ไฮไลท์
- บริษัท Gaoming Agricultural (高明农业) ได้นำเสนอให้เกษตรกรชาวสวนส้มในกว่างซีหันมาปลูก “ส้มโอทับทิมสยาม” ของไทย โดยเมื่อปี 2558 บริษัทฯ ได้นำกิ่งพันธุ์แท้ “ส้มโอทับทิมสยาม” เข้ามาทดลองปลูกในกว่างซีด้วยกระบวนการเสียบยอดที่ลำต้นบนต้นตอ (rootstock) ที่มีความทนทานต่อโรคและแมลง จนกระทั่งได้ต้นพันธุ์ส้มโอที่ได้คุณภาพและเหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศของประเทศจีน
- ต่อมา บริษัทรายนี้ได้เริ่มพัฒนาการปลูกส้มโอทับทิมสยามอย่างจริงจัง จนมีพื้นที่ปลูกกว่า 3,333 ไร่ และวางแผนขยายพื้นที่ปลูกให้ได้ 8,334 ไร่ แถมยังมีพื้นที่เพาะกล้าพันธุ์ส้มโอทับทิมสยามอีก 500 ไร่ ซึ่งสามารถเพาะกล้าพันธุ์ที่แข็งแรงปราศจากโรคพืชได้ถึง 3 ล้านต้น โดยบริษัทรายนี้พร้อมให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเทคนิคการปลูกและดูแลต้นส้มโอให้กับเกษตรกรที่นำกล้าพันธุ์ไปปลูกอีกด้วย
- แนวโน้มข้างต้นเป็นอีกสัญญาณเตือนให้ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้เมืองร้อนในจีนที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้าด้านการวิจัยและเทคโนโลยีทางการเกษตรของจีนเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ภาคเกษตรของจีนก้าวข้ามข้อจำกัดในอดีต และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในอนาคต โดยเฉพาะส่วนแบ่งทางการตลาดของผลไม้ไทยที่สามารถผลิตได้ในจีน และการเข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหม่ของเกษตรกรและผู้ค้าชาวจีน
สภาพภูมิอากาศของกว่างซีมีความใกล้เคียงกับประเทศไทย การเพาะปลูกพืชผลเกษตรไทยในกว่างซีจึงทำได้ไม่ยาก พืชหลายชนิดที่เคยปลูกได้ในประเทศเมืองร้อน(ไทย)ก็สามารถปลูกได้ทั่วไปในสภาพภูมิประเทศเขตกึ่งร้อนอย่างในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
หากกล่าวถึงผลไม้เมืองร้อน เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นพื้นที่ปลูกผลไม้เมืองร้อนแหล่งใหญ่ในประเทศจีน โดยเฉพาะผลไม้ตระกูลส้มที่มีพื้นที่ปลูกราว 1.85 ล้านไร่ โดยส้มซาถาง (Shatangju Orange/砂糖橘) และส้มว่อกาน (Wogan Orange/沃柑) เป็นซิกเนเจอร์ของส้มกว่างซี
อย่างไรก็ดี การปลูกส้มในกว่างซีกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหม่ เนื่องจากส้มที่เคยให้ผลตอบแทนสูงอย่างส้มซาถางที่ขายได้ราคาไร่ละ 4,000 กว่าหยวน หรือส้มว่อกานที่ขายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 20 หยวน จนเกษตรกรชาวสวนแห่กันไปปลูกเป็นจำนวนมาก มาวันนี้ ชาวสวนต้องประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด ขายไม่ได้ราคา ทำให้เส้นทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการปลูกส้มต้องมาถึง “ทางแยก” ที่ชาวสวนต้องเลือกว่าจะเดินต่อไปทางไหน
ในงานประชุมสุดยอดการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตพืชตระกูลส้มประจำปี 2563 และงานสัมมนาว่าด้วยอนาคตส้มโอทับทิมสยามของสวนเกษตรกาวหมิง ศาสตราจารย์เจียงตง (Jiang Dong/江东) นักวิจัยจากสถาบันวิจัยพืชตระกูลส้มได้นำเสนอถึงโอกาสทางเศรษฐกิจในการปลูก “ส้มโอทับทิมสยาม”
บริษัท Gaoming Agricultural (高明农业) ผู้จัดงานประชุมฯ ได้นำเสนอให้เกษตรกรชาวสวนส้มในกว่างซีหันมาปลูก “ส้มโอทับทิมสยาม” ของไทย โดยเมื่อปี 2558 บริษัทฯ ได้นำกิ่งพันธุ์แท้ “ส้มโอทับทิมสยาม” (และส้มโอเวียดนาม) เข้ามาทดลองปลูกในกว่างซีด้วยกระบวนการเสียบยอดที่ลำต้นบนต้นตอ (rootstock) ที่มีความทนทานต่อโรคและแมลง จนกระทั่งได้ต้นพันธุ์ส้มโอที่ได้คุณภาพและเหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศของประเทศจีน
ต่อมา ในปี 2561 บริษัทฯ ได้เริ่มพัฒนาการปลูกส้มโอทับทิมสยามอย่างจริงจัง จนมีพื้นที่ปลูกกว่า 3,333 ไร่ (ส้มโอเวียดนามอีก 1,250 ไร่) และวางแผนที่จะขยายพื้นที่ปลูกให้ได้ 8,334 ไร่ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีพื้นที่เพาะกล้าพันธุ์ส้มโอทับทิมอีก 500 ไร่ ซึ่งสามารถเพาะกล้าพันธุ์ที่แข็งแรงปราศจากโรคพืชได้ถึง 3 ล้านต้น โดยบริษัทรายนี้พร้อมให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเทคนิคการปลูกและดูแลต้นส้มโอให้กับเกษตรกรที่นำกล้าพันธุ์ไปปลูกอีกด้วย
นักวิชาการเกษตรของบริษัทฯ ได้ยกประเด็นผลตอบแทนที่น่าดึงดูดให้เกษตรกรหันมาปลูกส้มโอทับทิมสยามว่า ในซูเปอร์มาร์เก็ตระดับ Hi-End ในนครหนานหนิง ราคาขายของส้มโอทับทิมจากไทยตกลูกละ 298 หยวน หากราคารับซื้อหน้าสวนตกลูกละ 50-80 หยวน ต้นส้มโอที่ปลูกติดผลดกได้ผลผลิตต้นละ 200 ลูก เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนสูงถึงต้นละ 10,000 – 16,000 หยวน หากปลูกส้มโอทับทิมของไทยไว้ 1,000 ต้น นั่นหมายถึงผลกำไรมูลค่ามหาศาล
นายสวี่ ลี่หมิง (Xu Liming/许立明) ประธานสมาคมธุรกิจส้มกว่างซี แนะนำให้เกษตรกรชาวสวนส้มวางแผนและปรับสัดส่วนการปลูกส้มและส้มโอให้มีความสมดุล สำหรับเกษตรกรที่ปลูกส้มโอพันธุ์อื่นสามารถใช้เทคนิคการต่อกิ่ง นอกจากนี้ พื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ของมณฑลที่สภาพดินมีค่าความเป็นกรดก็สามารถปลูกส้มโอทับทิมสยามได้เช่นกัน
แนวโน้มข้างต้นเป็นอีกสัญญาณเตือนให้ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้เมืองร้อนในจีนที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้าด้านการวิจัยและเทคโนโลยีทางการเกษตรของจีนเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ภาคเกษตรของจีนก้าวข้ามข้อจำกัดในอดีต และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในอนาคต โดยเฉพาะส่วนแบ่งทางการตลาดของผลไม้ไทยที่สามารถผลิตได้ในจีน และการเข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหม่ของเกษตรกรและผู้ค้าชาวจีน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gxnews.com.cn (广西新闻网)
รูปประกอบ www.sina.com และ www.greenspace.market