ไฮไลท์
- การขนส่งสินค้าด้วยรถไฟผ่าน “ด่านรถไฟผิงเสียง” กำลังเป็นทางเลือกใหม่ที่ได้รับความสนใจจากผู้นำเข้า-ส่งออกจีนกับอาเซียน สะท้อนได้จากเที่ยวขบวนรถไฟขนส่งสินค้าในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 2.3 เท่า (YoY)
- ปัจจุบัน หัวเมืองใหญ่ต่างๆ ในจีนมีการใช้ประโยชน์จากการขนส่งทางรถไฟเพื่อการค้าระหว่างประเทศผ่านด่านรถไฟผิงเสียงเพิ่มมากขึ้น อาทิ นครเจิ้งโจว (มณฑลเหอหนาน) เมืองไห่ติง (มณฑลเจียงซู) นครหนานหนิง (เขตฯ กว่างซีจ้วง) นครอู่ฮั่น (มณฑลหูเป่ย) นครเฉิงตู (มณฑลเสฉวน) และนครฉงชิ่ง
- เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางรถบรรทุกแล้ว การขนส่งทางรถไฟมีข้อได้เปรียบด้านศักยภาพการขนส่งได้ปริมาณมากในครั้งเดียว ช่วยให้ประหยัดต้นทุน มีบริการด้านพิธีการศุลกากรที่กระชับฉับไว ช่วยประหยัดเวลา ที่สำคัญ สามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายรถไฟจีนเพื่อกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ระยะไกล
ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้วยรถไฟผ่าน “ด่านรถไฟผิงเสียง” ขยายตัวสูงถึง 2.3 เท่า (YoY) สะท้อนให้เห็นว่า การค้าระหว่างจีนกับอาเซียนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น และการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟกำลังเป็นทางเลือกใหม่ที่ได้รับความสนใจจากผู้นำเข้า-ส่งออก
“ด่านรถไฟผิงเสียง” ตั้งอยู่ในอำภอระดับเมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นจุดข้ามแดนของขบวนรถไฟระหว่างประเทศเพียงแห่งเดียวระหว่างจีนกับกับอาเซียน (เวียดนาม) มีฟังก์ชันทั้งการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า (แยกกัน 2 จุด) และเป็นข้อต่อสำคัญของระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ หรือ ILSTC (New International Land-Sea Trade Corridor) ที่เชื่อมจีนกับอาเซียนและเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปได้
ที่สำคัญ ด่านแห่งนี้ยังเป็น “ด่านนำเข้าผลไม้ทางรถไฟ” เพียงแห่งเดียวของประเทศจีน โดยได้รับการอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในเวลานั้น สามารถนำเข้าได้เฉพาะผลไม้เวียดนาม และต่อมาได้รับการอนุมัติจาก GACC ให้เป็น “ด่านนำเข้าผลไม้จากประเทศที่สาม” รวมถึงผลไม้ไทย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 และมีการใช้ประโยชน์จริงแล้ว เป็นการพลิกโฉมการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน
ปัจจุบัน หัวเมืองใหญ่ในจีนมีการใช้ประโยชน์จากการขนส่งทางรถไฟเพื่อการค้าระหว่างประเทศผ่านด่านรถไฟผิงเสียงเพิ่มมากขึ้น อาทิ นครเจิ้งโจว (มณฑลเหอหนาน) เมืองไห่ติง (มณฑลเจียงซู) นครหนานหนิง (เขตฯ กว่างซีจ้วง) นครอู่ฮั่น (มณฑลหูเป่ย) นครเฉิงตู (มณฑลเสฉวน) และนครฉงชิ่ง
ตามข้อมูล พบว่า ระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2563 การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้วยรถไฟผ่าน “ด่านรถไฟผิงเสียง” มีจำนวน 269 เที่ยว เพิ่มขึ้น 187 เที่ยว (YoY) คิดเป็นอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.3 เท่า โดยสินค้าที่ส่งออกผ่านขบวนรถไฟ ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องจักรกล สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ส่วนสินค้าที่นำเข้าผ่านขบวนรถไฟ ได้แก่ ผลไม้เมืองร้อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินแร่ชนิดต่างๆ
ประโยชน์สำหรับผู้ส่งออกไทย เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางรถบรรทุกแล้ว การขนส่งทางรถไฟมีข้อได้เปรียบด้านศักยภาพการขนส่งได้ปริมาณมากในครั้งเดียว (ปริมาณการขนส่งเที่ยวละ 20-25 ตู้) การดำเนินพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสาร (e-Paperless) และบริการนัดหมายการเคลียร์สินค้าไว้ล่วงหน้าได้เหมือนด่านช่องทางอื่น (กรณีสินค้าไม่ต้องเปิดตรวจ ใช้เวลาเคลียร์สินค้าเพียง 30 นาที) อีกทั้งเป็นการเลี่ยงความเสียหายจากการจราจรที่แออัดของรถบรรทุกที่ด่านทางบก ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนเวลาได้มาก ที่สำคัญ สามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายรถไฟจีนเพื่อกระจายสินค้าในระยะไกลทั้งภายในจีนและเชื่อมต่อไปยังเอเชียกลางและยุโรปได้ ซึ่งล้วนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่าทางรถบรรทุก
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 21 กันยายน 2563
ภาพประกอบ https://dy.163.com/