เอกลักษณ์ กาติน (เอก)
นักศึกษา ปวส. สาขาเทคนิคควบคุมซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง วิทยาลัยเทคนิคนครลำปาง เทียบโอนวิชาไปเรียนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิคกุ้ยหยาง ประเทศจีน ปัจจุบันทำงานตำแหน่ง ช่างเทคนิค (Technician) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
“วิทยาลัยเทคนิคนครลำปาง สาขาเทคนิคซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง ที่ผมเรียน มีโครงการเทียบโอนความรู้ระบบรางไทย – จีน โดยเรียนที่ไทย 1 ปี และเรียนที่ประเทศจีน 1 ปี ผมสนใจเข้าร่วม เพราะชอบภาษาจีนและเทคโนโลยีของประเทศจีน”
“เมื่อไปถึงประเทศจีน ผมได้เรียนภาษาจีนและและศัพท์เฉพาะทางในด้านระบบราง ก่อนที่จะเรียนเนื้อหาที่มี 4 สาขา คือ
- การควบคุมรถไฟความเร็วสูง
- ระบบอาณัติสัญญาณ (Signaling)
- ระบบช่วงล่าง (Rolling stock)
- ระบบราง (Track work)
ในการเรียนด้านปฏิบัติ วิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิคกุ้ยหยาง มีห้องปฏิบัติการควบคุมการเดินรถ มีเครื่อง Simulator ในรถไฟความเร็วสูง ให้ฝึกปฏิบัติในการควบคุม ซ่อมบำรุงระบบอาณัติสัญญาณ ซ่อมบำรุงทางรถไฟ ซ่อมบำรุงช่วงล่าง และระบบจ่ายไฟฟ้าในขบวนรถไฟ”
“ผมมองว่า ประเทศไทยสามารถศึกษามาตราฐานการเดินรถและความปลอดภัยของระบบรางจากประเทศจีน มาปรับใช้เพื่อการพัฒนา ระบบ เพื่อตอบโจทย์ รถไฟความเร็วสูงในอนาคตของไทย พัฒนาความร่วมมือไทย – จีน ด้านระบบราง การก่อสร้างทางเดินรถการซ่อมบำรุงรถ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนากิจการรถไฟ ระหว่าง 2 ประเทศไปด้วยกันและได้รับประโยชน์ ทั้ง 2 ฝ่าย ในด้านการท่องเที่ยว การค้าระหว่างประเทศ”
“ผมเชื่อว่า อีกไม่นานระบบขนส่งทางรางในประเทศไทย จะมีความปลอดภัยดีขึ้นและตรงต่อเวลามากขึ้น เทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงประเทศจีนที่มีรถไฟความเร็วสูง ตอบสนองต่อการเดินทางของประชาชนในประเทศได้อย่างทั่วถึง”
“สำหรับการเดินทางในประเทศของคนไทยนั้น ผมมองว่า ในอนาคตจะมีระบบการใช้ตั๋ว 1 ใบ สามารถเดินทางได้ทุกรูปแบบ จะเดินทางรถไฟฟ้าหรือรถไฟได้ครบและจบที่ใบเดียวครับ”
“ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่สามารถพัฒนาระบบรางเพื่อการขนส่งสินค้า ระหว่างประเทศ ทั้งการขนส่งรูปแบบหัวรถจักรและความเร็วสูง ในอนาคตทางด้านเศรษฐกิจ ไทย จะมีการส่งออก ทางด้าน พืชผักผลไม้ทาง เศรษฐกิจ ระหว่างประเทศไทยและจีน หรือประเทศอื่น ๆ ได้มากขึ้นอีกด้วย”
ที่มา วารสารวิทย์ไมตรีไทย-จีน ฉบับเดือนสิงหาคม 2564 “รถไฟความเร็วสูงจีน (China Railway High-speed: CRH)”