• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • “สินค้าไทย” พร้อมหรือไม่ สนามบินหนานหนิงเปิดใช้ “คลังสินค้าระหว่างประเทศ” แห่งใหม่ กรุยทางสู่ Hub ขนส่งสินค้ากับอาเซียน

“สินค้าไทย” พร้อมหรือไม่ สนามบินหนานหนิงเปิดใช้ “คลังสินค้าระหว่างประเทศ” แห่งใหม่ กรุยทางสู่ Hub ขนส่งสินค้ากับอาเซียน

ไฮไลท์

  • ความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจการค้า และยุทธศาสตร์ Gateway to ASEAN ในทุกมิติ ทำให้ ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงกลายเป็นหนึ่งในกลไกที่รัฐบาลกว่างซี(จีน) กำหนดตำแหน่งให้เป็น Hub การบินที่ใช้เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านการค้าสินค้าและภาคประชาชนกับประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นด่านสากลทางอากาศที่สำคัญของจีนและเป็นหนึ่งในสนามบินที่เหมาะสมในการรองรับอากาศยานเมื่อต้องลงจอดระหว่างทางในเส้นทางบินระหว่างประเทศ (alternate airport)
  • เพื่อขยายขีดความสามารถในการขนถ่ายสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศของ ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง ที่มีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2564 ท่าอากาศยานแห่งนี้ได้เปิดใช้ คลังสินค้าระหว่างประเทศ” แห่งใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว โดยแยกการทำงานออกจากการขนส่งสินค้าทางอากาศในประเทศ
  • ปัจจุบัน ท่าอากาศยานแห่งนี้มีเที่ยวบินคาร์โก้หลายเส้นทาง รวมถึงเที่ยวบินคาร์โก้ “นครหนานหนิง-กรุงเทพฯ” ด้วย ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการเที่ยวปฐมฤกษ์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ด้วยเครื่องบินคาร์โก้รุ่น B757-200F ความจุ 29 ตันของ China Postal Airlines โดยมีบริษัท Guangxi Tianhang Internatinal Supply-Chain Co.,Ltd เป็นผู้ดำเนินการ
  • “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” เป็นอีกหนึ่งช่องทางใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ ในการบุกเบิกตลาดสินค้าสัตว์น้ำมีชีวิต กล้วยไม้ไทย และสินค้าทั่วไปที่ซื้อขายในรูปแบบ Cross-border e-Commerce เพื่อเจาะตลาดจีนตอนใต้ได้
  • ในอนาคต ภายหลังจากที่ “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานแห่งนี้ได้พัฒนาแล้วเสร็จ และผ่านการตรวจรับจาก GACC แล้ว ท่าอากาศยานแห่งนี้จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยสร้าง “โอกาส” ให้กับผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก ผลไม้เกรดพรีเมียม รวมถึงผลไม้มีเงื่อนไขด้านเวลาและการขนส่ง (บอมช้ำง่าย เน่าเสียง่าย) อาทิ ลองกอง ขนุน ชมพู่ มะขาม จากผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้ง 22 ชนิดได้อีกด้วย

 

มีความเคลื่อนไหวให้เห็นอย่างต่อเนื่องสำหรับ ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (Nanning Wuxu International Airport/南宁吴圩国际机场) หลังจากที่เมื่อเดือนกันยายน 2564 เพิ่งได้รับอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC ให้จัดตั้ง “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานเพื่อรองรับการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง ได้เปิดใช้ คลังสินค้าระหว่างประเทศ” แห่งใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากที่ได้ผ่านการตรวจรับจากสำนักงานศุลกากรหนานหนิงเป็นที่เรียบร้อย โดยคาดหมายว่า คลังสินค้าแห่งใหม่นี้จะช่วยขยายขีดความสามารถในการขนถ่ายสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น (แยกการทำงานออกจากการขนส่งสินค้าทางอากาศในประเทศ)

ตามรายงาน  คลังสินค้าระหว่างประเทศแห่งใหม่นี้ มีพื้นที่รวม 8,200 ตร.ม. พร้อมรองรับการขนถ่ายสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศได้ 80,000 ตัน/ปี เป็นคลังสินค้าระหว่างประเทศที่มีฟังก์ชันรองรับการนำเข้า-ส่งออกอย่างครบครัน ทั้งสินค้าทั่วไป พัสดุส่งด่วนและไปรษณียภัณฑ์ รวมถึงสินค้ามีชีวิต (สนามบินแห่งนี้เป็นด่านที่ได้รับอนุมัติให้เป็นด่านนำเข้าสินค้ามีชีวิต และเคยนำเข้ากุ้งขาวแวนนาไมค์ (Penaeusvannamei) มีชีวิตจากไทยด้วย)

