• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กว่างซีคาดเปิดใช้ “สะพานโค้ง” ที่ยาวที่สุดในโลก ได้ตามกำหนดในปลายปี 2563 นี้

กว่างซีคาดเปิดใช้ “สะพานโค้ง” ที่ยาวที่สุดในโลก ได้ตามกำหนดในปลายปี 2563 นี้

ไฮไลท์

  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง คาดว่าจะสามารถเปิดใช้ “สะพานผิงหนานแห่งที่ 3” ซึ่งจะเป็นสะพานโค้ง (Arch Bridge) ที่มีคานโค้งยาวที่สุดในโลก ด้วยความยาว 575 เมตร ได้ตามกำหนด ในช่วงปลายปี 2563
  • สะพานนี้ เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงด้านวิศวกรรมการออกแบบและก่อสร้างสะพานโดยชาวกว่างซี เทคโนโลยีทุกอย่าง “Created in Guangxi”
  • งานก่อสร้างสะพานโค้งแห่งนี้ ได้สร้างทฤษฎีใหม่ให้กับวงการวิศกรรมของโลก ด้วยความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการก่อสร้างที่ฉีกกฎเกณฑ์แบบเก่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างฐานยึดบนพื้นที่ที่สภาพทางธรณีวิทยาที่มีความซับซ้อน ระบบการชักรอกและเชื่อมชิ้นส่วนคานเหล็กส่วนโค้งบนที่สูง ซึ่งการทำงานทุกขั้นตอนต้องอาศัยความละเอียดและแม่นยำ

 

ผลงานด้านวิศวกรรมการก่อสร้างสะพานชิ้นโบว์แดงของชาวกว่างซีที่ได้รับการการันตีด้วยสถิติ “สะพานโค้ง” (Arch Bridge) ที่มีคานโค้งยาวที่สุดในโลกอย่าง “สะพานผิงหนานแห่งที่ 3” (3rd Pingnan Bridge /平南三桥) ปัจจุบัน ได้เชื่อมพื้นสะพานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าสามารถเปิดใช้งานได้ในช่วงปลายปี 2563

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “จีน” คือผู้นำด้านงานวิศวกรรมของโลก ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จีนมีอยู่ ทำให้จีนเป็นเจ้าของสถิติโลกในโครงการก่อสร้างหลายต่อหลายโครงการ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่าง “สะพาน” ซึ่งขณะนี้ จีนมีสะพาน (Highway bridge) มากกว่า 8 แสนแห่ง และสะพานสำหรับเส้นทางรถไฟอีกมากกว่า 2 แสนแห่ง

สะพานผิงหนาน แห่งที่ 3 ตั้งอยู่ในอำเภอผิงหนาน เมืองกุ้ยก่างของกว่างซี เป็นสะพานที่ใช้เชื่อมทางด่วนฝั่งเหนือของเมือง สะพานมีความยาว 1,035 เมตร คานเหล็กโค้งของตัวสะพานยาว 575 เมตร ลบสถิติของสะพานฉาวเทียนเหมิน (朝天门长江大桥) สะพานข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงในมหานครฉงชิ่งที่เคยครองสถิติโลกด้วยความยาวส่วนโค้ง 552 เมตร

การก่อสร้างสะพานแห่งนี้มีความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะสภาพทางธรณีวิทยาที่มีความซับซ้อนด้วยชั้นดินหลายประเภท ทั้งชั้นดินเหนียวปนทรายแป้ง (Silty clay) ชั้นหินกรวดซึมน้ำ และชั้นหินผุ ซึ่งต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างฐานสะพานโค้งที่มีขนาดใหญ่เป็นครั้งแรกในประเทศจีน เรียกว่าเทคนิคการก่อสร้าง “กำแพงทึบน้ำใต้ดิน” (Slurry Wall) แทนวิธีเจาะเสาเข็มที่มีปลายในชั้นหิน (Rock-socketed) เพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างในดิน เสริมความหนาแน่น และเพิ่มคุณสมบัติการรองรับแรงเพื่อใช้สร้างฐานยึดของสะพานที่มีความโค้งขนาดใหญ่ โดยฐานสะพานมีเส้นผ่านศูนย์กลางรอบนอก 60 เมตร ความลึกกว่า 40 เมตร ความหนา 6 เมตร ใช้คอนกรีตมากกว่า 14,042 ลูกบาศก์เมตร และต้องเทคอนกรีตให้เสร็จภายในครั้งเดียว

