ไฮไลท์
- รัฐบาลกว่างซีให้ความสำคัญกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยมุ่งส่งเสริมงานด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการพัฒนานวัตกรรม ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น สนับสนุนให้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินมาตรการการป้องกันและปราบปราบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาด
- เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์ซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญากว่างซีได้พัฒนา “แพลตฟอร์มทรัพย์สินทางปัญญาจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Intellectual Property Rights Platform) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและผลักดันการพัฒนาตลาดซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างจีนกับอาเซียน ซึ่งธุรกิจ SMEs ของอาเซียนสามารถรับบริการด้านการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงแจ้งเตือนงานบริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา (early-warning) ได้ด้วย
- กว่างซีได้ดำเนินมาตรการ/กลไกเชิงรุกที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อสนับสนุนการ “ก้าวออกไป” ของภาคธุรกิจ พร้อมกับการดำเนินมาตรการ “ชวนเข้ามา” โดยเร่งส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาติ/องค์กรด้านทรัพย์สินทางปัญญาในกว่างซี และการชักชวนบริษัทผู้ให้บริการ/ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา และให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานความเป็นสากลด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะกระบวนการพิพากษาในคดีทรัพย์สินทางปัญญากับอาเซียน
- การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีนเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการไม่ควรละเลย หากเป็นสินค้า Hi-Tech หรือเป็นสินค้าเชิงนวัตกรรมสมัยใหม่จะต้องจดสิทธิบัตรให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิ/สวมรอยใช้เครื่องหมายการค้า ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับตราสินค้าไทยหลายยี่ห้อ โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ด้วยตนเองหรือว่าจ้างบริษัทตัวแทนในจีน หรือสามารถยื่นออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มของสำนักงานรับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอรับความคุ้มครองในประเทศภาคีสมาชิกพิธีสารมาดริด ซึ่งครอบคลุมถึงประเทศจีนได้ด้วยเช่นกัน
ทรัพย์สินทางปัญญา หรือ IP (Intellectual Property) เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล นานาประเทศทั่วโลก รวมถึงจีนต่างตระหนักดีว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา” กำลังกลายเป็นหัวใจของการแข่งขันในระดับโลก ข้อมูลจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ระบุว่า ปี 2562 จีนได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่ยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรนานาชาติมากที่สุดในโลก แซงหน้าสหรัฐอเมริกาที่ครองแชมป์ยาวนานกว่า 40 ปี สะท้อนให้เห็นว่าจีนให้ความสำคัญกับนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและโซลูชันใหม่ๆ
ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีให้ความสำคัญกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยมุ่งส่งเสริมงานด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการพัฒนานวัตกรรม ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น สนับสนุนให้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินมาตรการการป้องกันและปราบปราบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาด
ในปี 2563 เขตฯ กว่างซีจ้วงได้ตั้งคดีความผิดเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 142 คดี ปิดคดีได้แล้ว 121 คดี มีผู้ต้องหาในคดีที่ถูกออกหมายจับ จำนวน 44 คนใน 29 คดี มีโจทก์ในคดีฟ้องร้อง จำนวน 85 คนใน 38 คดี หน่วยงานศาลยุติธรรมได้รับฟ้องคดีแพ่ง คดีปกครอง และคดีอาญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 4,438 คดี และหน่วยงานด้านการกำกับตลาด (Administration for Market Regulation) ได้รับคดีการปลอมแปลงและละเมิดสิทธิบัตร (patent) จำนวน 126 คดี และการสืบสวนคดีละเมิดเครื่องหมายการค้า จำนวน 838 คดี
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจภายใต้แผนยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งด้านทรัพย์สินทางปัญญาของเขตฯ กว่างซีจ้วง เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์ซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญากว่างซี (GXIPEC/广西知识产权交易中心) ได้พัฒนา “แพลตฟอร์มทรัพย์สินทางปัญญาจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Intellectual Property Rights Platform/中国—东盟知识产权运营平台) ที่เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและผลักดันการพัฒนาตลาดซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างจีนกับอาเซียน ซึ่งธุรกิจ SMEs ของอาเซียนสามารถรับบริการด้านการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการแจ้งเตือนงานบริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา (early-warning)ได้ด้วย
การซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาบนแพลตฟอร์มดังกล่าว ประกอบด้วย สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่อหมายการค้า สิทธิในพันธุ์พืช แบบผังภูมิของวงจรรวม สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และความลับในการประกอบสินค้า นอกจากนี้ ยังมีการบริการต่างๆ อาทิ การบริการระดมทุนผ่านทรัพย์สินทางปัญญา การบริการแบบครบวงจร ทั้งการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ และการบริการถ่ายทอดผลงานวิจัยทางเทคโนโลยี
การดำเนินการเชิงรุกเพื่อสนับสนุนการ “ก้าวออกไป” ของภาคธุรกิจก็มีความน่าสนใจไม่น้อย ปัจจุบัน รัฐบาลกว่างซีกำลังเร่งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศตามพิธีสารมาดริด (Madrid protocol) การพัฒนากลไกการรับมือข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ การพัฒนาแพลตฟอร์มบิ๊กดาต้าทรัพย์สินทางปัญญาจีน-อาเซียน (China-ASEAN Intellectual Property Big Data Platform/中国—东盟知识产权大数据平台) และจัดตั้งฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ (Expert Database) เพื่อให้บริการที่เกี่ยวข้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ และการจัดทำคู่มือแนะนำการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถก้าวออกไปอย่างมั่นใจและมั่งคง
เมื่อมีการ “ก้าวออกไป” แล้ว ก็ต้องมีการ “ชวนเข้ามา” เช่นกัน รัฐบาลกว่างซีกำลังเร่งส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาติ/องค์กรด้านทรัพย์สินทางปัญญาในกว่างซี เช่น การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาและศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและสิทธิบัตร การเข้ามาของบริษัทผู้ให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ เพื่อเติมเต็มช่องว่างในสาขาการบริการขั้นสูงในกว่างซี และการเชิญชวนให้ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเติมเต็มช่องว่างด้านบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
สำหรับภาคธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในกว่างซี ปัจจุบัน รัฐบาลกว่างซีได้จัดตั้งองค์กรให้ความช่วยเหลือด้านการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในทุกเมือง โดยเฉพาะในเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) รัฐบาลกว่างซีได้จัดตั้งกลไกการให้ความคุ้มครองแบบเร่งด่วนในเขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง เมืองชินโจว และเมืองฉงจั่ว ให้สิทธิพิเศษสำหรับการตรวจสอบสิทธิบัตร ลดระยะเวลาการดำเนินการจาก 10 วันทำการเหลือเพียง 1 วันทำการ และยกระดับมาตรฐานความเป็นสากลด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับกระบวนการพิพากษาในคดีทรัพย์สินทางปัญญากับอาเซียน
จากข้อมูล ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2564 ในเขตฯ กว่างซีจ้วงมีการยื่นขอจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ จำนวน 26,731 รายการ คิดเป็นค่าเฉลี่ย 5.39 รายการต่อจำนวนประชากร 1 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 14.26% (YoY) และมีการยื่นขอจดเครื่องหมายการค้า จำนวน 341,433 รายการ เพิ่มขึ้น 30.66% (YoY) เป็นอัตราขยายตัวที่สูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศจีน
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจหรือกำลังเจาะตลาดในจีน บีไอซี ขอเน้นย้ำว่า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีนเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการไม่ควรละเลย หากเป็นสินค้า Hi-Tech หรือเป็นสินค้าเชิงนวัตกรรมสมัยใหม่จะต้องจดสิทธิบัตรให้เรียบร้อยด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิ/สวมรอยใช้เครื่องหมายการค้า ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับตราสินค้าไทยหลายยี่ห้อ
นอกจากนี้ สำนักงาน GX AIC (广西工商局) ได้ริเริ่มกลไกการทำงานใหม่ โดยล้อตามแนวทางการปฏิรูปเพื่ออำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยจัดตั้ง “ช่องบริการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า” ที่สำนักงานใหญ่ (GX AIC) และสำนักงานทุกเมืองทั่วมณฑล
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ด้วยตนเองหรือว่าจ้างบริษัทตัวแทนในจีน หรือหากผู้ประกอบการไม่สะดวก สามารถยื่นได้ที่ “สำนักงานรับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ” (Madrid Application Receiving Office) ณ ที่ทำการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยยื่นคำขอในประเทศไทยผ่านระบบออนไลน์และเลือกขอรับความคุ้มครองในประเทศภาคีสมาชิกพิธีสารมาดริดได้กว่า 193 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมถึงประเทศจีนด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新网广西) วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 , 23 เมษายน 2564
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี (广西日报) วันที่ 08 มิถุนายน 2564
เว็บไซต์ www.gxipop.com