ด้วยความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจการค้า และยุทธศาสตร์ Gateway to ASEAN ในทุกมิติ ทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงกลายเป็นหนึ่งในกลไกที่รัฐบาลกว่างซี(จีน) กำหนดตำแหน่งให้เป็น Hub การบินที่ใช้เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านการค้าสินค้าและภาคประชาชนกับประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นด่านสากลทางอากาศที่สำคัญของจีนและเป็นหนึ่งในสนามบินที่เหมาะสมในการรองรับอากาศยานเมื่อต้องลงจอดระหว่างทางในเส้นทางบินระหว่างประเทศ (alternate airport)

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การบินพาณิชย์เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะช่วงต้นของการระบาดที่มีมาตรการจำกัดการเดินทาง ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมาก สายการบินได้ทยอยปรับตัวด้วยการหันมาขนส่งสินค้าแทนผู้โดยสาร

สำหรับเที่ยวบินคาร์โก้ “นครหนานหนิง-กรุงเทพฯ” ได้เริ่มเปิดให้บริการเที่ยวปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เวลา 15:49 น. ด้วยเครื่องบินคาร์โก้รุ่น B757-200F ความจุ 29 ตันของ China Postal Airlines โดยมีบริษัท Guangxi Tianhang Internatinal Supply-Chain Co.,Ltd (广西天航国际供应链有限公司) เป็นผู้ดำเนินการ

สินค้าที่ขนส่งมาที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นไปรษณีย์ภัณฑ์ที่สั่งซื้อผ่านระบบ Cross-border e-Commerce สินค้าทั่วไป และชิ้นส่วนที่ใช้ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง ขณะที่สินค้าที่รับจากกรุงเทพฯ กลับไปที่นครหนานหนิง ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล ปลาสวยงาม ดอกกล้วยไม้ และพืชผัก

สถิติข้อมูลด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง มีดังนี้

  • ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด จาก 821.7 ตันในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 2,294.99 ตันในปี 2562 (1.8 เท่า) และเพิ่มขึ้นเป็น 10,858.4 ตันในปี 2563 (3.7 เท่า)
  • ข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ท่าอากาศยานแห่งนี้มีปริมาณการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ รวม 14,730.29 ตัน เพิ่มขึ้น 77% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 และเพิ่มขึ้น 11.5 เท่าจากช่วงเดียวกันของปี 2562
  • เส้นทางบินคาร์โก้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีเส้นทางบินคาร์โก้กับนครโฮจิมินห์ของเวียดนาม กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ กรุงพนมเปญของกัมพูชา กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย สิงคโปร์ กรุงธากาของบังกลาเทศ กรุงกาฐมัณฑุของเนปาล มีเครื่องบินคาร์บินประจำการอยู่ 2 ลำ

 

บีไอซี เห็นว่า “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” เป็นอีกหนึ่งช่องทางใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ ในการบุกเบิกตลาดสินค้าสัตว์น้ำมีชีวิต กล้วยไม้ไทย และสินค้าทั่วไปที่ซื้อขายในรูปแบบ Cross-border e-Commerce เพื่อเจาะตลาดจีนตอนใต้ได้

ปีนี้ นครหนานหนิงเตรียมขยายโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งนี้ให้มีศักยภาพรองรับงานขนส่งทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้น อาทิ ทางวิ่งเส้นที่ 2 ความยาว 3.8 กิโลเมตร รวมทั้งการเร่งเตรียมการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่ 3 (Terminal 3) และคลังสินค้า เพื่อให้มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 48 ล้านคนครั้ง และปริมาณสินค้า 5 แสนตัน

ทั้งนี้ ผู้ค้าไทยสามารถใช้จุดได้เปรียบจากทำเลที่ตั้ง เพื่อใช้ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังเมืองและมณฑลต่างๆ โดยไม่จำกัดรูปแบบการขนส่งเชื่อมต่อเฉพาะเครื่องบินเท่านั้นแต่ยังสามารถใช้รูปแบบการขนส่งทางถนนและทางรถไฟที่เชื่อมโยงถึงกันได้อีกด้วย

ในอนาคต ภายหลังจากที่ “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานแห่งนี้ได้พัฒนาแล้วเสร็จ และผ่านการตรวจรับจาก GACC แล้ว ท่าอากาศยานแห่งนี้จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยสร้าง “โอกาส” ให้กับผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก ผลไม้เกรดพรีเมียม รวมถึงผลไม้มีเงื่อนไขด้านเวลาและการขนส่ง (บอมช้ำง่าย เน่าเสียง่าย) อาทิ ลองกอง ขนุน ชมพู่ มะขาม จากผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้ง 22 ชนิดได้อีกด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา   เว็บไซต์ www.gxchinanews.com (中新社广西) วันที่ 26 ตุลาคม 2564 และวันที่ 01 พฤศจิกายน 2564
        เว็บไซต์ http://zn.caac.gov.cn (中国民用航空中南地区管理局) วันที่ 28 ตุลาคม 2564
        เว็บไซต์ http://www.nnnews.net  (南宁新闻网) วันที่ 16 สิงหาคม 2564

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]