สะพานแห่งนี้เริ่มการก่อสร้างเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 คานโค้งสะพานมาจากการนำท่อเหล็ก 1,960 ชิ้น มาเชื่อมประกอบกันเป็นชิ้นใหญ่ จำนวน 44 ท่อน (หากนำท่อเหล็ก 1,960 ชิ้นเรียงต่อกันเท่ากับความสูงของ “หอไอเฟล” 14 หอวางซ้อนกัน) ท่อเหล็กชิ้นที่ใหญ่ที่สุด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4 เมตร สูง 3 เมตร ตัดเชื่อมจากแผ่นเหล็กขนาด 9.4 ตารางเมตร โดยเริ่มประกอบชิ้นส่วนคานเหล็กส่วนโค้งชิ้นแรกของสะพาน เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2562 และได้เชื่อมต่อชิ้นส่วนคานเหล็กส่วนโค้งชิ้นสุดท้ายเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 รวมใช้เวลาก่อสร้างคานเหล็กส่วนโค้งเพียง 90 วัน

งานติดตั้งโครงสร้างชิ้นส่วนคานเหล็กแต่ละชิ้นใช้ “ระบบรอกเคเบิล” (Cable-hoisting System) ซึ่งทีมงานได้คิดค้นและพัฒนาขึ้นเอง โดยเป็นการควบคุมเคเบิลเครนที่มีแรงยก 300 ตัน ด้วยระบบไฟฟ้า เคเบิลเครนสูง 200 เมตร หรือเท่ากับตึกสูง 68 ชั้น ระบบรอกเคเบิลประกอบด้วยระบบสายเคเบิลหลักกับระบบสายเคเบิลปฏิบัติงาน โดยสายเคเบิลเส้นหลักเป็นตัวรับแรงของระบบดังกล่าว สายเคเบิลเส้นหลักประกอบด้วยลวดสลิงควั่นเกลียว (locked coil wire lope) จำนวน 16 เส้น แต่ละเส้นมีความยาว 2,200 เมตร เคเบิลที่ใช้ในระบบชักรอกจากต้นถึงปลายมีความยาว 99,520 เมตร การติดตั้งคานเหล็กท่อนแรกมีความยาว 22 เมตร สูง 17 เมตร กว้าง 4.8 เมตร น้ำหนัก 156 ตัน หรือเท่ากับน้ำหนักของช้างแอฟริกา 19 ตัว รวมกัน

 

ล่าสุด ได้วางพื้นสะพานได้ดำเนินการแล้วเสร็จ พื้นสะพานได้มาจากการนำแผ่นพื้นสะพานวางเรียงและเชื่อมยึดเข้าด้วยกันรวม 37 ชิ้น แผ่น พื้นมาตรฐานมีความกว้าง 36.5 เมตร ความยาว 15.5 เมตร น้ำหนัก 142 ตัน ค่าความคลาดเคลื่อนในการเชื่อมต่อพื้นสะพานแต่ละชิ้นต้องไม่เกิน 2 มิลลิเมตร แผ่นพื้นสะพานแต่ละชิ้นใช้วิธีการขันน็อตและเชื่อมติดเพื่อยึดแผ่นพื้นแต่ละชิ้นไว้ด้วยกัน ใช้ตัวน็อตมากถึง 24,272 ตัว เป็นโครงสร้างหลักของตัวสะพานที่ใช้เหล็กมากถึง 15,000 ตัน ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว ในระยะต่อไป จะเป็นการรื้อถอนสายเคเบิลและเร่งก่อสร้างพื้นถนนสะพาน รวมถึงเก็บรายละเอียดเพื่อให้พร้อมเปิดใช้งานในช่วงปลายปี 2563 นี้

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ศูนย์ ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนณนครหนานหนิง
ที่มาเว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) วันที่ 1 กันยายน 2563
รูปประกอบ www.gxnews.com / www.sohu.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]