BIC ณ นครซีอาน ขอพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับอุตสาหกรรมการผลิตไวน์ของเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ซึ่งถูกยกให้เป็น 1 ใน 6 อุตสาหกรรมหลักของเขตฯ ตั้งแต่ปี 2010 ตามแผนพัฒนา “แผนยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมและวัฒนธรรมไวน์องุ่นจากเชิงเขาตะวันออกของเทือกเขาเฮ่อหลาน” ของรัฐบาลเขตฯ และได้ขยายพื้นที่ปลูกองุ่นครั้งแรกในปี พ.ศ.2554 ราว 270,820 ไร่ เพื่อส่งเสริมการปลูกองุ่นสำหรับการทำไวน์ต่อมาจึงได้เริ่มเปิดรับการลงทุนจากวิสาหกิจผู้ผลิตไวน์ทั้งจากในและต่างประเทศ โดยในปี 2555 ถือเป็นปีทองของการต้อนรับวิสาหกิจระดับโลกอย่าง Moet Hennessey Grand Moueys ที่ตัดสินใจเข้าลงทุนในกิจการ Winery ที่เขตฯ หนิงเซี่ยหุยการเข้าลงทุนของวิสาหกิจไวน์ระดับโลก นอกจากจะสร้างชื่อให้กับเขตฯ แล้ว ยังสร้างความมั่นใจให้แก่วิสาหกิจขนาดเล็กที่ทยอยเข้าลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการก่อตั้งฐานนำร่องการพัฒนาอุตสาหกรรมไวน์หนิงเซี่ย
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเขตฯ หนิงเซี่ยหุย ระบุว่า ในปี 2563 เขตฯ มี Winery มากถึง 211 แห่งสร้างเสร็จพร้อมดำเนินธุรกิจ 101 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 110 แห่ง คิดเป็น 1 ใน 3 ของ Wineryทั่วประเทศจีน มีกำลังการผลิตราว 100,000 ตัน/ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตไวน์ทั้งประเทศ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไวน์ของเขตฯ หนิงเซี่ยหุย ได้รับการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้สามารถสร้างรายได้ สู่เขตฯ กว่า 26,100 ล้านหยวน และสามารถสร้างมูลค่าภายใต้แบรนด์ “ไวน์องุ่นจากเชิงเขาตะวันออกของเทือกเขาเฮ้อหลาน” (贺兰山东麓葡萄酒: Eastern foothills of Helan Mountain Wine) ได้สูงถึง 30,000 ล้านหยวน
พื้นที่เพาะปลูกองุ่นทำไวน์บริเวณเชิงเขาตะวันออกของเทือกเขาเฮ้อหลาน
ต่อมา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 คณะมนตรีแห่งรัฐ และกระทรวงเกษตรแห่งชาติ ได้ประกาศจัดตั้งฐานนำร่องอุตสาหกรรมองุ่นและไวน์ระดับชาติ ณ หมู่บ้านหมิ่นหนิง อ. หย่งหนิงในนครหยินชวน เขตฯ หนิงเซี่ยหุย (宁夏国家葡萄及葡萄酒产业开放发展综合试验区 : Ningxia National Grape and Wine Industry Open Development Comprehensive Experimental Zone) ครอบคลุมพื้นที่ 502.2 ตารางกิโลเมตร มีศูนย์ประชุมและจัดแสดงผลิตภัณฑ์ไวน์เฮ้อหลาน (闽宁镇贺兰红酒庄会议中心:Helan Red Wine Village Conference Center, Min-ning County) ด้วย โดยได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการบรรลุอีกหนึ่งเป้าหมายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไวน์ของรัฐบาลจีนอย่างเป็นรูปธรรม พร้อม ๆ กับการเร่งยกระดับสู่ฐานพัฒนาคุณภาพสายพันธุ์องุ่นทำไวอน์ ผลักดันเขตฯ หนิงเซี่ยหุยให้เป็นแหล่งบ่มเพาะอุตสาหกรรมไวน์ที่มีเอกลักษณ์ ไม่เหมือนที่ใด ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า จะสามารถสร้างมูลค่าอุตสาหกรรมไวน์ของเขตฯ หนิงเซี่ยหุยได้มากถึงหลักแสนล้านหยวน ได้ภายใน 5 ปี
ตั้งเป้าสู่อุตสาหกรรมไวน์หลักแสนล้านหยวน
จากความสำเร็จในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไวน์หนิงเซี่ยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เขตฯ หนิงเซี่ยหุยตั้งเป้าสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมไวน์ถึงหลักแสนล้านหยวนภายใน 5-15 ปี โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่
เป้าหมายระยะสั้น 5 ปี (ภายในปี 2569) คือ ขยายพื้นที่เพาะปลูกองุ่นทำไวน์เพิ่มอีก 1 ล้านหมู่ (ราว 409,836 ไร่) และเพิ่มมูลค่าการผลิตไวน์ขึ้นสู่ 100,000 ล้านหยวน
