ไฮไลท์
- ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้มีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ทะลุ 5 ล้านTEUs เป็นครั้งแรก ขยายตัว 31% (YoY) ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ทะยานสู่ 10 อันดับท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลที่มีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดในประเทศจีน และติด 40 อันดับท่าเรือที่สำคัญของโลก
- สถานีศูนย์บริการขนถ่ายตู้สินค้า “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจวมีปริมาณตู้สินค้า 2.8 แสนTEUs เป็นสถานีศูนย์ที่มีปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้ามากที่สุดในปีแรกของการเปิดให้บริการ ปัจจุบัน มีบริการเส้นทางขนส่งทางรถไฟไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันตกอย่างนครฉงชิ่ง นครเฉิงตู นครคุนหมิง
- แม่น้ำซีเจียงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นแม่น้ำเพียงสายเดียวในประเทศจีนที่ปริมาณขนส่งสินค้าผ่านประตูเรือสัญจรสามารถขยายตัวในแดนบวก โดยเฉพาะในประตูเรือสัญจรที่เมืองอู๋โจวได้เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง กลับมาเติบโตเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40% และจบด้วยสถิติ 150 ล้านตัน ขยายตัวเฉลี่ยต่อวันที่ 4.01% (YoY)
- สนามบินหนานหนิงมีปริมาณขนถ่ายสินค้าทะลุ 10,000 ตันเป็นครั้งแรก ขยายตัว 280.5% เป็นผลสำเร็จจากการปรับเปลี่ยนเครื่องบินโดยสารเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าในหลายเส้นทาง เช่น นครหนานหนิง-นครโฮจิมินห์และเมืองญาจาง / นครหนานหนิง-กรุงมะนิลา และนครหนานหนิง-กรุงพนมเปญ
การขนส่งสินค้าทางทะเล ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ หรือที่คนไทยรู้จักในชื่ออ่าวตังเกี๋ย เป็นกลุ่มท่าเรือ(ดาวรุ่ง)ที่กำลังมีบทบาทสำคัญของประเทศจีน ประกอบด้วยท่าเรือชินโจว (ท่าเรือหลัก) ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ ในช่วง 5 ปีมานี้ ปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าผ่านท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้สามารถรักษาระดับการขยายตัวเฉลี่ยได้มากกว่า 25% ปัจจุบัน มีเส้นทางเดินเรือ 52 เส้นทางไปยัง 150 กว่าท่าเรือใน 70 กว่าประเทศ/ดินแดนทั่วโลก
ปี 2563 ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้มีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ทะลุ 5 ล้านTEUs เป็นครั้งแรก ขยายตัว 31% (YoY) ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ทะยานสู่ 10 อันดับท่าเรือเลียบชายฝั่งทะเลที่มีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดในประเทศจีน และติด 40 อันดับท่าเรือที่สำคัญของโลก ตามข้อมูล ท่าเรือแห่งนี้มีเรือบรรทุกสินค้าเข้าเทียบท่า 7,500 ลำครั้ง สินค้าสำคัญของท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ ได้แก่ ถ่านหิน ยาและเวชภัณฑ์ เหล็กกล้า แร่อโลหะ เคมีภัณฑ์และวัตถุดิบ ธัญญาพืช วัสดุไม้ และปุ๋ยเคมี
หลายปีมานี้ กลุ่มบริษัท Beibu Gulf International Port Group ได้ลงทุนไปมากกว่า 15,000 ล้านหยวน เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีสมัยในท่าเรือเพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการขนถ่ายและกระจายสินค้า โดยเฉพาะการก่อสร้างท่าเทียบเรืออัจฉริยะสำหรับรองรับเรือบรรทุกขนาดใหญ่ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G, Cloud Computing และ Blockchain
