ไฮไลท์
- ในไตรมาส 1/2564 ภาพรวมการจ้างงานในเขตปกครองตนเองกว่างซียังคงเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง ค่าตอบแทนการจ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสาขาที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูง อาทิ สาขาการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และสาขาไอที
- ในไตรมาส 1/2564 เงินเดือนเฉลี่ยที่นายจ้างเสนอจ้างงานอยู่ที่ 5,902 หยวน เพิ่มขึ้น 9.85% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 16.10% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย “นครหนานหนิง” มีอัตราค่าตอบแทนการจ้างงานสูงสุดในมณฑล เฉลี่ยเดือนละ 6,217 หยวน
- ความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน สะท้อนว่า กว่างซี(ประเทศจีน)กำลังก้าวผ่านจากยุคสินค้าและค่าแรงถูกแล้ว เศรษฐกิจและสังคมที่พัฒนาอย่างรวดเร็วได้ขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมการผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่กระโดดเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่การผลิตมุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสำคัญ และเป็นยุคสมัยที่ธุรกิจ(ต่างชาติ)ต้องหันมามองจีนในฐานะ “ตลาดผู้บริโภค” ขนาดใหญ่มากกว่าการมองว่าจีนเป็น “โรงงานโลก” อย่างเช่นในอดีต
ในไตรมาส 1/2564 ภาพรวมการจ้างงานในเขตปกครองตนเองกว่างซียังคงเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง ค่าตอบแทนการจ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสาขาที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูง อาทิ สาขาการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และสาขาไอที
เว็บไซต์จัดหางาน gxrc.com ภายใต้การกำกับดูแลของกรมทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคมกว่างซี ได้เปิดเผยรายงานการจ้างงานของเขตฯ กว่างซีจ้วง ประจำไตรมาสที่ 1/2564 พบว่า เงินเดือนเฉลี่ยที่นายจ้างเสนอจ้างงานอยู่ที่ 5,902 หยวน เพิ่มขึ้น 9.85% (QoQ) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 16.10% (YoY) เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย “นครหนานหนิง” มีอัตราค่าตอบแทนการจ้างงานสูงสุดในมณฑล เฉลี่ยเดือนละ 6,217 หยวน
การจ้างงานในช่วงเงินเดือน 6,000 – 7,999 หยวน มีสัดส่วน 16.07% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.8 จุด ขณะที่สัดส่วนของการจ้างงานในช่วงเงินเดือน 3,000 – 3,999 หยวน มีสัดส่วน 19.15% ลดลงร้อยละ 5.53 จุด และช่วงเงินเดือน 4,000 – 4,999 หยวน มีสัดส่วน 18.59% ลดลงร้อยละ 2.27 จุด ซึ่งมีแนวโน้มหดตัวลงจากไตรมาสก่อน
สาขาอาชีพที่มีค่าตอบแทนค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และไอที ขณะที่สาขาสิ่งทอ เครื่องนุ่มห่ม และเครื่องหนัง มีค่าตอบแทนน้อยสุด แทนที่อาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) และแม่บ้านทำความสะอาดที่เคยรั้งท้ายมาโดยตลอด
สาขาที่มีเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บริหารจัดการ (15,989 หยวน) บริการด้านลงทุนพันธบัตร/ตลาดล่วงหน้า (9,906 หยวน) นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ (8,329 หยวน) คอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์ (7,549 หยวน) และการธนาคาร (7,480 หยวน)
สาขาที่มีเงินเดือนเฉลี่ยต่ำสุด 5 อันดับท้าย ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องนุ่มห่ม และเครื่องหนัง (3,386 หยวน) รปภ. และแม่บ้านทำความสะอาด (3,500 หยวน) ร้านอาหารและเครื่องดื่ม (3,647 หยวน) สื่อสิ่งพิมพ์ (3,922 หยวน) และการผลิตยานยนต์ (4,067 หยวน)
นอกจากนี้ พบว่า หลายสาขาที่ค่าตอบแทนมีความผันผวนค่อนข้างสูง ได้แก่ งานสิ่งพิมพ์ (4,618 หยวน เพิ่มขึ้น 39.33% QoQ และเพิ่มขึ้น 38.8% YoY) และบริการด้านลงทุนพันธบัตร/ตลาดล่วงหน้า (9,906 หยวน เพิ่มขึ้น 28.16% QoQ และเพิ่มขึ้น 29% YoY)
ขณะที่สาขาล่าม อัตราค่าจ้างลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6,956 หยวน เหลือ 5,683 หยวน ลดลง 18.3% (QoQ) สาขาการผลิตยานยนต์ ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 5,349 หยวน เหลือ 4,067 หยวน ลดลง 23.97% (QoQ) สาขาอุปกรณ์การแพทย์และการรักษาพยาบาล ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 7,426 หยวน เหลือ 5,308 หยวน ลดลง 28.52% (QoQ) และสาขาสิ่งทอ เครื่องนุ่มห่ม และเครื่องหนัง ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 4,642 หยวน เหลือ 3,386 หยวน ลดลง 27.07% (QoQ)
เมืองที่มีค่าตอบแทนการทำงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นครหนานหนิง (6,217 หยวน เพิ่มขึ้น 11.61% QoQ) เมืองกุ้ยหลิน (5,763 หยวน เพิ่มขึ้น 7.93% QoQ) เมืองหลิ่วโจว (5,697 หยวน) เมืองไป่เซ่อ (5,587 หยวน) และเมืองยวี่หลิน (5,419 หยวน)
บีไอซี เห็นว่า ความเคลื่อนไหวข้างต้นสะท้อนว่า กว่างซี(ประเทศจีน)กำลังก้าวผ่านจากยุคสินค้าและค่าแรงถูกแล้ว เศรษฐกิจและสังคมที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วได้ขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมการผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่กระโดดเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่การผลิตมุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสำคัญ และเป็นยุคสมัยที่ธุรกิจ(ต่างชาติ)ต้องหันมามองจีนในฐานะ “ตลาดผู้บริโภค” ขนาดใหญ่มากกว่าการมองว่าจีนเป็น “โรงงานโลก” อย่างเช่นในอดีต
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานจีนในเรื่องอัตราค่าตอบแทนการทำงานที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่เจริญทางภาคตะวันออกของประเทศ ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมการผลิตสู่ภาคตะวันตกที่มีอัตราค่าแรงต่ำกว่า ขณะที่ภาคตะวันออกจะมุ่งเน้นด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีคอนเทนต์สูง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่นักลงทุน(ต่างชาติ)ต้องนำไปประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุนในจีน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี (广西日报) วันที่ 20 พฤษภาคม 2564
เว็บไซต์ www.gxrc.com (广西人才网)
ภาพประกอบ www.freepik.com