• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • จีนกำหนดภารกิจสำคัญของงานด้านเศรษฐกิจประจำปี 2564 – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

จีนกำหนดภารกิจสำคัญของงานด้านเศรษฐกิจประจำปี 2564 – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

เมื่อวันที่ 16-18 ธ.ค. 2563 การประชุม Central Economic Work Conference (CEWC) ประจำปี 2564 ของจีนจัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นการประชุมที่มีประธานาธิบดีจีนและนายกรัฐมนตรีจีนเข้าร่วมเพื่อวิเคราะห์สถานกรณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมทั้งกำหนดแนวทางนโยบายของงานด้านเศรษฐกิจในปี 2564

1. เสริมสร้างขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศจีน โดยมีนโยบาย (1) ระดับประเทศ รัฐบาลกลางเป็นผู้นำและผู้กำหนดทิศทางด้านนวัตกรรมทางทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2) ระดับท้องถิ่น สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมระหว่างประเทศและศูนย์นวัตกรรมประจำภูมิภาค (3) สถาบันวิจัย สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วิจัยวิชาพื้นฐาน และเร่งจัดทำแผนงานการปฏิบัติระยะ 10 ปีของการวิจัยวิชาพื้นฐาน (4) วิสาหกิจ สนับสนุนบริษัทชั้นนำในการจัดตั้งกลุ่มนวัตกรรม รวมทั้งกระตุ้นนวัตกรรมของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ (5) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น

2. เสริมสร้างขีดความสามารถในการควบคุมห่วงโซ่ธุรกิจและห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการผลักดันการพัฒนารูปแบบใหม่ “นโยบายเศรษฐกิจแบบวงจรคู่ (dual circulation)” (หมายถึงการยึดตลาดในประเทศเป็นแกนหลัก ขณะที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้) โดยเฉพาะเร่งแก้ไขปัญหาข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็น “ปัญหาบีบคอ (stranglehold problem)” เช่น ปัญหาอันสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯ ที่นำไปสู่ข้อจำกัดเกี่ยวกับชิ้นส่วนพื้นฐาน วิธีการผลิตพื้นฐาน และวัสดุพื้นฐานที่สำคัญ เป็นต้น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จีนเองยังพัฒนาไปไม่ถึงขั้นที่จะพึ่งพาตนเองได้

3. ยืนหยัดในการขายอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งการมีตลาดภายในประเทศที่แข็งเกร่งเป็นตัวสำคัญในการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจแบบวงจรคู่ โดยมีนโยบาย เช่น ส่งเสริมการจ้างงานเพื่อให้ประชาชนมีรายได้มากยิ่งขึ้น ปรับปรุงระบบประกันสังคมและระบบกระจายรายได้ให้สมบูรณ์แบบ ขยายกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลาง (กลุ่มคนจีนที่มีรายได้ 2,000 – 5,000 หยวนต่อเดือน) ยกเลิกข้อจำกัดด้านการบริโภค (เช่น การซื้อรถยนต์) และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัย เป็นต้น

4. ผลักดันการปฏิรูปและเปิดประเทศในรอบด้าน โดยจะผลักดันการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งปรับปรุงสร้างสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจในระดับสากลที่เป็นไปตามกฎหมายและกลไกตลาด ตลอดจนพิจารณาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)

5. เร่งแก้ไขปัญหาเมล็ดพันธุ์และที่ดินเพื่อการเกษตร เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหา โดยจะจัดตั้งคลังเมล็ดพันธุ์ รักษาที่ดินเพื่อการเกษตรของประเทศไม่ให้ต่ำกว่า 1,800 ล้านหมู่ (ประมาณ 750 ล้านไร่) ตลอดจนดำเนินโครงการอนุรักษ์ดินดำซึ่งเป็นดินที่เหมาะกับการเกษตรมากกว่าดินทั่วไป มีมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และโครงการแก้ไขปัญหามลพิษจากการเกษตร เป็นต้น

6. กระชับการต่อต้านการผูกขาดตลาดและการขยายตัวที่ไม่เป็นระเบียบของเงินทุน โดยย้ำว่า นวัตกรรมทางการเงินต้องดำนเนินการภายใต้ระเบียบข้อบังคับที่ระมัดระวัง (prudential regulation) ทั้งนี้ จีนจะปรับปรุงกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สมบูรณ์แบบต่อไป เช่น การประเมินการผูกขาดตลาดของบริษัทแพลตฟอร์มออนไลน์ การเก็บและการใช้ข้อมูล (data) และการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เป็นต้น

