• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ผลไม้(ไทย)ทะลักเข้าด่านรถไฟผิงเสียง – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ผลไม้(ไทย)ทะลักเข้าด่านรถไฟผิงเสียง – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • ปัจจุบัน การขนส่งผลไม้จากไทยไปกว่างซี(จีน)มีหลากหลายทางเลือก นอกจากการขนส่งทางรถบรรทุกและทางเรือที่ผู้ค้านิยมใช้กันแล้ว การขนส่งสินค้าทาง รถไฟ ได้เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูผลไม้ ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ด่านรถไฟผิงเสียงมีปริมาณผลไม้นำเข้าทะลุหมื่นตัน ซึ่งคิดเป็นปริมาณนำเข้าเกือบทั้งปีของปี 2563 มีจำนวนตู้ผลไม้ 602 ตู้ คิดเป็นมูลค่าสินค้า 42.576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 “ด่านรถไฟผิงเสียง” ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนให้เป็น “ด่านนำเข้าผลไม้จากประเทศที่สาม รวมถึงผลไม้ไทย และเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ด่านรถไฟผิงเสียงได้จัดพิธีต้อนรับผลไม้ไทยล็อตแรกที่ผ่านเข้าสู่ด่านรถไฟผิงเสียง นับเป็นอีกหนึ่งด่านที่ได้รับโอกาสจากวิกฤตโควิด-19 ในการอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทย และเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ฉีกกฎการส่งออกแบบเดิมๆ ที่เคยใช้ทางรถบรรทุก ทางเรือ และทางเครื่องบินเท่านั้น
  • ด่านรถไฟผิงเสียงจึงเป็นอีก “ทางออก” ในการระบายผลไม้ไทย โดยเฉพาะช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่รถบรรทุกต้องรอคิวที่ด่านโหย่วอี้กวาน พูดง่ายๆ คือ ไม่ต้องรอคิวนานแถมยังขนตู้สินค้าได้ครั้งละจำนวนมาก แม้ว่าโมเดล “รถ+ราง” จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารถบรรทุกเล็กน้อย แต่คุ้มค่ากับการควักกระเป๋าจ่ายเพื่อซื้อเวลา

 

ปัจจุบัน การขนส่งผลไม้จากไทยไปกว่างซี(จีน)มีหลากหลายทางเลือก นอกจากการขนส่งทางรถบรรทุกและทางเรือที่ผู้ค้านิยมใช้กันแล้ว การขนส่งสินค้าทาง รถไฟ ได้เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูผลไม้ ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ด่านรถไฟผิงเสียงมีปริมาณผลไม้นำเข้า 10,200 ตัน ซึ่งคิดเป็นปริมาณนำเข้าเกือบทั้งปีของปี 2563 มีจำนวนตู้ผลไม้ 602 ตู้ คิดเป็นมูลค่าสินค้า 42.576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“ด่านรถไฟผิงเสียง” ตั้งอยู่ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของเมืองฉงจั่ว ห่างจากด่านทางบกโหย่วอี้กวานราว 14 กิโลเมตร เป็น “ด่านนำเข้าผลไม้ทางรถไฟ” เพียงแห่งเดียวของประเทศจีน โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้อนุมัติให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้(เวียดนาม)อย่างเป็นทางการ และต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ได้รับการอนุมัติให้เป็น “ด่านนำเข้าผลไม้จากประเทศที่สาม รวมถึงผลไม้ไทย และเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ด่านรถไฟผิงเสียงได้จัดพิธีต้อนรับผลไม้ไทยล็อตแรกที่ผ่านเข้าสู่ด่านรถไฟผิงเสียง นับเป็นอีกหนึ่งด่านที่ได้รับโอกาสจากวิกฤตโควิด-19 ในการอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทย และเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ฉีกกฎการส่งออกแบบเดิมๆ ที่เคยใช้ทางรถบรรทุก ทางเรือ และทางเครื่องบินเท่านั้น

โอกาสของผู้ส่งออกผลไม้ไทย ด่านรถไฟผิงเสียงเป็นอีกหนึ่ง “ทางออก” ในการระบายผลไม้ไทย โดยเฉพาะช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่รถบรรทุกต้องรอคิวที่ด่านโหย่วอี้กวาน พูดง่ายๆ คือ ไม่ต้องรอคิวนานแถมยังขนตู้สินค้าได้ครั้งละมากๆ แม้ว่าโมเดล “รถ+ราง” จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารถบรรทุกเล็กน้อย แต่คุ้มค่ากับการควักกระเป๋าจ่ายเพื่อซื้อเวลา

ทั้ง ผู้ส่งออกผลไม้ไทยสามารถใช้รถบรรทุกสินค้าลำเลียงสินค้าออกจากภาคอีสานทางถนน R8 (บึงกาฬ) R9 (มุกดาหาร) และ R12 (นครพนม) ผ่าน สปป. ลาว เข้าสู่เวียดนาม ผ่านกรุงฮานอย มุ่งหน้าไปที่สถานีรถไฟด่งดัง (Dong Dang) จังหวัดลางเซิน เพื่อลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟ ก่อนเข้าไปที่ด่านรถไฟผิงเสียงของกว่างซีด้วยระยะทางเพียง 17 กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่งเพียง 1 ชั่วโมง ทั้งนี้ สำหรับสินค้าทั่วไปสามารถลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟที่สถานีรถไฟ Yên Viên ในกรุงฮานอย

