• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • มณฑลฝูเจี้ยนสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าอัจฉริยะ เสริมแกร่ง “ไฟร์วอลล์” ป้องกันไฟป่า

มณฑลฝูเจี้ยนสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าอัจฉริยะ เสริมแกร่ง “ไฟร์วอลล์” ป้องกันไฟป่า

โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

 

ฝูเจี้ยนเป็นพื้นที่ป่าไม้สำคัญทางตอนใต้ของจีน และเป็นแนวกำแพงป้องกันไฟป่าที่สำคัญในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ โดยในปี 2563 มณฑลฝูเจี้ยนมีพื้นที่ป่าไม้ 58 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 76 ของพื้นที่ทั้งหมด สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศติดต่อกันเป็นเวลา 42 ปี รัฐบาลฝูเจี้ยนจึงให้ความสำคัญกับการการป้องกันไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพโดยวิจัยและจัดตั้งระบบเตือนภัยไฟป่าล่วงหน้าอัจฉริยะด้วยระบบ “One Picture Mode” ซึ่งสามารถให้ข้อมูลที่มีความแม่นยำสูง โดยระบบเตือนภัยนี้มีข้อได้เปรียบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) มีระบบตรวจจับสัญญาณการเกิดไฟป่าที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าอย่างกว้างขวางและเรียลไทม์ และสามารถส่งสัญญาณเตือนได้ทันท่วงที (2) สามารถจดจำภาพอัจฉริยะ GIS ถ่ายภาพความร้อนและจับภาพบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงโดยอัตโนมัติและระบุตำแหน่งของไฟได้อย่างแม่นยำ และ (3) สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความเร็วลม ทิศทางลม อุณหภูมิและความชื้นอย่างมีประสิทธิภาพ และวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในบริเวณโดยรอบ อาทิ พืชพรรณไม้ แหล่งน้ำ สภาพถนน สภาพอากาศ เพื่อประกอบการกู้ภัยอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

ระบบเตือนภัยไฟป่าล่วงหน้าอัจฉริยะประยุกต์ใช้ที่พื้นที่ป่าของเมืองเซี่ยเหมิน เมืองเฉวียนโจวและเมืองหนิงเต๋อ
ซึ่งป้องกันการเกิดไฟป่าขนาดใหญ่ได้ในหลายโอกาส โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลไหว้บรรพบุรุษของจีนซึ่งมีการเผากระดาษเงินกระดาษทองบริเวณสุสานในพื้นที่ป่าและก่อให้เกิดไฟไหม้ป่า

ศูนย์ BIC ขอรายงานว่า ในกรณีของไทย ไฟป่าเป็นปัญหาที่เกิดบ่อยครั้งโดยเฉพาะในภาคเหนือในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตร โดยเมื่อเกิดไฟป่าย่อมนำมาสู่การเกิดหมอกควันและฝุ่นพิษ PM 2.5 และก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศโดยรวม ปัจจุบัน ไทยเองยังอยู่ในช่วงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อศึกษาและรวบรวมสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่มีความสลับซับซ้อนสำหรับประกอบการใช้งานในการดับไฟป่า ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือ GISTDA ได้พัฒนาเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ข้อมูลจากดาวเทียม ข้อมูล GIS และข้อมูล GPS ดังนั้น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกันภัยพิบัติของจีนจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย

แหล่งอ้างอิง https://www.chinanews.com/tw/2020/12-28/9372851.shtml

https://fjrb.fjdaily.com/pc/con/202101/04/content_51703.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]