ไฮไลท์
- ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (รหัสท่าอากาศยาน IATA : NNG) ได้รับอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนให้จัดตั้ง “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานเพื่อรองรับการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศแล้ว
- ในระยะต่อไป ท่าอากาศยานนครหนานหนิงจะเร่งดำเนินโครงการพัฒนา “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ตามมาตรฐานข้อกำหนดด้านการควบคุมและตรวจสอบโรคและแมลงศัตรูพืชของ GACC ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และเข้าสู่กระบวนตรวจรับก่อนที่จะสามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้อย่างเป็นทางการ
- ปัจจุบัน นครหนานหนิงมีเปิดเที่ยวบินคาร์โก้หนานหนิง-กรุงเทพฯ แล้ว เมื่อท่าอากาศนานาชาติอู๋ซวีนครหนาน
หนิงสามารถนำเข้าผลไม้ได้อย่างเป็นทางการ จะเป็นการเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าให้เกษตรกร และเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทยในการบุกเบิกตลาดกว่างซี(จีน)ได้อีกทาง โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ - นอกจากผลไม้ยอดนิยมของชาวจีนอย่าง ทุเรียน มังคุด ลำไยแล้ว มะพร้าวน้ำหอม การเปิดท่าอากาศยานนานาชาตินครหนานหนิงเพื่อการนำเข้าผลไม้ ยังช่วยสร้าง “โอกาส” ให้กับผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก หรือมีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาและปัจจัยแวดล้อมด้านการขนส่ง (บอมช้ำง่าย เน่าเสียง่าย) อาทิ ลองกอง ขนุน ชมพู่ มะขาม จากผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้ง 22 ชนิดได้อีกด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งข่าวดีในแวดวงผู้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC ได้ประกาศอนุมัติการจัดตั้ง “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” (เข้าใจง่ายๆ คือ ด่านตรวจพืชสำหรับผลไม้นำเข้า) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (รหัสท่าอากาศยาน IATA : NNG) แล้ว
หลายปีมานี้ การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ท่าอากาศยานแห่งนี้มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ คิดเป็นน้ำหนักรวม 9,182.5 ตัน (+46.74%) ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเบ็ดเตล็ดที่สั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์ม Cross border e-Commerce เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้า
ดังนั้น การอนุมัติการจัดตั้งด่านตรวจพืชสำหรับผลไม้นำเข้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง จะช่วยเพิ่มฟังก์ชันด้านการนำเข้า-ส่งออกสินค้าให้มีความครบครันมากยิ่งขึ้น และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ท่าอากาศยานแห่งนี้ก้าวขึ้นเป็น Hub การนำเข้า-ส่งออกสินค้าทางอากาศแห่งใหม่ของประเทศจีนด้วย
ตามรายงาน โครงการพัฒนา “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง ในส่วนของสิ่งปลูกสร้างมีพื้นที่ 1,009 ตร.ม. ประกอบด้วยโกดังตรวจสินค้า ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ความเสี่ยง โกดังควบคุมอุณหภูมิความเย็น ศูนย์ตรวจวิเคราะห์ผลแบบด่วน และพื้นที่กำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งสามารถรองรับงานนำเข้าผลไม้ได้อย่างครบวงจร
ในระยะต่อไป ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงจะเร่งดำเนินโครงการพัฒนา “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ที่กล่าวมาข้างต้นให้สอดคล้องกับมาตรฐานข้อกำหนดด้านการควบคุมและตรวจสอบโรคและแมลงศัตรูพืชของ GACC ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ก่อสร้างแล้วเสร็จ ยังต้องเข้าสู่กระบวนขอตรวจรับจาก GACC โดยหลังจากที่ผ่านการตรวจรับแล้ว ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงจึงจะสามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าให้เกษตรกร และเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทย
นอกเหนือจากผลไม้ยอดนิยมของชาวจีนอย่าง ทุเรียน มังคุด ลำไยแล้ว มะพร้าวน้ำหอม การเปิดท่าอากาศยานนานาชาตินครหนานหนิงเพื่อการนำเข้าผลไม้ ยังช่วยสร้าง “โอกาส” ให้กับผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก หรือมีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาและปัจจัยแวดล้อมด้านการขนส่ง (บอมช้ำง่าย เน่าเสียง่าย) อาทิ ลองกอง ขนุน ชมพู่ มะขาม จากผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้ง 22 ชนิดได้อีกด้วย
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ธุรกิจการบินพาณิชย์ของนครหนานหนิงเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากการขนส่งผู้โดยสารแล้ว ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงยังได้พัฒนา Cargo Complex เพื่อรองรับงานโลจิสติกส์และโกดังสินค้าระหว่างประเทศในอารักขาศุลกากรในสนามบิน ซึ่งช่วยให้สนามบินแห่งนี้กลายเป็นด่านนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศเต็มตัว
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 นครหนานหนิงได้เปิดเที่ยวบินคาร์โก้หนานหนิง-กรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ โดยใช้เครื่องบินคาร์โกของ China Postal Airlines รุ่น B757-200F ความจุ 29 ตัน โดยมีบริษัท Guangxi Tianhang Internatinal Supply-Chain Co.,Ltd (广西天航国际供应链有限公司) เป็นผู้ดำเนินการ
สินค้าที่ขนส่งมาที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นไปรษณีย์ภัณฑ์ที่สั่งซื้อผ่านระบบ Cross-border e-Commerce สินค้าทั่วไป และชิ้นส่วนที่ใช้ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง ขณะที่สินค้าที่รับจากกรุงเทพฯ กลับไปที่นครหนานหนิง ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล ปลาสวยงาม ดอกกล้วยไม้ และพืชผัก โดยสื่อท้องถิ่นได้ไฮไลท์ “อาหารทะเล” ของไทยเป็นสินค้าชูโรง
บีไอซี เห็นว่า “ท่าอากาศนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” เป็นช่องทางและโอกาสใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ ในการบุกเบิก “สินค้าสดและสินค้ามีชีวิต” รวมถึงสินค้าอื่นๆ จากไทยไปกว่างซี(จีน)
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 16 กันยายน 2564
เว็บไซต์ www.customs.gov.cn (海关总署)