เป้าหมายระยะยาว 15 ปี (ภายในปี 2578) คือ ขยายพื้นที่เพาะปลูกองุ่นทำไวน์เพิ่มอีก 1.5 ล้านหมู่(ราว 614,754 ไร่) และเพิ่มมูลค่าการผลิตไวน์ขึ้นสู่ 200,000 ล้านหยวน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2564 กระทรวงเกษตรจีน กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน และรัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุย ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไวน์นานาชาติ ครั้งที่ 1 (中国(宁夏)国际葡萄酒文化旅游博览会:The First China (Ningxia) International Wine Culture and Tourism Expo) ณ นครหยินชวน เมืองหลวงของเขตฯ หนิงเซี่ยหุย โดยมีนายเฉิน จู๋ (Chen Zhu : 陈竺) รองประธานคณะกรรมาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วยนายเฉิน รุ่นเอ๋อ (Chen Runer: 陈润儿) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตฯ หนิงเซี่ยหุย และนางเสียน ฮุย (Xian Hui : 咸辉) ประธานเขตฯ หนิงเซี่ยหุย เข้าร่วม
พิธีเปิดงานฯ
การจัดงานดังกล่าว นอกจากเป็นเวทีประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมไวน์ของเขตฯ หนิงเซี่ยหุยแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ดี จากผลกระทบของ COVID-19 ผู้จัดงานจึงได้จัดพิธีเปิดในรูปแบบผสมผสานออฟไลน์และออนไลน์ โดย น.ส. สุรีย์ ไตรรัตนนุกูล กงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน ซึ่งมีเขตกงสุลครอบคลุมเขตฯ หนิงเซี่ยหุย ได้ร่วมบันทึกเทปประชาสัมพันธ์ศักยภาพอุตสาหกรรมไวน์ของประเทศไทย และอวยพรให้การจัดงานประสบความสำเร็จด้วย
เทปบันทึกภาพกงสุลใหญ่ฯ กล่าวร่วมเปิดงานมหกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไวน์นานาชาติ ครั้งที่ 1
พิธีลงนามความร่วมมือในโครงการต่าง ๆ
การออกร้านประชาสัมพันธ์ไวน์หนิงเซี่ยและสินค้าที่เกี่ยวข้อง
ในงานฯ มีวิสาหกิจไวน์เข้าร่วม 145 ราย มีการลงนามในโครงการลงทุนรวม 55 โครงการ มูลค่า 8,793 ล้านหยวน รวมถึงมีการจัดประกวด 10 สุดยอดไวน์คุณภาพเหรียญทอง โดยมีวิสาหกิจทั่วจีนส่งไวน์เข้าร่วมชิงชัยกว่า 620 รายการ ซึ่งไวน์จากเขตฯ หนิงเซี่ยหุยสามารถคว้าไปได้ถึง 7 รางวัล นอกจากนี้ ยังมีการประกาศผลการจัดอันดับ Winery ในเขตฯ หนิงเซี่ยหุยที่มีมาตรฐานระดับประเทศ โดยมี Winery 15 แห่ง ได้รับการจัดอันดับ 5 ดาว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมและความก้าวหน้าของการยกระดับอุตสาหกรรมไวน์ของเขตฯ หนิงเซี่ยหุย ตามแนวคิดการพัฒนาและต่อยอดการแปรรูปองุ่นของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ได้เน้นย้ำในระหว่างการตรวจเยี่ยมเขตฯ หนิงเซี่ยหุยทั้ง 2 ครั้ง (ในปี 2016 และ 2020) ว่า เขตฯ หนิงเซี่ยหุยถือเป็นพื้นที่เพาะปลูกองุ่นเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณเชิงเขาด้านตะวันออกของเทือกเขาเฮ้อหลาน ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่า มีอุณหภูมิเหมาะสมกับการปลูกองุ่น จึงควรเร่งส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไวน์ในหนิงเซี่ยหุย
โอกาสของไวน์หนิงเซี่ยในไทย และโอกาสของไวน์ไทยในจีน
