยและเป็นสากล และเป็นตลาดกลางการนำเข้าธัญพืชจากอาเซียนเข้าสู่ประเทศจีน
- คาดว่านิคมแห่งนี้จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาของภาคธุรกิจธัญพืชในมณฑลและต่อยอดไปทั้งประเทศ รวมทั้งอาศัย “อาเซียน” เป็นจุดขาย โดยเป็นช่องทางการนำเข้า-ส่งออกธัญพืชระหว่างจีนกับอาเซียน และดึงดูดให้วิสาหกิจด้านธัญพืชของจีนและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในนิคมแห่งนี้
เทศบาลนครหนานหนิงเร่งติดตามความคืบหน้าโครงการ “นิคมโลจิสติกส์ธัญพืชจีน-อาเซียน” (中国-东盟粮食物流产业园) หลังจากที่ต้องหยุดชะงักเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งไฮไลท์ที่น่าสนใจ คือ การเป็นแพลตฟอร์มเปิดให้ “ข้าว” จากอาเซียนใช้ขยายตลาดในมณฑลและกระจายไปยังมณฑลทั่วประเทศจีน
ที่ผ่านมา นครหนานหนิงหรือเมืองอื่นๆ ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ยังไม่เคยมีตลาดซื้อขายขนาดใหญ่ในกลุ่มสินค้าธัญพืช นิคมแห่งนี้ได้รับการจัดตำแหน่ง (positioning) ให้เป็นตลาดซื้อขายเฉพาะกลุ่มสินค้าธัญพืช ครอบคลุมกลุ่มสินค้าข้าวเปลือก ถั่ว และมันที่ยังไม่แปรรูป รวมถึงข้าว ธัญพืช (grain) น้ำมัน และอาหารที่แปรรูปแล้ว เป็นศูนย์โลจิสติกส์ธัญพืชขนาดใหญ่ที่ทันสมัย เป็นสากล และเป็นตลาดกลางการนำเข้าธัญพืชจากอาเซียนเข้าสู่ประเทศจีน
นิคมแห่งนี้มีฟังก์ชันด้านการขายส่ง การจัดแสดงและขายตรง การตรวจสอบคุณภาพ การขนส่งและโลจิสติกส์ โกดังเย็น อีคอมเมิร์ซ บริการทางการเงิน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ โดยคาดว่านิคมแห่งนี้จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาของภาคธุรกิจธัญพืชในมณฑลและต่อยอดไปทั้งประเทศ รวมทั้งอาศัย “อาเซียน” เป็นจุดขาย โดยเป็นช่องทางการนำเข้า-ส่งออกธัญพืชระหว่างจีนกับอาเซียน และดึงดูดให้วิสาหกิจด้านธัญพืชของจีนและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในนิคมแห่งนี้
ตามรายงาน โครงการเฟสแรกมีมูลค่า(ตามสัญญา) 213.55 ล้านหยวน ใช้เวลาก่อสร้าง 692 วัน มีพื้นที่สิ่งปลูกสร้างมากกว่า 96,000 ตารางเมตร
บีไอซี เห็นว่า นิคมดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้ส่งออก “ข้าวไทย” สามารถใช้เป็นแพลตฟอร์มในการกระจายสินค้าเข้าสู่จีน ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงมีด่านที่ได้รับการอนุมัตินำเข้าธัญพืช (รวมถึงข้าว) หลายแห่ง อาทิ ด่านท่าเรือชินโจว (มีเส้นทางเดินเรือกับท่าเรือแหลมฉบัง) ด่านท่าเรือฝางเฉิงก่าง ด่านท่าเรือเป๋ยไห่ ด่านท่าเรือแม่น้ำอู๋โจว (ล่องถึงปากแม่น้ำเพิร์ลมณฑลกวางตุ้ง) รวมถึงด่านทางบกติดประเทศเวียดนาม เช่น ด่านโหย่วอี้กวาน ด่านสุยโข่ว และด่านหลงปัง
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกต้องศึกษาโควต้าการนำเข้าข้าวของประเทศจีน ซึ่งคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) จะกำหนดโควต้าการนำเข้าไม่เท่ากันในแต่ละปี ทั้งปริมาณการนำเข้าและบัญชีรายชื่อผู้นำเข้าที่ได้รับอนุมัติ
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (广西中新社) วันที่ 2 พฤษภาคม 2563
เครดิตภาพ www.freepik.com