บริษัท SITC เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการสายเรือในท่าเรือชินโจว ปัจจุบัน มีเส้นทางเดินเรือที่เป็น Direct service ไปยังต่างประเทศ รวม 5 เส้นทาง เป็นสายเรือที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาให้ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้เป็น “ด่านนำเข้าผลไม้” โดยมีเส้นทางเดินเรือ Direct service เพื่อนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยอยู่ 2 เส้นทาง ตามรายงาน บริษัท SITC ได้วางแผนจะเพิ่มเส้นทางเดินเรือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีกในอนาคต
การขนส่งสินค้าทางเรือ+ราง “สถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว” (钦州铁路集装箱中心站) เป็น Hub สำคัญเพื่อรองรับเส้นทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) เพิ่งเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในช่วงกลางปี 2563
ปี 2563 สถานีศูนย์บริการแห่งนี้มีปริมาณตู้สินค้า 2.8 แสนTEUs เป็นสถานีศูนย์บริการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่มีปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้ามากที่สุดในปีแรกของการเปิดให้บริการ ปัจจุบัน มีบริการเส้นทางขนส่งทางรถไฟไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันตก (ฉงชิ่ง เฉิงตู คุนหมิง มีบริการทุกวัน)
ช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 ท่าเรือชินโจวให้บริการเที่ยวขบวนรถไฟเรือ+รางแล้ว 3,205 เที่ยว (คาดว่าทั้งปี 2563 จะทะลุ 3,300 เที่ยว) คิดเป็นปริมาณขนถ่ายสินค้า 124 ล้านตัน (คาดว่าทั้งปี 2563 จะทะลุ 130 ล้านตัน) แบ่งเป็นปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ 3.529 ล้านTEUs (คาดว่าทั้งปี 2563 จะทะลุ 3.9 ล้านTEUs)
ในระยะต่อไป สถานีศูนย์จะเร่งพัฒนาระบบปฏิบัติการอัจฉริยะให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งจะทำให้สถานีศูนย์แห่งนี้กลายเป็น “สถานีศูนย์อัจฉริยะที่สามารถควบคุมผ่านระบบทางไกล” เป็นที่แห่งแรกในประเทศจีน ช่วยให้กระบวนการทำงานต่างๆ เข้าสู่ระบบอัตโนมัติทั้งหมด
บีไอซี เห็นว่า โมเดล “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ในทางกลับกัน สินค้าในจีนก็สามารถใช้รถไฟขนส่งตู้สินค้ามาที่ท่าเรือชินโจวเพื่อขึ้นเรือไปต่างประเทศได้แบบไร้รอยต่อ ซึ่งปัจจุบันมีบริการเที่ยวเรือขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทย โดยระบบงานขนส่งดังกล่าวสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้อีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์แบบที่มีเครื่องทำความเย็น (Reefer) สำหรับการขนส่งผลไม้และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง และตู้คอนเทนเนอร์แบบ Open Top ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกอง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้วิธีการขนส่งด้วยรถบรรทุกออกจากภาคอีสานของไทย (นครพนม/มุกดาหาร/บึงกาฬ) ไปเปลี่ยนรถไฟได้ที่เวียดนาม (กรุงฮานอย/เมืองด่งดัง) หรือที่เมืองผิงเสียงของกว่างซี (ด่านรถไฟผิงเสียง) โดยรถไฟเส้นทางดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อกับโครงข่ายรถไฟในจีนและโครงข่ายรถไฟ China-Europe Railway ได้อีกหนึ่งช่องทาง
การขนส่งสินค้าทางแม่น้ำ แม่น้ำซีเจียง (Xi River/西江) ในเขตปกครองตนเองกว่างซีได้รับการขนานนามเป็น “แม่น้ำสายทองคำ” เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำเพิร์ล หรือที่ภาษาจีนเรียกว่าแม่น้ำจูเจียง เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ใช้ลำเลียงสินค้าเชื่อมกับพื้นที่ปากแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า (GBA) และเป็นแม่น้ำที่มีปริมาณการขนส่งสินค้ามากเป็นอันดับ 2 ของประเทศจีน รองจากแม่น้ำแยงซีเกียง
