แนวทางการรักษาเสถียรภาพของการค้าและการลงทุนต่างประเทศของจีน

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2563 กระทรวงพาณิชย์จีนจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับนโยบาย/แนวทางการรักษาเสถียรภาพพื้นฐานของการค้าและการลงทุนต่างประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการค้าทั้งในและ ตปท. ที่สำคัญในโอกาสก่อนการประชุมสองสภาประจำปี 2563 ของจีน โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1.นโยบายระดับประเทศ

1.1 รับรองการจัดหาสินค้าจำเป็นประจำวัน โดยภาพรวมในช่วงการระบาดของ COVID-19 ตลาดอุปทานในจีนถือว่าเพียงพอ ไม่มีการหยุดชะงักของอุปทานและการขาย จีนเน้นการทำงาน 3 ประการหลัก คือ

  • รับรองอุปทานในพื้นที่สำคัญ (นครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย และกรุงปักกิ่ง) โดยเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2563 พณ. จีนได้จัดตั้งกลไกรักษาอุปทานร่วมกัน 9 มณฑล (joint secure supply mechanism across nine provinces) ได้แก่ มณฑลหูเป่ย มณฑลอันฮุย มณฑลเจียงซี มณฑลซานตง มณฑลเหอหนาน มณฑลหูหนาน มณฑลกว่างซี มณฑลยูนนาน และนครฉงชิ่ง
  • เพิ่มการประสานงานของตลาดในประเทศ จัดตั้งกลไกรายงานประจำวันเพื่อตรวจสอบตลาดของสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน 8 ประเภท (ข้าว แป้ง น้ำมันพืช เนื้อ ไข่ นม ผลไม้ และผัก) รวมถึงกำหนดบริษัท 500 แห่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต ค้าส่ง ค้าปลีก e-commerce และการขนส่งเพื่อรับประกันการจัดหาและการจัดส่งสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ
  • การประยุกต์ใช้รูปแบบธุรกิจและการจัดส่งใหม่ ในช่วงการปิดเมืองของนครอู่ฮั่น หลายหน่วยงานของจีนได้ประสานงานกันรวมกลุ่มซื้อสินค้า (group purchasing) และแจกถุงผักเพื่อจัดส่งไปยังที่อยู่อาศัยของ ปชช. ในเขตเมือง เพื่อสนองความต้องการสินค้าจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวันของ ปชช.

1.2 ช่วยเหลือบริษัทที่ประกอบธุรกิจการค้าต่างประเทศ

  • ช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น ลดกรอบเวลาการคืนภาษีส่งออกจากกว่าสิบวันเหลือประมาณหนึ่งสัปดาห์ ขยายขอบเขตของเงินกู้เพื่อช่วยบริษัทแก้ไขปัญหาด้านเงินทุน เป็นต้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีประสิทธิภาพดี ทั้งนี้ หลังจากที่บริษัทส่งออกในจีนเผชิญกับปัญหาที่ไม่มีคำสั่งซื้อจาก ตปท. รบ. จีนได้ส่งเสริมให้บริษัทเหล่านี้นำมาขายในประเทศแทน ทำให้ในเดือน เม.ย. 2563 ยอดขายภายในประเทศของบริษัทส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17
  • เพิ่มประสิทธิภาพการกระจายสินค้าสำหรับตลาดต่างประเทศ ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ความต้องการของตลาดต่างประเทศลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความต้องการและไม่มีตลาด จีนจำเป็นต้องทำให้ตลาดดั้งเดิมและตลาดเกิดใหม่มั่นคง “เมื่อฝั่งตะวันตกมืด ฝั่งตะวันออกสว่าง” ดังเห็นได้จาก ในเดือน เม.ย. 2563 มูลค่าการค้าต่างประเทศจีนลดลงร้อยละ 4.9 แต่มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับประเทศตามแถบ BRI เพิ่มขึ้น รวมถึงอาเซียนที่ได้กลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีน จีนจะขยายการนำเข้าและส่งออกอย่างแข็งขัน และส่งเสริมความร่วมมือแบบเปิดกว้างกับทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง
  • ปลูกฝังธุรกิจรูปแบบใหม่และการค้ารูปแบบใหม่ ในหลายปีที่ผ่านมา Cross-border e-commerce และการจัดหาตลาดได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในปี 2563 จีนมีเขตทดลอง Cross-border e-commerce จำนวน 105 แห่ง (เพิ่มขึ้น 59 แห่ง) จีนจะส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ และส่งเสริมพลวัตใหม่ในการค้าต่างประเทศ และทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นจุดเน้นใหม่ของการพัฒนาการค้าต่างประเทศ

1.3 ขยายความต้องการภายในประเทศและส่งเสริมการบริโภคในด้านต่าง ๆ

  • เพิ่มประสิทธิภาพการกระจายตัวและผลักดันการพัฒนาร้านสะดวกซื้อ รวมถึงปรับปรุงมาตรฐาน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและคุณภาพของตลาดสด
  • ยกระดับถนนคนเดิน เนื่องจากถนนคนเดินมีอิทธิพลต่อการบริโภคอย่างมาก ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 จีนได้ปรับปรุงถนนคนเดินรวม 11 แห่ง และในปี 2562 ถนนคนเดินทั้ง 11 แห่งมีคนไปเดินมากกว่า 900 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 ทำรายได้ 125,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17
  • พัฒนาธุรกิจภาคบริการในชีวิตประจำวัน ธุรกิจร้านอาหารคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11 ของยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค สร้างงาน 21 ล้านตำแหน่ง โดยจีนจะส่งเสริมให้ธุรกิจร้านอาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อสุขภาพ ปลอดภัย รวมถึงจะส่งเสริมธุรกิจทำความสะอาดห้องพัก ซึ่งเป็นธุรกิจที่เชื่อมต่อทั้งในชนบทและในเมือง (ในชนบทมีแรงงานมาก ในเมืองมีความต้องการสูง) ในปี 2562 ธุรกิจทำความสะอาดห้องพักทำรายได้มากกว่า 690,000 ล้านหยวน

