รถไฟความเร็วสูงของจีน (China Railway High-speed: CRH)

รถไฟความเร็วสูงของจีน (China Railway High-speed: CRH) หมายถึง รถไฟความเร็วสูงที่สร้างและใช้ในประเทศจีน และเป็นหนึ่งในประเภทที่สำคัญของโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งในประเทศจีนร่วมสมัย

ตาม “ข้อกําหนดของการออกแบบรถไฟความเร็วสูง (TB10621-2014)” รถไฟความเร็วสูงของจีนเป็นรถไฟที่ถูกออกแบบมาสำหรับขนส่งผู้โดยสาร โดยได้รับการออกแบบให้มีความเร็วมากกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ตาม “แผนระยะกลางและแผนระยะยาวของเครือข่ายรถไฟ ปี ค.ศ. 2016 เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนประกอบด้วยเส้นทางใหม่ทั้งหมดที่ออกแบบให้มีความเร็วมากกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ปัจจุบัน การรถไฟของจีนอยู่ในช่วงเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยภายในสิ้นปี 2020 ระยะทางในการดำเนินงานของทางรถไฟของจีนมีความยาวเกิน 146,300 กิโลเมตร ซึ่งทางรถไฟความเร็วสูงมีความยาวเกิน 37,900 กิโลเมตร

โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในสาธารณรัฐประชาชนจีน

  • สายสีน้ำเงิน รถไฟความเร็วสูงสายใหม่ มีความเร็ว 300-380 กม./ชม
  • สายสีเขียว รถไฟความเร็วสูงสายใหม่ มีความเร็ว 200-299 กม./ชม
  • สายสีส้ม อัพเกรดไลน์เดิมด้วยความเร็ว 200-250 กม./ชม.
  • สายสีเทา ทางรถไฟสายอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงแบบเร่งความเร็ว
(Photo: Wikipedia)

ระยะทางรถไฟในประเทศจีน

ที่มา : National Bureau of Statistics of China

ประวัติการพัฒนา

เติ้ง เสี่ยวผิง ได้ไปเยือนประเทศญี่ปุ่นและได้นั่งรถไฟชินคันเซน

ในปี ค.ศ. 1978 ประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง ได้ไปเยือนญี่ปุ่นและได้นั่งรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น จากนั้นรถไฟความเร็วสูงได้เข้าสู่วิสัยทัศน์ของประชาชนชาวจีนอย่างเป็นทางการ

ในช่วงทศวรรษ 1980 การรถไฟของจีนต้องเผชิญกับปัญหาในการขนส่งที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ รถไฟวิ่งด้วยความเร็วต่ำกว่า 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีปัญหาในการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า ซึ่งกระทรวงการรถไฟจีนในสมัยนั้น ระบุว่า เกิดจากข้อจำกัดทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมในขณะนั้น จึงเกิดการเริ่มต้นของการพัฒนารถไฟความเร็วสูงในประเทศจีนอย่างเป็นขั้นตอน ดังนี้


ขั้นตอนการก่อสร้าง

ขั้นแรก คือ การเพิ่มความเร็วและการขยายเส้นทางรถไฟให้มากขึ้น โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ทศวรรษ 1980 ได้พัฒนารถไฟเส้นทางกวางโจว-เซินเจิ้น (Guangzhou-Shenzhen Railway) และเส้นทางรถไฟกวางโจว-เกาลูน (Guangzhou-Kowloon Railway) โดยการปรับปรุงระบบไฟฟ้า เพิ่มความเร็วเป็น 160 กม./ชม. เป็นเส้นทางรถไฟสายทดสอบรถไฟกึ่งความเร็วสูงของจีน

