• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ซีอาน เปิดตัว “แนวปฏิบัติทางคลินิกระหว่างประเทศของการแพทย์แผนจีนในโรคสมองพิการ” ตอกย้ำความสำเร็จด้านการวิจัยทางการแพทย์ของนครซีอาน

ซีอาน เปิดตัว “แนวปฏิบัติทางคลินิกระหว่างประเทศของการแพทย์แผนจีนในโรคสมองพิการ” ตอกย้ำความสำเร็จด้านการวิจัยทางการแพทย์ของนครซีอาน

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 ในงาน 2021 China International Trade Fair in Services ซึ่งจัดขึ้นที่ กรุงปักกิ่งระหว่างวันที่ 2-7 กันยายน 2564 โรงพยาบาลแพทย์แผนจีนด้านโรคสมองแห่งนครซีอาน (Xi’an Traditional Chinese Medicine Brain Disease Hospital : 西安中医脑病医院) ได้เปิดตัว “แนวปฏิบัติทางคลินิกระหว่างประเทศของการแพทย์แผนจีนในโรคสมองพิการ” (International Clinical Practice Guidelines of Traditional Chinese Medicine – Cerebral Palsy : 国际中医临床实践指南—脑性瘫痪) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า SCM 62-2021 ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการวิชาชีพโรคสมองพิการในเด็กแห่งสหพันธ์สมาคมการแพทย์แผนจีนโลก (Pediatric Cerebral Palsy Professional Committee of World Federation of Chinese Medicine Societies : 世界中医药学会联合会小儿脑瘫专业委员会)

แนวปฎิบัตินี้ผ่านการจัดทำและกลั่นกรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ (50 ผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ด้านสมองจาก 7 ประเทศ) โดยในปี 2562 รัฐบาลจีนได้เริ่มผลักดันแนวปฎิบัติฯ เข้าสู่การประชุมผู้บริหารสหพันธ์แพทย์แผนจีนโลกครั้งที่ 4 ณ ประเทศฮังการี และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนด้านโรคสมองแห่งนครซีอานได้พัฒนาและปรับปรุงแนวปฏิบัติฯ เพื่อเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงาน 2021 China International Trade Fair in Services และสามารถนำไปปฏิบัติอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564

แนวปฏิบัติฯ เป็นการผสานศาสตร์แพทย์แผนจีนและการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อนำมาใช้รักษาสาเหตุและฟื้นฟูโรคสมองพิการในเด็ก โดยมีวิธีการรักษาหลัก ได้แก่ การฝังเข็ม ทานยาสมุนไพรจีน และการนวดบำบัดทุยหนา (推拿:tuina) มีแนวทางการปฏิบัติที่รัดกุม สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับทางการแพทย์ สามารถเป็นพื้นฐานสำหรับการปฏิบัติทางคลินิก ข้อกำหนดในการวินิจฉัย และการประเมินคุณภาพการรักษาโรคสมองพิการในเด็กได้

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคสมองพิการ ซึ่งโรคดังกล่าวมีผลต่อการพัฒนาทางสมองของเด็กทารก โรคสมองพิการในเด็ก มี 4 ประเภทได้แก่

  1. Spastic Cerebral Palsy (CP) พบมากที่สุดร้อยละ 70 – 80 มีอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะแขนหรือขา อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งลำตัว มีลักษณะท่าทางที่ผิดปกติของร่างกายปรากฎให้เห็นได้หลายแบบ คือ Hemiplegia มีอาการลำตัวและแขนขาเกร็งครึ่งซีก, Diplegia มีอาการเกร็งมากอย่างเห็นได้ชัด, Quadriplegia มีอาการเกร็งของแขนและขาทั้งสองข้าง, และอาการอื่น ๆ เช่น Monoplegia, Paraplegia, Triplegia
  2. Athetoid CP พบได้ประมาณร้อยละ 25 มีอาการกล้ามเนื้อแข็งตึงหรืออ่อนแรงสลับกันไปมาตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้มีอาการชักหรือไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ บางรายอาจมีอาการคอเอียง ปากเบี้ยวร่วมด้วย
  3. Ataxic CP พบได้น้อย แต่หากเกิดจะทำให้เด็กมีปัญหาในการทรงตัว ขาดสมดุลของการประสานงานระบบต่าง ๆ ในร่างกาย รวมทั้งอาจมีอาการสั่นร่วมค้วย
  4. Mixed CP มีลักษณะสมองพิการมากกว่า 1 ประเภทเกิดขึ้นร่วมกัน

ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ทารกแรกเกิดที่มีสมองพิการมีจำนวน 5 ใน 1000 ของทารกแรกเกิดทั้งหมด ปัจจุบันมีผู้ป่วยสมองพิการมากถึง 17 ล้านรายทั่วโลก ในจีนมีผู้ป่วยกว่า 6 ล้านราย ดังนั้น การรักษาและการฟื้นฟูอาการสมองพิการจึงเป็นปัญหาใหญ่ของการรักษาพยาบาลทั่วโลก

นายซ่ง หู่เจี๋ย (Song Hujie:宋虎杰) คณบดีโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนด้านโรคสมองแห่งนครซีอานและเป็นผู้วิจัยหลักของแนวปฏิบัติฯ กล่าวเสริมว่า การรักษาและการฟื้นฟูการสมองพิการด้วยการแพทย์แผนจีนมีประโยชน์ที่โดดเด่น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลฯ ได้รักษาผู้ป่วยสมองพิการจากต่างประเทศกว่า 1,000 ราย อาทิ รัสเซีย คาซัคสถาน ทาจิกิสถาน ยูเครน อินเดีย และญี่ปุ่น ความสำเร็จในการจัดทำแนวปฏิบัติดังกล่าว เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความก้าวหน้าในเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์การแพทย์ของจีน โดยเฉพาะในนครซีอานซึ่งมีนักศึกษาต่างชาติ (รวมทั้งจากประเทศไทย) จำนวนไม่น้อยมาเรียนวิชาการฝังเข็มที่มหาวิทยาลัยการแพทย์จีน ปัจจุบันมีนักศึกษาแพทย์จากไทยกำลังศึกษาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาในนครซีอานกว่า 40 คน โดยส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยซีอานเจียวทง (Xi’an Jiaotong University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 10 ของจีน และเป็น 1 ในสมาชิกของกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำ 9 แห่งของจีนอีกด้วย

แหล่งที่มา

http://www.mdweekly.com.cn/html/xinwen/difangcaifeng/2021/0907/35783.html

https://baike.baidu.com/item/%E8%84%91%E6%80%A7%E7%98%AB%E7%97%AA/4495085?fr=aladdin

http://www.financeun.com/newsDetail/39314.shtml

https://baidu.wy.guahao.com/hospital/697e579a-bc60-47e9-9a50-f29bb7da7418000?_t=1526183150

http://www.360doc.com/content/21/1007/09/454841_998584568.shtml

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]