กว่างซีพลิกโฉมการเกษตรสู่อุตสาหกรรมการเกษตรได้อย่างไร

 

ไฮไลท์

  • รัฐบาลกว่างซีกำลังสนับสนุนให้อำเภอต่างๆ พัฒนาอุตสาหกรรมที่มีลักษณะโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยเน้นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและบริการด้านการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้แต่ละอำเภอมีอุตสาหกรรมเสาหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคม เร่งแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ชนบท และยกระดับคุณภาพชีวิตสู่สังคมอยู่ดีกินดีแบบรอบด้าน
  • ความน่าสนใจของการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของกว่างซี คือ การสร้าง มูลค่าเพิ่ม(Value Added) ให้กับสินค้าเกษตรท้องถิ่นด้วยสิ่งที่ธรรมชาติได้รังสรรค์ให้ในท้องถิ่น โดยเน้นที่สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรปลอดสารพิษ และสินค้าเกษตรที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications – GI)
  • อำเภอต่างๆ ในประเทศไทยสามารถเรียนรู้และนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้ให้เข้ากับการพัฒนา โดยเฉพาะ การพัฒนา ขนาด(Scale) ให้การเกษตรก้าวเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม (Industrialization) ภายใต้การรวมกลุ่ม (Cluster) และการแบ่งงานกันทำ เพื่อนำไปสู่การเป็น อุตสาหกรรมการเกษตรมีผลิตภาพและคุณภาพสูง

 

รัฐบาลกว่างซีอยู่ระหว่างการสนับสนุนให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นระดับอำเภอพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยเน้นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและบริการด้านการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้แต่ละอำเภอมีอุตสาหกรรมเสาหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคม เร่งแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ชนบท และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนสู่เป้าหมาย “สังคมเสี่ยวคัง” หรือสังคมอยู่ดีกินดีแบบรอบด้าน

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (ปี 2559 – 2563) อุตสาหกรรมในอำเภอท้องถิ่นของกว่างซีมีแนวโน้มการพัฒนาที่ชัดเจน กล่าวคือ

  • ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและการลงทุนด้านการผลิตและแปรรูปในนิคมอุตสาหกรรมในอำเภอสำคัญๆ ได้เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง ส่วนหนึ่งเป็นผลสำเร็จจากแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ที่เป็นจุดเด่นให้มีคุณภาพสูงของกว่างซี ช่วยทำให้สินค้าเกษตรหลายชนิดมีผลผลิตมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เช่น อ้อย ผลไม้ พืชผัก หม่อนไหม ใบชา เห็ด และยาสมุนไพรจีน
  • ขณะที่อุตสาหกรรมการบริการได้มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยเฉพาะบริการด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากอำเภอหลายแห่งในกว่างซีมีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์ และมีการพัฒนาการท่องเที่ยวกับการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ความน่าสนใจของการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของกว่างซี คือ การสร้าง มูลค่าเพิ่ม(Value Added) ให้กับสินค้าเกษตรท้องถิ่นด้วยสิ่งที่ธรรมชาติได้รังสรรค์ให้ในท้องถิ่น โดยเน้นที่สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรปลอดสารพิษ และสินค้าเกษตรที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications – GI) ซึ่งปัจจุบัน กว่างซีมีสินค้าในกลุ่มดังกล่าวมากถึง 2,111 รายการ และมีสินค้าเกษตรที่อยู่ในบัญชีแบรนด์สินค้าเกษตรที่บ่งบอกถึงแหล่งผลิตระดับประเทศชุดแรก 11 แบรนด์ อาทิ มะม่วงไป่เซ่อ กล้วยหอมหนานหนิง ลิ้นจี่หลิงซาน ส้มเช้งฟู่ชวน และหอยนางรมชินโจว

บีไอซี เห็นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่นของกว่างซีมีลักษณะคล้ายกับการพัฒนาสินค้า OTOP ของประเทศไทย แตกต่างกันตรงที่ ขนาด(Scale) ที่อำเภอในกว่างซีมุ่งเป้าหมายการพัฒนาสู่ระบบอุตสาหกรรม (Industrialization) ภายใต้แนวทางการรวมกลุ่ม (Cluster) และการแบ่งงานกันทำ ทำให้อุตสาหกรรมการเกษตรมีผลิตภาพสูง สินค้ามีชื่อเสียง และมีคุณภาพมาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับในประเทศจีน ซึ่งอำเภอในประเทศไทยสามารถเรียนรู้และนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้ให้เข้ากับการพัฒนาได้

นอกจากนี้ การพัฒนาสินค้าที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และการสร้างการรับรู้ต่อสินค้า GI ในตลาดต่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย เนื่องจากสินค้า GI เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นผู้เล่นสำคัญในการช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าจากชุมชนที่จำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ส้มโอทับทิมสยาม ผลไม้ที่มีมูลค่าสูงในประเทศไทยที่บริษัท Gaoming Agriucutural (高明农业) ในนครหนานหนิง ได้นำกิ่งพันธุ์แท้เข้ามาทดลองปลูกในกว่างซี และส่งเสริมให้เกษตรกรท้องถิ่นหันมาปลูกในมณฑล โดยประเทศไทยต้องเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับส้มโอทับทิมสยามของไทยให้กับผู้บริโภคชาวจีน หากผลผลิตส้มโอทับทิมสยามในท้องถิ่นกว่างซีได้ทยอยออกสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างราคาและความต้องการนำเข้าในตลาดจีน  ก็เป็นได้

 

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์  พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2563
ภาพประกอบ www.freepik.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]