หลังจากที่ได้ทราบพัฒนาการอุตสาหกรรมไวน์ของเขตฯ หนิงเซี่ยหุยแล้ว BIC นครซีอาน ขอพาทุกท่านหันกลับมามองถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมไวน์ไทย และโอกาสของไวน์ไทยในตลาดจีน คนไทยเริ่มนิยมดื่มไวน์มาตั้งแต่ปี 2538 โดยเป็นไวน์นำเข้าถึง 95% ไทยเริ่มผลิตไวน์ในปี 2541 แหล่งผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียงของไทย มีอยู่ 4 แหล่ง แต่ละแหล่งมีสภาพดินและภูมิอากาศที่แตกต่างกันจนได้ชื่อว่าเป็น New Latitude Wine และไวน์ไทยหลายแบรนด์เคยได้รับรางวัลระดับโลกมาแล้ว ทั้งนี้ ไวน์ไทยส่วนใหญ่จะจับคู่ได้ดีกับเมนูอาหารที่มีรสเผ็ดและเมนูอาหารไทย โดยรสชาติจะมีความนุ่มนวล กลมกล่อม มีรสและกลิ่นผลไม้ แม้ไทยจะผลิตไวน์ได้เอง และมีคุณภาพสูง แต่กำลังการผลิตและผู้เล่นในตลาดยังมีน้อย ดังนั้น ตลาดไวน์นำเข้าในไทยจึงยังเปิดกว้าง แม้ในปี 2563ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 การบริโภคไวน์นำเข้าของไทยอาจลดลงไปบ้าง แต่ก็ยังสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ประมาณ 104 ล้านลิตร มูลค่าทางการตลาด 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ไวน์หนิงเซี่ยหุย จึงสามารถเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจนำเข้าสู่ตลาดไวน์ของไทย
(ขอบคุณภาพจาก
https://cellar.asia/th/wine/thailand-wine-regions-and-map/)
ในทางกลับกัน ตลาดไวน์ในจีน ก็อาจเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับไวน์ไทยได้เมื่อพิจารณาจากการที่จีนเป็นตลาดผู้บริโภคไวน์อันดับ 6 ของโลก ทั้งนี้ ความนิยมดื่มไวน์ของชาวจีนมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลจาก
(1) ไวน์มีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเหล้าไป๋จิ่วหรือเหล้าขาวซึ่งเป็นที่นิยมในอดีต ทำให้ชาวจีนรุ่นใหม่ซึ่งไม่ชื่นชอบรสและดีกรีสูงของเหล้าขาว (สูงกว่า 38 ดีกรี) หันมานิยมดื่มไวน์ซึ่งมีกลิ่นหอมและรสชาติละมุนกว่าแทน
(2) ไวน์มีให้เลือกหลายหลายชนิด สามารถจับคู่ได้ดีกับอาหารหลากหลายรสชาติและสามารถดึงรสชาติของอาหารออกมาได้ ทำให้อาหารมีรสชาติดียิ่งขึ้น
(3) ชาวจีนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ซึ่งไวน์ได้รับการยอมรับว่า เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เนื่องจากไวน์มีสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติที่เรียกว่า resveratrol ซึ่งสามารถลดความหนืดของเลือด, ลดคอเลสเตอรอล, ป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง, และโรคหลอดเลือดหัวใจได้ และ (4) ค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวจีนที่มองว่า ไวน์เป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราและมีฐานะ
อย่างไรก็ดี แม้ตลาดผู้บริโภคไวน์ของจีนจะสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่อุตสาหกรรมไวน์จีนยังแข่งขันได้ต่ำ เมื่อเทียบกับไวน์นำเข้า ทั้งนี้ ในปี 2563 จีนมีรายได้จากการผลิตและจำหน่ายไวน์รวม 10,021 ล้านหยวน แต่มียอดการนำเข้าไวน์จากต่างประเทศรวม 2,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 18,085 ล้านหยวน โดยนำเข้าไวน์จากออสเตรเลียมากที่สุด (มากกว่าไวน์ฝรั่งเศสเล็กน้อย) อย่างไรก็ดี หลังจากจีนตั้งกำแพงภาษีกับออสเตรเลียเมื่อ เดือนมีนาคม 2021 คาดว่าจะทำให้ไวน์นำเข้าจากออสเตรเลียลดลง จึงเป็นโอกาสสำหรับไวน์จากประเทศอื่น ๆ รวมทั้งไทย ในการส่งออกไวน์เข้าไปทดแทนไวน์ออสเตรเลียในตลาดจีน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดในสำหรับการแข่งขันในตลาดไวน์จีนนอกเหนือจากรสชาติ คือ ราคาที่ไม่สูงมากจนเกินไป ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง
- https://baijiahao.baidu.com/s?id=1712107930365115027&wfr=spider&for=pc
- https://t.ynet.cn/baijia/31484583.html
- https://new.qq.com/omn/20210928/20210928A03P2L00.html
- https://cellar.asia/th/wine/thailand-wine-regions-and-map/
- https://cellar.asia/th/wine/6-reasons-why-chinese-people-prefer-to-drink-wine-during-the-spring-festival/
- https://positioningmag.com/1337914