1.4 มาตรการรักษาการลงทุนจากต่างชาติ

  • ขยายการเปิดเสรี การเข้าถึงตลาด ลดจำนวนรายการข้อจำกัด/ข้อห้ามด้านการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ (negative list) และเปิดเสรีภาคการบริการ ผลักดันการเปิดเสรีของยุทธศาสตร์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจจิง-จิน-จี้ (Beijing-Tianjin-Hebei integration) เขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Economic Belt) และโครงการอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong -Hongkong-Macao Greater Bay Area) รวมถึงส่งเสริมการเปิดเสรีในพื้นที่ฐานอุตสาหกรรมเก่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกของจีน และสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว
  • พัฒนาเขตนำร่องการค้าเสรีและท่าเรือการค้าเสรี
  • ปรับปรุงสภาพแวดล้อมธุรกิจ เน้นการบังคับใช้กฎหมายการลงทุนต่างชาติ (Foreign Investment Law: FIL) สร้างสภาพแวดล้อมตลาดการแข่งขันที่เป็นธรรม คุ้มครองสิทธิตามกฎหมายและผลประโยชน์ของนักลงทุนชาวต่างชาติ คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนระยะยาวในจีน

1.5 การจัด China International Import Expo (CIIE) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 5-10 พ.ย. 2563 ณ นครเซี่ยงไฮ้ โดยมีพื้นที่จัดแสดงมากกว่า 5,000 ตารางเมตร รวมถึงมีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสาธารณะสุขกว่า 30 แห่งได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานดังกล่าวแล้ว

1.6 ผลักดันมาตรการขจัดความยากจน

  • การใช้ e-commerce เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรในชนบทหรืออำเภอยากจน ในปี 2562 ยอดค้าปลีกผ่าน e-commerce ในพื้นที่ยากจนมีมูลค่า 232,200 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การบริการทำความสะอาดช่วยบรรเทาปัญหาความยากจน โดย พณ. จีนได้เปิดตัวโครงการ “บริการทำความสะอาดในร้อยเมืองหมื่นหมู่บ้าน” ซึ่งสร้างงานให้ชาวชนบทและอำเภอยากจนในจีนมากกว่า 500,000 คน และยังผลักดันโครงการส่งออกแรงงาน แรงงานภาคอุตสาหกรรม และแรงงานภาคการค้าชายแดน ทั้งนี้ ในปี 2562 แรงงานจีนที่อยู่ต่างประเทศมีประมาณ 992,000 คน เป็นแรงงานที่มาจากอำเภอยากจนมากกว่า 50,000 คน

2.ระดับภูมิภาค

2.1 ร่วมมือกับประเทศตามแถบ BRI เพื่อแก้ไขปัญหาของบริษัทและโครงการใน ตปท. ที่ประสบปัญหาจากการระบาดของ COVID-19 รักษาห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ รวมทั้งจัดตั้งเขตการค้าเสรีเพิ่มเติม และเพิ่มความร่วมมือด้านการลงทุนกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น จากสถิติ 4 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการค้าระหว่างจีน-ประเทศตามแถบ BRI เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 และในปี 2556-2562 มูลค่าการค้าระหว่างจีน-ประเทศตามแถบ BRI อยู่ที่ 7.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการลงทุนใน ตปท. ที่ไม่ใช่ทางการเงิน (ODI) มากกว่า 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2.2 ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ปัจจุบัน ร้อยละ 80 ของการตรวจร่างทางกฎหมาย (legal scrubbing) เสร็จสิ้นแล้ว และตั้งเป้าว่าการตรวจร่างทางกฎหมายจะแล้วเสร็จภายในปลายเดือน มิ.ย. 2563 จีนสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง หากสามารถลงนามข้อตกลง RCEP ได้ภายในปี 2563 จะช่วยลดผลกระทบเชิงลบของการระบาดของ COVID-19 ต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้ได้

3.ระดับโลก

  • ร่วมมือกับสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อรักษาการดำเนินงานและบทบาทขององค์การ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จีนเชื่อว่าการรักษาการเปิดกว้าง ความปลอดภัย และเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานของห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างประเทศเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ฝ่ายจีนเรียกร้องให้สมาชิก WTO ต่อต้านเอกภาคีนิยมและการปกป้องทางการค้า เปิดตลาด และส่งเสริมเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุตสาหกรรมของการค้าระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันทั้งทางด้านนโยบายทางเศรษฐกิจและนโยบายการค้า เพื่อให้การขนส่งระหว่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น และเพื่อให้โลจิสติกส์ระหว่างประเทศดำเนินไปอย่างปกติ และเพื่อให้ห่วงโซ่การค้า ห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างประเทศเป็นไปอย่างปลอดภัย มั่นคง เปิดกว้างและราบรื่น

August 2017 International Trade Compliance Update

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]