ในปี ค.ศ. 1990 เป้าหมายความเร็วของรถไฟความเร็วสูงของโลกได้เพิ่มขึ้นจาก 160 กม./ชม. เป็นมากกว่า 200 กม./ชม. และความเร็วในช่วงทดสอบของรถไฟความเร็วสูงในบางประเทศได้เกิน 400 กม./ชม. ในช่วงเวลาเดียวกัน ประชากรทั้งหมดของจีนมีถึง 1,100 ล้านคน แต่มีทางรถไฟเพียง 5,300 กิโลเมตรเท่านั้น อัตรารถไฟที่ใช้ขนส่งสินค้าในประเทศ คิดเป็น 70% ขึ้นไป และการขนส่งผู้โดยสาร คิดเป็น 50% ขึ้นไป คือรถไฟสายหลักจำนวน 6 สาย ในภาคกลางและตะวันออก ซึ่งในขณะนั้นการใช้บริการของผู้โดยสารทั้งหมดในประเทศ คิดเป็น 80% ส่งผลให้ผู้โดยสารเฉลี่ย 500,000 กว่าคน/วัน ไม่ได้ใช้บริการรถไฟ และขาดรถไฟโดยสารมากกว่า 220 คู่ และส่งผลกระทบให้บางขบวนมีจำนวนผู้โดยสารเกินความจุ ความเร็วในการเดินทางโดยเฉลี่ยของรถไฟโดยสารทั่วประเทศอยู่ที่ 40 กม./ชม.

รถไฟกวางโจว-เซินเจิ้น

รถไฟกวางโจว-เซินเจิ้นในทศวรรษ 1990
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ถึง 1991 จีนเริ่มวางแผนสำหรับการวิจัยและทดสอบเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง และเสนอแนวคิดการก่อสร้างเส้นทางเฉพาะสำหรับผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า

เส้นทางสายกว่างโจว–เซินเจิ้น เป็นสายนำร่องของรถไฟความเร็วสูง และมีการออกแบบรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางรถไฟสายปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ (Beijing-Shanghai Railway) ปักกิ่ง – เทียนจิน (Beijing-Tianjin Railway) และเซี่ยงไฮ้–หนานหนิง (Shanghai-Nanjing Railway) รถไฟกวางโจว-เซินเจิ้น หลังการเปลี่ยนแปลงเป็นรถไฟกึ่งความเร็วสูง (160km/h-200km/h)

“แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8” (ค.ศ. 1991 – 1995) และ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9” (ค.ศ. 1996 – 2000) ใน “แผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระยะกลางและระยะยาว” มีการร่างแผนวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับรถไฟความเร็วสูง
ในปี ค.ศ. 1994 นักวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์จีนเกิดความคิดเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับ “แผนการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้” ทำให้โครงการหยุดดำเนินการ ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 1994 รถไฟเส้นทางกวางโจว-เซินเจิ้น ได้เปลี่ยนแปลงเป็นรถไฟกึ่งความเร็วสูงสำเร็จ โดยความเร็วสูงสุดของรถไฟถึง 160 กม./ชม. และในช่วงเวลานี้ ปัญหาการขนส่งในเทศกาลฤดูใบไม้ผลิของจีนเริ่มปรากฎมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงภายในประเทศของจีนในมากยิ่งขึ้น

ในปี ค.ศ. 1996 จีนและเกาหลีใต้ได้ร่วมกันพัฒนารถไฟความเร็วสูงและทำการทดสอบเส้นทางรถไฟกวางโจว-เซินเจิ้น
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1998 การรถไฟกวางโจว-เซินเจิ้น มีความเร็วสูงสุด 200 กม./ชม. เป็นรถไฟขบวนแรกในประเทศจีนที่บรรลุเป้าหมายของตรงตามข้อกำหนดของรถไฟความเร็วสูง ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1998 โครงการรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ปรากฏอยู่ในข้อพิพาทสองกรณีที่มีข้อพิพาทร่วมกัน : “เทคโนโลยีรางล้อแบบดั้งเดิม” และ “เทคโนโลยีรางลอยแม่เหล็ก (electromagnetic levitation / electromagnetic suspension)” ซึ่งนำไปสู่การพักโครงการในระยะยาว

รถไฟสายพิเศษ Qin-Shen / สายการสาธิตรถไฟ maglev ที่เซี่ยงไฮ้

เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1999 เทคโนโลยีการใช้รถไฟฟ้าความเร็วสูง 200 กม./ชม. ของรถไฟสายกวางโจว-เซินเจิ้น ได้ผ่านการประเมินของกระทรวงการรถไฟจีน และเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1999 เริ่มการก่อสร้างรถไฟสายพิเศษ Qin-Shen (คือรถไฟความเร็วสูงสายแรกในจีนแผ่นดินใหญ่ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟปักกิ่ง-ฮาร์บิน) เริ่มต้นขึ้นเพื่อเป็นสายผลิตและทดสอบรถไฟความเร็วสูงแบบรางล้อเครื่องแรกของจีน

