ซีหนิง, 21 ต.ค. (ซินหัว) — พื้นที่ผิวน้ำของทะเลสาบชิงไห่ (Qinghai Lake) ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำเค็มขนาดใหญ่ที่สุดของจีน แผ่ขยายกว้างที่สุดนับตั้งแต่ปี 2004 อันเป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นและการดูแลรักษาระบบนิเวศที่ดีขึ้น
สถาบันวิจัยอุตุนิยมวิทยามณฑลชิงไห่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเปิดเผยข้อมูลจากการสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งชี้ให้เห็นว่าทะเลสาบชิงไห่มีพื้นที่ผิวน้ำครอบคลุมมากกว่า 4,625 ตารางกิโลเมตร เมื่อนับถึงสิ้นเดือนกันยายน ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 381 ตารางกิโลเมตร จากเมื่อ 17 ปีก่อน
“ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทะเลสาบมีพื้นที่น้ำกว้างขวางขึ้น ขณะที่การส่งเสริมการอนุรักษ์ระบบนิเวศก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน” จ้าวฮุ่ยฟาง เจ้าหน้าที่สถาบันฯ กล่าว
ทั้งนี้ ทะเลสาบชิงไห่เป็นแหล่งน้ำสำคัญในการรักษาสมดุลทางนิเวศวิทยาบนฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ทั้งยังเป็นแนวกั้นตามธรรมชาติที่ควบคุมไม่ให้การแปรสภาพเป็นทะเลทรายรุกล้ำไปทางตะวันออก
พื้นที่น้ำของทะเลสาบชิงไห่เริ่มลดน้อยลงตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ กิจกรรมของมนุษย์ แต่การอนุรักษ์ระบบนิเวศบวกกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคได้ช่วยพลิกฟื้นให้สถานการณ์กลับมาดีขึ้น
นอกจากนี้ ในปี 2008 ชิงไห่ยังได้เปิดตัวแผนปกป้องสิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยาและการจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบชิงไห่ระยะ 10 ปี ด้วยเงินลงทุนรวม 1.57 พันล้านหยวน (ราว 8.1 พันล้านบาท) โดยระบบนิเวศที่ดีขึ้นนั้นช่วยเอื้อประโยชน์ต่อพืชและสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ เช่น จำนวนสายพันธุ์นกในทะเลสาบเพิ่มขึ้นจาก 164 สายพันธุ์ ในปี 1996 มาอยู่ที่ 225 สายพันธุ์ในปี 2020
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Xinhua