7. เร่งแก้ไขปัญหาที่พักอาศัยในเมืองขนาดใหญ่ โดยจะยืนหยัดหลักการ “บ้านพักมีไว้เพื่ออยู่อาศัยมิใช่เพื่อเก็งกำไร” โดยเฉพาะการปรับปรุงนโยบายของการเช่าบ้านระยะยาว (1 ปีขึ้นไป) ให้สมบูรณ์แบบ ซึ่งหลัง กปช. มีผู้สังเกตการณ์มองว่า รบ.จีนอาจหมายถึง บ.ตั้นเขอ (Danke Apartment)  ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการเช่าบ้านระยะยาวในเมืองใหญ่ต่าง ๆ ในจีน ประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุน และทำให้เกิดปัญหาระหว่าง “ผู้เช่าบ้าน-เจ้าของบ้าน-บ.ตั้นเขอ-บริษัทที่ปล่อยเงินกู้ค่าเช่าบ้าน” โดยที่ บ.ตั้นเขอ เป็นบริษัทที่มีกิจการครอบคลุมหลายมณฑลทั่วประเทศ การที่ บ.ตั้นเขอประสบปัญหาดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในหลายพื้นที่ เช่น กรุงปักกิ่ง นครเฉิงตู เมืองเซินเจิ้น นอกจากนี้ ยังเกิดเป็นปัญหาความเสี่ยงทางการเงินอีกด้วย

 8. ผลักดันภารกิจด้าน carbon emission peak และ carbon neutral โดยมีเป้าหมายว่า (1) พยายามควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของจีนให้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุด “peak” ที่ปี 2573 (ค.ศ. 2030) และหลังจากนั้นจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเรื่อย ๆ และ (2) พยายามให้บรรลุเป้าหมาย carbon neutral ภายในปี 2603 (ค.ศ. 2060) ซึ่งในเวลานั้นทุกภาคส่วนในสังคม (เช่น บริษัท และบุคคลทั่วไป) จะมีวิธีชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากตนเองผ่านการปลูกต้นไม้ และการประหยัดพลังงาน เป็นต้น

ปี 2564 เป็นปีเริ่มต้นของการดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี (2564-2568) ฉบับที่ 14 และครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยในการประชุมครั้งนี้ระบุว่า การพัฒนาเศรษฐกิจจีนในปีหน้ายังคงเผชิญความท้าทายจากทั้งภายในและภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 (มีการระบาดใหม่ขนาดเล็กในบางพื้นที่ ในจีน เช่น กรุงปักกิ่ง นครเฉิงตู เมืองต้าเหลียน และเมืองหมู่ตันเจียง เป็นต้น) พื้นฐานการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังขาดความแข็งเกร่ง และเศรษฐกิจโลกในปีหน้ายังคงมีความซับซ้อนซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังขาดแคลนเสถียรภาพและความสมดุล เป็นต้น ทั้งนี้ จีนจะให้นโยบายเศรษฐกิจมีความต่อเนื่องกันและมีเสถียรภาพในปีหน้า เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

หลังจากการออกแถลงการณ์ของการประชุม CEWC ครั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2563 นายหาน เหวินซิ่ว รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการเงินและเศรษฐกิจของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนกล่าวในงาน Annual Meeting of China’s Economy (2020-2021) ว่า คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตร้อยละ 2 ในปี 2563 และสถิติเศรษฐกิจมหภาคจีนในปี 2564 จะ “ดูดีงาม” ซึ่งอัตราเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8 และโดยเฉลี่ยแล้วอัตราเติบของเศรษฐกิจในช่วงปี 2563-2564 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 (ยังต่ำกว่าอัตราเติบโตของปี 2562 ที่ร้อยละ 6.1 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19) ในขณะที่ในปี 2564 เศรษฐกิจจุลภาคโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ยังคงต้องการให้มีนโยบายสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูจากการที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรค COVID-19 และยังมีบริษัทบางส่วนเป็นห่วงกังวลภาครัฐจะถอนนโยบายสนับสนุนเร็วเกินไป

 

 

 

 

จัดทำโดย: นายเหวิน ปิน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง

แหล่งข้อมูล:

中央经济工作会议在北京举行

http://www.xinhuanet.com/politics/leaders/2020-12/18/c_1126879325.htm

ภาพประกอบ: http://k.sina.com.cn

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]