• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กว่างซีลุยพัฒนาโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตอบโจทย์รัฐ-เอกชน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

กว่างซีลุยพัฒนาโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตอบโจทย์รัฐ-เอกชน – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)


ไฮไลท์

  • ธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสารของกว่างซียังคงรักษาระดับการเติบโตที่รวดเร็ว รายได้ผลประกอบการมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีมานี้ ธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสารขยายตัวเฉลี่ยมากกว่าปีละ 50% ยอดรายได้สะสมสูงกว่า 1.69 แสนล้านหยวน เติบโตเฉลี่ยปีละ 3.9%
  • กว่างซีประสบความสำเร็จในการผลักดันการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบสัญญาณ 5G และศูนย์ข้อมูลกับศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor – CAIH) ซึ่งเป็นแม่ข่ายเชื่อมเครือข่ายโทรคมนาคมและการสื่อสารของจีนกับอาเซียน
  • รัฐบาลกว่างซีให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างมาก โดยกำหนดให้ “เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง” ของนครหนานหนิงเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศของมณฑล รัฐบาลกว่างซีได้เริ่มแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลดิจิทัล และสังคมดิจิทัล โดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี Big Data ปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) คลาวด์คอมพิวติ้ง เมืองอัจฉริยะ ดาวเทียมเป่ยโต้ว การผลิตอัจฉริยะ และศูนย์กลางการเงิน

 

รัฐบาลกว่างซีประกาศความสำเร็จในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 13 (ระหว่างปี 2559-2563) โดยธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสารของกว่างซียังคงรักษาระดับการเติบโตที่รวดเร็ว รายได้ผลประกอบการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 5 ปีมานี้ ธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสารมีการขยายตัวเฉลี่ยมากกว่าปีละ 50% ยอดรายได้สะสมสูงกว่า 1.69 แสนล้านหยวน เติบโตเฉลี่ยปีละ 3.9%

ช่วง 5 ปีมานี้ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารใน 4 ด้านหลัก คือ

  1. โครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย (Network infrastructure) ที่ได้รับการพัฒนาและยกระดับให้ก้าวไปอีกขั้น โดยมีเครือข่ายโทรคมนาคมครอบคลุมทุกพื้นที่และการรองรับการใช้งานของเครือข่าย (Carrying capacity) ที่เสถียร
  2. โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่สามารถรองรับการใช้งานขั้นพื้นฐานแล้ว เคเบิลมีความยาวรวม 1.947 ล้านกิโลเมตร มีชุมชนกว่า 2 หมื่นแห่งที่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 1GB และโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงเข้าถึงพื้นที่ชนบททุกหมู่บ้านทั่วมณฑล
  3. โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารที่ครอบคลุมพื้นที่ชนบททุกหมู่บ้าน ปัจจุบัน สถานีฐาน 4G มีจำนวน 1.76 แสนสถานี ครอบคลุมพื้นที่ชนบทห่างไกลถึง 96.2% ทั่วมณฑล
  4. โครงสร้างพื้นฐานระบบสัญญาณ 5G ที่กำลังก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ภายในปลายปี 2563 นี้ ทั่วมณฑลจะมีสถานีฐาน 5G มากกว่า 2 หมื่นสถานี ครอบคลุมพื้นที่เขตตัวเมือง/ตัวอำเภอสำคัญทั่วมณฑล และจะมีผู้ใช้งาน 5G มากกว่า 10 ล้านคน

ปัจจุบัน บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมทั้ง China Telecom และ China Mobile ได้ลงทุนก่อสร้างศูนย์ข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดใหญ่ (Data Center) ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงของนครหนานหนิง ซึ่งสามารถรองรับชั้นวางชุดอุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์เน็ตเวิร์ก (Rack Cabinet) ได้เกือบ 30,000 ตู้ และจะมีบทบาทสำคัญในการทำงานร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor – CAIH) และเป็นแม่ข่ายสำคัญในการเชื่อมต่อเครือข่ายโทรคมนาคมและการสื่อสารระหว่างจีนกับอาเซียน