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2001 เริ่มทดลองรถไฟ maglev ที่เซี่ยงไฮ้ เริ่มก่อสร้างเป็นโครงการนำร่องสำหรับสายเทคนิค maglev ของรถไฟความเร็วสูงของจีน

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2002 การทดลองรถไฟ Shanghai Maglev เสร็จสมบูรณ์ ด้วยความเร็วการออกแบบที่ 430 กม./ชม. ซึ่งเป็นระบบรถไฟความเร็วสูงระบบแรกของจีน

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 2003 ก่อสร้างรถไฟสายพิเศษ Qin-Shen เสร็จสมบูรณ์และเปิดให้สัญจรได้ ด้วยความเร็วออกแบบ 250 กม./ชม. เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงแห่งชาติสายแรกของจีน


การพัฒนาและเติบโต

ในปี ค.ศ. 2003 รถไฟความเร็วสูงของจีน ได้กำหนดแนวคิดพื้นฐานของ “เทคนิคทางการตลาด” และพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนผ่านความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 2004 สภาแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนจีนได้อนุมัติ “การวางแผนเครือข่ายรถไฟขนาดกลางและระยะยาว” การวางแผนและสร้างเส้นทางเฉพาะผู้โดยสารในลักษณะ“แนวนอนสี่และแนวตั้งสี่” โดยมีดัชนีความเร็วของการออกแบบมากกว่า 200 กม./ ชั่วโมง

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 2005 รถไฟความเร็วสูงฉือเจียจวง – ไท่หยวน (Shijiazhuang-Taiyuan High-speed Railway) เริ่มก่อสร้างขึ้นและจีนได้เข้าสู่ช่วงการก่อสร้างที่เป็นมาตรฐานของทางรถไฟความเร็วสูง สำหรับการขนส่งผู้โดยสารโดยเฉพาะ โครงการนี้ก่อตั้งขึ้นในชื่อ “สายพิเศษสำหรับการขนส่งผู้โดยสาร” หรือ “การคมนาคมระหว่างเมือง”

เมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 2007 รถไฟความเร็วสูงของไต้หวันสายบันเฉียว-จั่วอิง (Taiwan High Speed Rail) ได้เปิดให้ทดลองใช้งานและกลายเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกของจีนที่มีออกแบบความเร็ว 300 กม./ชม. เมื่อวันที่ 18 เมษายน ได้มีการเพิ่มความเร็วขนาดใหญ่ครั้งที่ 6 ของรถไฟความเร็วสูงของจีนขึ้น ความเร็วสูงสุดของบางส่วนของรถไฟคือ 250 กม./ชม. เป็นครั้งแรกที่ประเทศจีนเริ่มพัฒนาเป็นรูปเป็นร่างและเริ่มให้บริการรถไฟความเร็วสูง 200 กม./ชม. รถไฟจีน และในขณะนี้เองก็ได้เริ่มเข้าสู่ยุคของรถไฟความเร็วสูง

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2008 รถไฟเส้นทางปักกิ่ง-เทียนจินได้เริ่มดำเนินการ เป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยความเร็ว 350 กม./ชม.

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2009 รถไฟความเร็วสูงสายอู่ฮั่น – กวางโจว และสายปักกิ่ง – กวางโจวได้เปิดให้บริการแล้ว โดยความเร็วสูงสุดของรถไฟคือ 350 กม. / ชม. เป็นครั้งแรกที่ทำลายสถิติของการขนส่งทางรถไฟของจีนในช่วงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 2017 รถไฟความเร็วสูงสายฉือเจียจวง – จี้หนาน (Shijiazhuang-Jinan High-speed Railway) ได้เริ่มเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงของจีน

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 ถึงปี 2018 ประเทศจีนได้สร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่มีขนาดใหญ่บนพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล และอ่าวป๋อไห่ เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงระหว่างสี่พื้นที่หลักในภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

