ไฮไลท์
- รัฐบาลกว่างซีกำลังให้ความสำคัญกับการต่อยอดอุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจากพื้นฐานอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีอยู่เดิม โดยมุ่งเป้าไปที่ (1) การยกระดับ “คลัสเตอร์อุตสาหกรรมสิ่งทอ” โดยการดึงดูดการลงทุนเข้าไปที่ฐานอุตสาหกรรมแพรไหม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแห่งสำคัญในมณฑล และ (2) การเติมเต็มช่องว่างในอุตสาหกรรมกลางน้ำ-ปลายน้ำ อาทิ การทอไหม การย้อม การพิมพ์ลาย และการผลิตเป็นสิ่งทอเครื่องนุ่มห่มในระดับอุตสาหกรรม
- นวัตกรรมการวิจัย “รังไหมสี” ที่ได้สีสันธรรมชาติ และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ การเพาะเห็ดจากกิ่งหม่อน การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากการเผากิ่งหม่อน การผลิตปุ๋ยจากมูลไหมและเศษขี้เถ้าของกิ่งหม่อนที่เหลือจากการเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ (economic value added) ให้กับตัวผลิตภัณฑ์ได้อย่างมาก
- ประเด็นที่นำเสนอข้างต้นเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจไทยที่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะเข้ามาเติมเต็มส่วนขาดดังกล่าว ทั้งนี้ นักลงทุนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะจีนในวันนี้ “สิ้นยุคสินค้าและค่าแรงถูก” ไปแล้ว เป้าหมายทางธุรกิจของการเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศจีนมองไปที่การเข้าถึงตลาดฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ และการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทรัพยากรในท้องถิ่นเสียมากกว่า
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเปิดบ้านรับ “ผู้เล่น” ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม เพื่อต่อยอดและเติมเต็ม “ช่องว่าง” ในอุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เขตฯ กว่างซีจ้วงประสบความสำเร็จสูงสุดจากกระแสการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ช่วยขจัดปัญหาความยากจนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลายปีมานี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของประเทศจีนมาโดยตลอด โดยสามารถรักษาสถิติอันดับ 1 ของประเทศหลายรายการ อาทิ พื้นที่ปลูกหม่อน (ราว 1/4 ของทั้งประเทศ) ผลผลิตรังไหม (ราว 3.74 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วนราว 52% ของทั้งประเทศ) ปริมาณการเลี้ยงตัวไหม ผลผลิตรังไหมต่อหนึ่งหน่วยผลิต ผลผลิตไหมดิบ รวมถึงผลผลิตเห็ด ซึ่งเป็นผลิตผลพลอยได้จากกิ่งหม่อน
ปัจจุบัน รัฐบาลกว่างซีกำลังให้ความสำคัญกับการต่อยอดอุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจากพื้นฐานอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีอยู่เดิมอย่างการผลิตเส้นใย และการปั่นด้าย โดยมุ่งเป้าไปที่ หนึ่ง การยกระดับ “คลัสเตอร์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม” โดยการดึงดูดการลงทุนเข้าไปที่ฐานอุตสาหกรรมแพรไหม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแห่งสำคัญในเมืองกุ้ยก่าง (Guigang City) เมืองยวี่หลิน (Yulin City) เมืองอู๋โจว (Wuzhou City) และเมืองเหอฉือ (Hechi City) เพื่อตอบสนองตลาดจีนและอาเซียน และ สอง การเติมเต็มช่องว่างในอุตสาหกรรมกลางน้ำ-ปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการสาวและทอไหมในระดับอุตสาหกรรม การย้อม การพิมพ์ลาย ไปจนถึงการผลิตเป็นสิ่งทอเครื่องนุ่มห่มสำเร็จรูป
ในประเด็นของการ “คลัสเตอร์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม” ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้ออกโรด์โชว์เพื่อประชาสัมพันธ์และดึงดูดการลงทุนจากพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเป้าหมายไปที่มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นฐานการแปรรูปสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มขนาดใหญ่ของจีน รวมไปถึงมณฑลเจ้อเจียงและมณฑลเจียงซู ซึ่งเป็นฐานการแปรรูปผ้าไหมที่สำคัญของจีน นอกจากนี้ ยังพร้อมรับนักลงทุนจากต่างประเทศด้วย
ความน่าสนใจของอุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในกว่างซียังไม่หมดเท่านี้ นวัตกรรมการวิจัย “รังไหมสี” เป็นผลสำเร็จในอุตสาหกรรมหม่อนไหมของกว่างซี ด้วยเทคนิคการพัฒนาคุณลักษณะพิเศษของตัวไหมและการทำปฏิกิริยาของลูทีน (Lutein) ที่ส่งผลให้ไหมเปลี่ยนสี “รังไหมสี” ที่ได้เป็นสีธรรมชาติที่ผลิตจากตัวไหมและมีหลากหลายสีสัน เช่น เหลืองทอง ชมพู เขียว โดยไม่ต้องผ่านกรรมวิธีการย้อมด้วยฝีมือแรงงาน ปลอดสารเคมีจากการย้อมสี และมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะรังไหมสีเหลืองทองได้ผ่านการรับรองในระดับมณฑล และมีการพัฒนาจาก “ห้องทดลอง” สู่ “สายการผลิต” ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ (economic value added) ให้กับตัวผลิตภัณฑ์ได้อย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของการใช้ประโยชน์เชิงบูรณาการและผลิตผลพลอยได้จากอุตสาหกรรม อาทิ การเพาะเห็ดจากกิ่งหม่อน การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากการเผากิ่งหม่อน การผลิตปุ๋ยจากมูลไหมและเศษขี้เถ้าของกิ่งหม่อนที่เหลือจากการเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า จึงกล่าวได้ว่า “อุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหม” เป็นอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนตัวจริง
บีไอซี เห็นว่า ประเด็นที่นำเสนอข้างต้นเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจไทยที่มีความศักยภาพความพร้อมที่จะเข้ามาเติมเต็มส่วนขาดดังกล่าว ทั้งนี้ นักลงทุนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะจีนในวันนี้ “สิ้นยุคสินค้าและค่าแรงถูก” ไปแล้ว เป้าหมายทางธุรกิจของการเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศจีนมองไปที่การเข้าถึงตลาดฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ในภูมิภาคเป็นหลัก (จีน-อาเซียน) และการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทรัพยากรในท้องถิ่นเสียมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในธุรกิจน้ำตาลของเครือน้ำตาลมิตรผลในกว่างซี เนื่องจากกว่างซีเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อยมากที่สุดในจีน
ธุรกิจไทยที่มีความสนใจจำเป็นต้องศึกษาข้อมูล และวางกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด “คิดต่างสร้างมูลค่า” และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม และความโดดเด่นด้านดีไซน์เป็นเครื่องมือช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新网广西) วันที่ 13 กรกฎาคม 2564
ภาพประกอบ freepik.com และ bilibili.com