• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • เชื่อมการค้า “ไทย-คาซัคสถาน” ให้ใกล้มากขึ้นอีก ผ่านกว่างซี – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

เชื่อมการค้า “ไทย-คาซัคสถาน” ให้ใกล้มากขึ้นอีก ผ่านกว่างซี – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • เขตปกครองตนเองกว่างซีประสบความสำเร็จในการศึกษาและวางแผนเส้นทางขนส่งสินค้าทางรถไฟ เส้นทาง “นครหนานหนิง – กรุงนูร์-ซุลตัน – เมืองอัลมาตี” แบบ Direct Route มีระยะทางรวม 4,662 กิโลเมตร (ร่นระยะลงจากเดิม 369 กิโลเมตร) และใช้เวลาเพียง 11 วัน (ประหยัดเวลาลงจากเดิม 2 วัน) และมีแผนจะพัฒนาให้เป็นเส้นทางประจำ เดือนละ 1 เที่ยว
  • กลุ่มประเทศในแถบเอเชียกลางเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะคาซัคสถาน ประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการค้ากับไทยมากที่สุดในเอเชียกลาง
  • การที่เขตฯ กว่างซีจ้วงได้พัฒนาเส้นทางขนส่งทางรถไฟ China-Europe Railway Express ไปยังคาซัคสถาน ได้ช่วยสร้างโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยได้เป็นอย่างมาก อีกทั้ง ภาคธุรกิจไทยยังสามารถอาศัยคาซัคสถานเป็น hub ในการกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค หรือกระจายไปยังประเทศในยุโรปตะวันออกได้ง่ายมากขึ้นด้วย
  • ผู้ส่งออกไทยสามารถขนส่งสินค้าไทยทางเรือไปที่ “ท่าเรือชินโจว” ในอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (คนไทยรู้จักในชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) เพื่อใช้โมเดลขนส่ง “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจวได้โดยตรง ช่วยลดเวลาการขนส่ง ลดระเบียบขั้นตอนด้านเอกสารและการดำเนินพิธีการศุลกากรเป็นอย่างมาก

 

การพัฒนาโครงการเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (China-Europe Express Railway) ภายใต้ยุทธศาสตร์สายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiatives – BRI) ที่รัฐบาลจีนเป็นผู้ริเริ่ม จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ส่งเสริมการค้าการลงทุน และนำความเจริญเข้าไปให้กับประเทศที่อยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟ โดยประเทศในเอเชียกลางเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะประเทศคาซัคสถาน

เมื่อเดือนมีนาคม 2564 เขตปกครองตนเองกว่างซีประสบความสำเร็จในการทดลองเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์ไปยังเอเชียกลางผ่านเส้นทาง “นครหนานหนิง – นครซีอาน (ซินจู้) – กรุงนูร์-ซุลตัน (คาซัคสถาน)” รวมระยะทาง 5,031 กิโลเมตร โดยใช้เวลาขนส่งเพียง 13 วัน

เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการขนส่งทางรถไฟและในเส้นทางดังกล่าว บริษัท China Railway Nanning Group Co.,Ltd. (中国铁路南宁局集团有限公司) ผู้ให้บริการขนส่งทางรถไฟข้ามทวีป China-Europe Railway Express ได้ศึกษาและวางแผนเส้นทางรถไฟ ล่าสุด ได้เปิดการขนส่งเส้นทาง “นครหนานหนิง – กรุงนูร์-ซุลตัน – เมืองอัลมาตี” แบบ Direct Route มีระยะทางรวม 4,662 กิโลเมตร (ร่นระยะลงจากเดิม 369 กิโลเมตร) และใช้เวลาเพียง 11 วัน (ประหยัดเวลาลงจากเดิม 2 วัน)

ตามรายงาน บริษัท Guangxi Construction Engineering Group Construction Machinery Manufacturing Co.,Ltd. (广西建工集团建筑机械制造有限责任公司) เป็นผู้ประเดิมใช้บริการเส้นทางรถไฟ Direct Route นี้ โดยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 รถไฟ China-Europe Railway Express เที่ยวขบวน 75138 ที่ลำเลียงเครนที่ใช้ในงานก่อสร้างอาคารสูง (Tower crane) ในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จำนวน 50 ตู้ ได้เคลื่อนขบวนออกจากท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง เพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงนูร์-ซุลตัน (เมืองหลวง) และเมืองอัลมาตี (เมืองเศรษฐกิจสำคัญ) ของประเทศคาซัคสถาน

ในระยะต่อไป บริษัท China Railway Nanning Group Co.,Ltd. วางแผนจะเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าไปยังประเทศคาซัลสถานเป็นประจำ เดือนละ 1 เที่ยว เพื่อสร้างโอกาสให้กับสินค้า Made in Guangxi ไปขยายตลาดต่างประเทศ

บีไอซี เห็นว่า กลุ่มประเทศในแถบเอเชียกลางที่แตกตัวออกมาจากอดีตสหภาพโซเวียต ไม่ว่าจะเป็นคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน เป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะคาซัคสถาน ประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการค้ากับไทยมากที่สุดในเอเชียกลาง

การที่คาซัคสถานเป็นประเทศ landlock (ไม่มีทางออกทะเล) ทำให้ในอดีต การขนส่งโลจิสติกส์เป็นอุปสรรคสำคัญในการค้าขายระหว่างไทย (อาเซียน) กับเอเชียกลาง การค้าขายและขนส่งสินค้าระหว่างกันมีต้นทุนสูงและใช้ระยะเวลานานจนผู้ประกอบการต่างถอดใจไปตาม ๆ กัน

ดังนั้น การที่เขตฯ กว่างซีจ้วงได้พัฒนาเส้นทางขนส่งทางรถไฟ China-Europe Railway Express ไปยังคาซัคสถาน จะช่วยสร้างโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยได้เป็นอย่างมาก อีกทั้ง ภาคธุรกิจไทยยังสามารถพิจารณาใช้จุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งของคาซัคสถานเป็น hub ในการกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค หรือกระจายไปยังประเทศในยุโรปตะวันออกได้ง่ายมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยสามารถขนส่งสินค้าไทยทางเรือไปที่ “ท่าเรือชินโจว” ในอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (คนไทยรู้จักในชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) เพื่อใช้โมเดลขนส่ง “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจวได้โดยตรง ช่วยลดเวลาการขนส่ง ลดระเบียบขั้นตอนด้านเอกสารและการดำเนินพิธีการศุลกากรเป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน การเดินเรือระหว่างท่าเรือชินโจวกับประเทศไทย (ท่าเรือแหลมฉบัง) มีผู้ให้บริการหลายราย อาทิ บริษัท SITC บริษัท PIL บริษัท EMC บริษัท Wanhai Lines บริษัท YangMing Lines และบริษัท Sealand MAERSK Asia โดยแต่ละเส้นทางใช้เวลาไม่เท่ากัน เฉลี่ยประมาณ 4-7 วัน หรือใช้การขนส่งทางบกด้วยรถบรรทุกไปขึ้นรถไฟที่ด่านสถานีด่งดัง (เวียดนาม) – ด่านรถไฟผิงเสียง (กว่างซี) เชื่อมสู่เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปได้เช่นกัน

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 28 กรกฎาคม 2564
เว็บไซต์
www.gx.xinhuanet.com (中新社广西) วันที่ 28 กรกฎาคม 2564
ภาพประกอบ www.seetao.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]