ข้อมูล ณ สิ้นปี ค.ศ. 2019 รถไฟความเร็วสูงของจีนมีระยะทางทั้งหมด 35,000 กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีความเร็ว 486.1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ปี ค.ศ. 2020 จีนได้พัฒนารถไฟ maglev ความเร็ว 600 กม./ชม. โดยใช้เวลาเพียง 3.5 ชั่วโมงจากปักกิ่งไปเซี่ยงไฮ้
เมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 2021 บริษัท China National Railway Group Co., Ltd. ได้มีการประกาศว่า ระยะทางรถไฟความเร็วสูงของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 37,900 กิโลเมตร ถือเป็นความสำเร็จโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีน


ระบบตั๋วรถไฟ

ระบบตั๋วรถไฟ หมายถึง ระบบการจองตั๋วและขายตั๋วการพัฒนาระบบจำหน่ายตั๋วรถไฟรุ่นใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2011  มีรายงานว่าต้นทุนการพัฒนาระบบตั๋วโดยสารของกระทรวงรถไฟโครงการระยะแรกสูงถึง 199 ล้านหยวน

ปัจจุบันจีนมีระบบศูนย์บริการลูกค้ารถไฟ 12306 หรือ เว็บไซต์ 12306 เป็นช่องทางสำคัญในการให้บริการขายตั๋วและจองตั๋วรถไฟ ระบบมีข้อมูลการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทุกเส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารและสินค้า และให้บริการสอบถามข้อมูลสาธารณะ เมื่อเข้าสู่เว็บไซต์นี้ ลูกค้าสามารถสอบถามเกี่ยวกับตารางเดินรถไฟโดยสาร ราคาตั๋ว ตั๋วที่เหลือ จุดจำหน่ายหรือตัวแทนขายตั๋ว อัตราค่าส่งสินค้า ระยะทางของยานพาหนะ และระเบียบข้อบังคับด้านผู้โดยสารและการขนส่งที่เกี่ยวข้อง ซึ่งลูกค้าขนส่งทางรถไฟส่วนใหญ่ จะจองต๋วและซื้อตั๋วผ่านทางเว็บไซต์ 12306

สามารถเข้าสู่ระบบ http://www.12306.cn เพื่อลงทะเบียน สำหรับผู้ใช้ตั๋วออนไลน์

ปัญหาการซื้อตั๋ว

ในช่วง “ช่วงปีใหม่ของจีน” ปี ค.ศ. 2012 พบปัญหาการซื้อตั๋วเกิดขึ้น ส่งผลให้กระทรวงรถไฟจีนมีการพัฒนาระบบการซื้อตั๋ว 12306 เพื่อสนับสนุนการซื้อตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ต บริการจองรถไฟบางขบวน เพื่อปรับจำนวนที่นั่งของรถไฟความเร็วสูง และเพิ่มฟังก์ชันการเลือกที่นั่งอัตโนมัติ และพัฒนาฟังก์ชันบริการจองตั๋วผ่านโทรศัพท์มือถือหรือในระบบจองตั๋ว 12306 หรือระบบศูนย์บริการลูกค้าของรถไฟให้เป็นที่น่าพึงพอใจต่อผู้ใช้บริการ

นับตั้งแต่ปีใหม่ปี ค.ศ. 2012 การขายตั๋วรถไฟได้เริ่มต้นวิธีการขายตั๋วประกอบด้วยการซื้อตั๋วด้วยชื่อจริง การจองทางอินเทอร์เน็ต และการจองทางโทรศัพท์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร

แต่ไม่นาน ในช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่น มีผู้เข้าระบบหลายร้อยล้านคนทุกวัน ทำให้ระบบการจองตั๋วเกิดปัญหาอีกครั้ง จนนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงระบบเป็นระยะ  โดยเพิ่มเพิ่มฟังก์ชัน “การจัดคิวคำสั่งซื้อ”