หลังจากตู้สินค้าลำเลียงเข้ามาถึงด่านรถไฟผิงเสียงเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรแล้ว ก็สามารถใช้โครงข่ายทางรถไฟของจีนลำเลียงผลไม้ไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วจีน ปัจจุบัน มีขบวนรถไฟระหว่างประเทศผ่านเมืองผิงเสียงที่เชื่อมกับมณฑลต่างๆ รวม 9 เส้นทาง ซึ่งผู้ส่งออกสามารถเลือกใช้ได้ อาทิ นครเซี่ยงไฮ้ใช้เวลา 45 ชั่วโมง กรุงปักกิ่งใช้เวลา 70 ชั่วโมง หรือจะส่งไปไกลถึงเอเชียกลางและยุโรปผ่าน China-Europe Railway Express ใช้เวลา 7-10 วัน (ทางเรือใช้เวลา 1 เดือน)

แล้วจะเลือกขนส่งสินค้าต่ออย่างไร…รถไฟมีความได้เปรียบในการขนส่งระยะทางไกล จึงเหมาะกับการกระจายสินค้าไปที่หัวเมืองภาคตะวันออก/ภาคเหนือ หากเป็นการขนส่งระยะสั้น ควรใช้การขนส่งทางรถบรรทุก เช่น หากส่งผลไม้ไปยังนครกว่างโจวของมณฑลกวางตุ้ง รถบรรทุกใช้เวลาเพียง 1-2 วัน จึงประหยัดเวลาได้มากกว่าทางรถไฟที่อาจต้องใช้เวลานานถึง 4 วัน

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางรถบรรทุกแล้ว การขนส่งทางรถไฟมีข้อได้เปรียบด้านศักยภาพการขนส่ง (ปริมาณการขนส่งเที่ยวละ 20-25 ตู้) ไม่สิ้นเปลืองน้ำมันและแรงงานคนขับ กอปรกับสถานการณ์โควิด-19 การขนส่งทางรถไฟช่วยลดความเสี่ยงจากคนขับที่หมุนเวียนเข้า-ออกด่านได้อย่างมาก การผ่านพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสาร (e-Paperless) ที่มีความรวดเร็ว การเลี่ยงความเสียหายจากการจราจรที่แออัดของรถบรรทุกบริเวณด่านทางบก รวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าในการกระจายสินค้าในระยะไกล

นายฟาง เผิง (Fang Peng/方鹏) ผู้จัดการใหญ่บริษัท Guangxi Baosheng Zongheng International Logistics Co.,Ltd. (广西宝生纵横国际物流有限公司) ที่ดำเนินธุรกิจขบวนรถไฟขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผลไม้ไทยผ่านด่านรถไฟผิงเสียง ให้ข้อมูลว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้จำนวนคนขับรถบรรทุกลดลง ขณะที่ปริมาณผลไม้มีจำนวนมากขึ้น ทำให้การขนส่งทางรถไฟเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมจากลูกค้า ซึ่งนอกจากเที่ยวขบวนรถไฟมีกำหนดเวลาที่ชัดเจนแล้ว ต้นทุนการผ่านพิธีการศุลกากรยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าหันมาใช้การขนส่งทางรถไฟ

ทั้งนี้ นอกจากผลไม้สด บริการการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางรถไฟ (นครหนานหนิง-กรุงฮานอย) มีความหลากหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเทกอง (Bulk) สินแร่ ไม้ซุง และเหล็กกล้า อุปกรณ์เครื่องจักรกล ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของใช้ในชีวิตประจำวัน และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ด่านรถไฟผิงเสียงช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ส่งออกไทยในการระบายผลไม้ไทยไปจีนและช่วยลดอุปสรรคการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนได้มากขึ้น ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเที่ยวรถไฟเวียดนาม-จีนในการลำเลียงสินค้าเข้าสู่ตลาดทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะในช่วงที่มีผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดจากการที่รถบรรทุกต้องรอคิวที่ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน โดยผู้ส่งออกสามารถเลือกใช้การขนส่งทางรถไฟเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรที่ด่านรถไฟผิงเสียง แล้วเปลี่ยน(ยกตู้)ไปใช้รถบรรทุกเพื่อกระจายไปยังหัวเมืองอื่นทั่วจีนได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ในการใช้ประโยชน์จากด่านรถไฟผิงเสียง ผู้ส่งออกยังต้องพิจารณาเรื่อง “ตลาดปลายทาง” ด้วย เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากด่านเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งผู้ส่งออกต้องตระหนักถึงปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผลไม้ที่ส่งออกไปจีน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีการสุ่มตรวจผลไม้อย่างเข้มงวด จึงจำเป็นต้องรักษาคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะหากพบปัญหาเดิมซ้ำ ไม่แน่ว่า…ประตูการค้าบานใหม่นี้อาจถูกปิดลงสักวันก็เป็นได้

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 22 พฤษภาคม 2564
เว็บไซต์ www.chongzuo.gov.cn  (
崇左市人民政府网)
เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn  (
南宁海关网)
ภาพประกอบ www.sohu.com / www.sznews.com และ www.gxnews.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]