ศูนย์ข้อมูลของ China Telecom มีชื่อว่า ASEAN International Information Park (中国电信东盟国际信息园数据中心) มีพื้นที่ 39 ไร่ มีพื้นที่สำหรับสิ่งปลูกสร้าง 1.06 แสน ตร.ม. ใช้เงินลงทุน 2,500 ล้านหยวน มีชั้นวาง Rack Cabinet จำนวน 13,000 ตู้ คาดว่าโครงการเฟสแรกพร้อมใช้งานได้ในสิ้นปี 2563 นี้

ศูนย์ข้อมูลของ China Mobile มีชื่อว่า China Mobile (Guangxi) Data Center (中国移动(广西)数据中心) มีพื้นที่ 34 ไร่ มีพื้นที่สำหรับสิ่งปลูกสร้าง 1.6 แสน ตร.ม. ใช้เงินลงทุน 2,800 ล้านหยวน สามารถรองรับชั้นวาง Rack Cabinet ได้มากกว่า 13,000 ตู้ สามารถฝากวางเซิร์ฟเวอร์ได้ 1.5 แสนเครื่อง และสามารถให้บริการธุรกิจได้มากกว่า 2 หมื่นราย โดยเฉพาะธุรกิจอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูด (Automatic Speech Recognition – ASR) การ์ตูนแอนิเมชัน และนวัตกรรมยานยนต์อัจฉริยะ (Internet of Vehicle – IoV)

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564-2568) รัฐบาลกว่างซีจะมุ่งเน้นการพัฒนาระบบโทรคมนาคมและการสื่อสาร 5G ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ Digital Guangxi (คลาวด์ บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ และบล็อกเชน) และระบบเครือข่ายสารสนเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงข่ายพื้นฐานและการประยุกต์การใช้งาน รวมถึงการผลักดันโครงการสนับสนุนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ CAIH และการเพิ่มศักยภาพของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่ออุตสาหกรรม (Industrial Internet of Things – IIoT)

บีไอซี ขอให้ข้อมูลว่า หลายปีมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างมาก โดยกำหนดให้ “เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง” ของนครหนานหนิงเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศของมณฑล รัฐบาลกว่างซีได้เริ่มแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลดิจิทัล และสังคมดิจิทัล โดยมุ่งส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี Big Data ปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) คลาวด์คอมพิวติ้ง เมืองอัจฉริยะ ดาวเทียมเป่ยโต้ว การผลิตอัจฉริยะ และศูนย์กลางการเงิน

ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีเร่งส่งเสริมผลักดันโครงการต่างๆ ที่เป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในมณฑล อย่างเช่นศูนย์ CAIH ที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งเป็นคีย์โปรเจกต์ที่รัฐบาลจีนตั้งใจพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านสารสนเทศและการสื่อสารระหว่างจีนกับอาเซียน การพัฒนาเทคโนโลยี 5G เชิงพาณิชย์ที่แรกในจีน ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ Tus City (启迪之星) ศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะจีน-อาเซียน (China-ASEAN Smart City Innovation Center- CASC/中国—东盟新型智慧城市协同创新中心) และเขตนิคมอุตสาหกรรมอีกหลายโครงการ

ในฐานะที่กว่างซีได้รับการกำหนดให้เป็น “ประตูสู่อาเซียน” และข้อต่อยุทธศาสตร์ “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative – BRI) การปฏิวัติสารสนเทศในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีและเหมาะสมในการผลักดันความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับอาเซียนและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของกว่างซีให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 29 ตุลาคม 2563
ภาพประกอบ http://fgw.nanning.gov.cn , www.dx2025.com และ www.freepik.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : stsbeijing@mhesi.go.th

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: stsbeijing@mhesi.go.th