ในปี 2563 “แม่น้ำซีเจียง” ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นแม่น้ำเพียงสายเดียวในประเทศจีนที่ปริมาณขนส่งสินค้าผ่านประตูเรือสัญจรสามารถรักษาระดับการขยายตัวในแดนบวก โดยประตูเรือสัญจรใน “ศูนย์ชลประทานฉางโจว” (Changzhou Water Conservancy Hub/长洲水流枢纽) เมืองอู๋โจวเป็นประตูเรือสัญจรที่มีผลงานโดดเด่นในระบบงานขนส่งสินค้าแม่น้ำซีเจียง และเป็นที่ตั้งของศูนย์บริหารงานขนส่งสินค้าบนแม่น้ำซีเจียงทั้งระบบด้วยดาวเทียมเป่ยโต้ว
แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 การขนส่งสินค้าผ่านประตูเรือสัญจรแห่งนี้มีปริมาณลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ไตรมาสแรก -33.25% และไตรมาสสอง -12.19%) และฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง กลับมาเติบโตเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40% และจบด้วยสถิติ 150 ล้านตัน ขยายตัวเฉลี่ยต่อวันที่ 4.01% (YoY)
การขนส่งทางอากาศ แม้ว่าธุรกิจการบินจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก แต่การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศกลับมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” เป็น Hub สำคัญของการขนส่งสินค้าทางอากาศในเขตฯ กว่างซีจ้วง
ปี 2563 ปริมาณขนถ่ายสินค้าด้วยเครื่องบินในสนามบินหนานหนิงทะลุ 10,000 ตันเป็นครั้งแรก ขยายตัว 280.5% บริษัท Guangxi Civil Aviation Development (广西民航产业发展有限公司) ได้ปรับเปลี่ยนเครื่องบินโดยสารเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าในหลายเส้นทาง เช่น นครหนานหนิง-นครโฮจิมินห์และเมืองญาจาง / นครหนานหนิง-กรุงมะนิลา และนครหนานหนิง-กรุงพนมเปญ
ปัจจุบัน “ศูนย์บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว” (国际物流单一窗口服务中心) ซึ่งจะเป็น Cargo Complex รองรับงานโลจิสติกส์และโกดังสินค้าระหว่างประเทศในอารักขาศุลกากรในสนามบินหนานหนิงได้เปิดใช้งานแล้ว ซึ่งช่วยให้สนามบินแห่งนี้กลายเป็นด่านนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศเต็มตัว พร้อมรองรับการขนส่งสินค้าที่มีมากขึ้น ประกอบกับศูนย์พัสดุด่วนระหว่างประเทศในสนามบินหนานหนิง (南宁空港国际快件中心) ก็ได้รับอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแล้ว ช่วยเสริมฟังก์ชันให้กับสนามบินหนานหนิงและธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดนได้อีกมาก
นอกจากนี้ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ประสานกับสำนักงานศุลกากรประจำท่าอากาศยานในการอำนวยความสะดวกให้กับการนำเข้าสินค้าสดและสินค้ามีชีวิตจากต่างประเทศแล้วด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ท่าอากาศยานแห่งนี้เคยนำเข้ากุ้งขาวแวนนาไมค์ (Penaeusvannamei) แบบมีชีวิตจากประเทศไทยมาแล้วเช่นกัน
บีไอซี เห็นว่า ผู้ส่งออกสัตว์น้ำไทยสามารถพัฒนาเส้นทางขนส่งทางอากาศให้เป็นเที่ยวประจำ โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของนครหนานหนิง ทั้งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (เวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก และการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ ในการบุกเบิกตลาดสินค้าสัตว์น้ำมีชีวิตของไทยในพื้นที่จีนตอนใต้ ซึ่งมีความนิยมในการบริโภคสัตว์น้ำมีชีวิตมากกว่าสัตว์น้ำแช่แข็ง
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2563
เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) ประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2563
เว็บไซต์ www.mot.gov.cn (中国交通运输部)