นักวิจัยด้านข้อมูลทางรถไฟของสถาบันวิทยาศาสตร์การรถไฟแห่งประเทศจีน ผู้สร้างระบบการซื้อตั๋วเดิมกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงระบบมีพื้นฐานอยู่บนหลักการ 2 ประการ ได้แก่ สะดวกสำหรับผู้โดยสารและชำระเงินได้หลายช่องทาง ซึ่งในเรื่องนี้ สถาบันวิทยาศาสตร์การรถไฟแห่งประเทศจีน ได้กล่าวว่า “เป็นไปได้ยากที่จะพัฒนาและสร้างระบบที่มีขนาดที่ใหญ่โต และมีเทคโนโลยีที่ซับซ้อนเช่นนี้ หากระบบนี้สำเร็จได้ก็สามารถเรียกได้ว่าเป็นระบบจัดการการซื้อตั๋วที่ดีมากที่สุดในโลกก็ได้

การซื้อตั๋วรถไฟในปัจจุบัน

ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2014 การซื้อตั๋วรถไฟในจีน จะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชน โดยจะมีชื่อของผู้โดยสารจะพิมพ์อยู่บนตั๋วรถไฟข้อมูลการซื้อตั๋วจะถูกเก็บไว้ใน “ธนาคารหน่วยความจำ” และข้อมูลสามารถปรากฏขึ้นได้โดยตรงหลังจากการซื้อตั๋วครั้งที่สอง ซึ่งช่วยเพิ่มความเร็วในการขายตั๋ว


ความร่วมมือไทย-จีน

โครงการรถไฟจีน-ไทย เป็นโครงการหลักของจีนและไทยในการร่วมกันสร้างตามแนวโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และดำเนินการความร่วมมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการรถไฟสายเอเชีย ที่มีความยาวเส้นทางทั้งหมด คือ 845 กิโลเมตร โดยความยาวของเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ในระยะแรกของโครงการ คือ 253.2 กิโลเมตร

ความร่วมมือรถไฟจีน-ไทย เป็นแบบครบวงจร  โดยบริษัทฝ่ายไทย จะดำเนินการก่อสร้างทางวิศวกรรมโยธา ส่วนฝ่ายจีน โดยบริษัทการรถไฟแห่งชาติจีน กรุ๊ป จำกัด (China National Railway Group Limited) บริษัทในเครือของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (China Railway International Co., Ltd.)  เป็นผู้นำในการดำเนินการในส่วนของของลู่วิ่ง ระบบไฟฟ้า และรถรางไฟฟ้า

วันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 2017 ระหว่างการประชุมสุดยอดเซียะเหมิน BRICS  ที่มีประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมกันเป็นสักขีพยาน อดีตกระทรวงการรถไฟจีน (ปัจจุบันเป็นในเครือของบริษัท การรถไฟแห่งชาติจีน กรุ๊ป จำกัด (China National Railway Group Limited) และบริษัทในเครือบริษัทในเครือของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ลงนามในสัญญาจ้างออกแบบวิศวกรรมโยธาระยะแรก (เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) และสัญญาจ้างเป็นที่ปรึกษา

วันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2017 การก่อสร้างของโครงการระยะแรก เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ

เดือนตุลาคม ค.ศ. 2020 กลุ่มบริษัทออกแบบระหว่างประเทศจากบริษัท การรถไฟแห่งชาติจีน กรุ๊ป จำกัดและบริษัทการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ลงนามในสัญญาโครงการ 2.3 อย่างเป็นทางการ สำหรับโครงการระยะแรกของการรถไฟจีน-ไทย เส้นทางจากกรุงเทพฯ ถึง นครราชสีมา (รวมถึงระบบราง ระบบไฟฟ้า 4 ระบบ รถรางไฟฟ้า (EMU) และการฝึกอบรม)

การรถไฟจีน-ไทย จะปรับปรุงระดับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อโครงข่ายในประเทศไทยและภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งการก่อสร้างทางรถไฟสายเอเชีย ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย และส่งเสริมการพัฒนาภูมิภาค ความเจริญรุ่งเรือง และการปรับปรุงการดำรงชีวิตของประชาชน

ที่มา วารสารวิทย์ไมตรีไทย-จีน ฉบับเดือนสิงหาคม 2564 “รถไฟความเร็วสูงจีน (China Railway High-speed: CRH)”

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]