เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 เขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคนครเฉิงตู (Chengdu Hi-Tech Industrial Development Zone) ได้เผยตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มูลค่ารวม 139,310 ล้านหยวน เติบโตร้อยละ 13.6 โดยมีแนวโน้มการพัฒนาและเติบโตดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวนเติบโตขึ้นร้อยละ 10.7 อุตสาหกรรมบริการเติบโตร้อยละ 15.8 และมูลค่ายอดขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค 45,890 ล้านหยวน เติบโตร้อยละ 25.1 มูลค่าการนำเข้าส่งออกรวม 256,070 ล้านหยวน เติบโตร้อยละ 11.4
ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากปัจจัย 3 ประการ ได้แก่
- การพัฒนาอุตสาหกรรมและมูลค่าทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวนให้เติบโตด้วยตัวเลขสองหลัก โดยในไตรมาสที่ 2 มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.74 ประกอบด้วย 3 อุตสาหกรรม ได้แก่
1.1 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงขึ้นจนทำให้ โรงงานไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้มูลค่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ฯ ในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9
สำนักงานอุตสาหกรรมข้อมูลและอิเล็กทรอนิกส์เขตพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ระบุว่า มูลค่าในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 บริษัทวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จัดเก็บหน่วยความจำ ผลิตภัณฑ์ไร้สาย มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 โดยมีบริษัท 12 แห่ง อาทิ บริษัท Hongfujin บริษัท Dell มีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 25
1.2 อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 อุตสาหกรรมทางการแพทย์ในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง และบริษัทขนาดใหญ่ฯ มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 โดยมีบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ Olin Biology บริษัท Conoya และบริษัทอื่น ๆ ได้เข้าจดทะเบียนในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมฯ และบริษัท Chengdu BOE Hospital ได้เปิดโรงพยาบาลของ นครเฉิงตูอย่างเป็นทางการแห่งแรกใน Chengdu Tianfu International Biological City
1.3 อุตสาหกรรมสมัยใหม่ อาทิ Tencent, Baidu, Byte Dance และ iQiyi ยังคงรักษาอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2 ปี 2564 มูลค่ารายรับของบริษัทขนาดใหญ่ฯ มีมูลค่ารวม 54,470 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.8 นอกจากนี้ บริษัทด้านให้บริการซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวน 424 แห่ง มีรายได้รวม 51,690 ล้านหยวน เติบโตร้อยละ 38.9
- การพัฒนาด้านนวัตกรรม ปัจจุบัน เขตพัฒนาอุตสาหกรรมฯ มีบริษัทนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เข้าตลาดหลักทรัพย์จำนวน 6 แห่ง โดยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 บริษัท China Environmental Technology Corporation ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และเป็นบริษัทนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งที่ 6 ในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมฯ นอกจากนี้มีไตรมาส 2 ของปี 2564 มีบริษัทจำนวน 11 แห่งที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ และสามารถจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์เพิ่มอีก 3,122 รายการ
ปัจจุบัน เขตพัฒนาอุตสาหกรรมฯ มีผู้ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีจำนวนมากกว่า 600,000 คน มีบริษัทแพลตฟอร์มด้านนวัตกรรมระดับชาติ 45 แห่ง มีศูนย์อบรมพัฒนาแห่งชาติ 17 แห่ง และมีการจดทะเบียนสิทธิบัตรด้านการประดิษฐ์ แล้วทั้งหมด 22,940 ฉบับ
- ตลาดได้รับความสนใจมากเพิ่มขึ้น มีผู้ประกอบการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น
ไตรมาส 2 ปี 2564 มีผู้ประกอบการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจำนวน 35,353 ราย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33.27 คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 122,211 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.22 แบ่งเป็นการ จดทะเบียนในรูปแบบบริษัท 18,924 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.36 มูลค่ารวม 121,292 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.41 โดยมีบริษัทที่จัดตั้งสำนักงานในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมฯ เพิ่มขึ้น 13,919 แห่ง
สำนักงานจดทะเบียนบริษัทเขตพัฒนาอุตสาหกรรมฯ นครเฉิงตู ระบุว่าการเปิดใช้นโยบาย“หนึ่งอุตสาหกรรมหนึ่งใบรับรอง”กับ 20 อุตสาหกรรม[1] ทำให้การจดทะเบียนบริษัท และจดทะเบียนเอกสารต่าง ๆ สะดวกรวดเร็วขึ้น ขณะนี้ได้มีการจดทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว โดยมีการจดทะเบียนไปแล้วมากกว่า 178,000 รายการ
ปัจจุบัน เขตพัฒนาอุตสาหกรรมฯ นครเฉิงตูมีผู้ประกอบการทั้งหมด 255,300 ราย แบ่งเป็นบริษัท 167,834 แห่ง อุตสาหกรรมพาณิชย์และครัวเรือน 87,310 แห่ง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
เว็บไซต์ Sichuan Online (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564)
https://cd.scol.com.cn/cdyw/202108/58238136.html
เว็บไซต์ ศูนย์บริการข้อมูลเขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคนครเฉิงตู (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564)
https://www.google.com/search?q=3&rlz=1C1FHFK_enUS929US944&oq=3&aqs=chrome..69i57j69i60l2j69i61j69i65.89j0j4&sourceid=chrome&ie=UTF-8
ภาพประกอบ: เว็บไซต์ Freepik
<a href=”https://www.freepik.com/vectors/arrow”>Arrow vector created by macrovector – www.freepik.com</a>
[1] 1.อุตสาหกรรมอาหาร 2.อุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อ 3.อุตสาหกรรมร้านขายยา 4.อุตสาหกรรมร้านหนังสือ 5.อุตสาหกรรมความงามทางการแพทย์ 6.อุตสาหกรรมด้านการจัดหางาน 7.อุตสาหกรรมด้านการประมูล 8.อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้า 9.อุตสาหกรรมการฝึกอบรมการขับรถ 10.อุตสาหกรรมด้านตัวแทนจัดหางาน 11.อุตสาหกรรมการฝึกอาชีพที่แสวงหาผลกำไร 12.อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ 13.อุตสาหกรรมตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ 14.อุตสาหกรรมโรงแรม 15.อุตสาหกรรมนำเข้าส่งออก 16.อุตสาหกรรมการบันเทิงและเกม 17.อุตสาหกรรมภาพยนตร์ 18.อุตสาหกรรมสื่อและโทรทัศน์ 19.อุตสาหกรรมการแพทย์เกี่ยวกับสัตว์ 20.อุตสาหกรรมธุรกิจเคมีภัณฑ์