กว่างโจว, 30 ส.ค. (ซินหัว) — วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดโปรตีนลูกผสม หรือวี-01 (V-01) ซึ่งพัฒนาและผลิตในจีน ได้รับอนุมัติการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในฟิลิปปินส์แล้ว
วัคซีนวี-01 ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันชีวฟิสิกส์ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) และบริษัท ลิฟซอน ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป อิงก์ (LivzonBio) ในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน เป็นวัคซีนชนิดโปรตีนลูกผสมที่มีส่วนยึดจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ (RBD) ในฐานะแอนติเจน
รายงานระบุว่าส่วนยึดจับกับตัวรับถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดของโปรตีนหนามของเชื้อไวรัสฯ ที่จับกับตัวรับเอซีอี2 (ACE2) ในเซลล์มนุษย์ โดยกระบวนการจับกับตัวรับนั้นทำให้เชื้อไวรัสฯ เข้าถึงเซลล์มนุษย์และนำไปสู่การติดเชื้อในที่สุด
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของฟิลิปปินส์ประกาศอนุมัติการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 แก่วัคซีนวี-01 เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพ โดยรับสมัครผู้เข้าร่วมทดลองที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งรายแรกได้รับวัคซีนโดสแรกเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา
การทดลองทางคลินิกของวัคซีนวี-01
หูเจิ้นเซียง รองประธานลิฟซอน กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่าการทดลองระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ของวัคซีนวี-01 แสดงผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ โดยการทดลองทั้งสองระยะดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 1,060 คน ซึ่งระยะที่ 2 มีผู้เข้าร่วม 880 คน แบ่งเป็นผู้มีอายุ 18-59 ปี จำนวน 440 คน และผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปอีก 440 คน โดยผู้เข้าร่วมที่มีอายุมากที่สุดคือ 83 ปี
ผลการทดลองทั้งสองระยะไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่เกิดจากวัคซีน ส่วนอาการไม่พึงประสงค์อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงและสามารถฟื้นตัวได้เองภายใน 3 วัน ขณะอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ของแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์นั้นสูงทะลุร้อยละ 97 หลังรับวัคซีนวี-01 จำนวน 2 โดส
หูชี้ว่าวัคซีนวี-01 สามารถสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอย่างรวดเร็ว ทั้งกลุ่มผู้ใหญ่และกลุ่มผู้สูงวัย โดยผลการวัดค่าเฉลี่ยระดับภูมิคุ้มกัน (GMT) ของระดับแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ระหว่างทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกันวัคซีนดังกล่าวยังผ่านการทดสอบการยับยั้งเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ต่างๆ และพบว่าสามารถต่อต้านเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์เดลตา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อนึ่ง ข้อมูลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ของวัคซีนวี-01 ที่ดำเนินการในจีน ถูกเผยแพร่ในวารสารอีเมอร์จิง ไมโครบส์ แอนด์ อินเฟกชันส์ (Emerging Microbes & Infections) และวารสารการแพทย์แห่งชาติจีน (National Medical Journal of China) ฉบับเดือนกรกฎาคม ตามลำดับ
วัคซีนชนิดโปรตีนลูกผสมที่มีส่วนยึดจับกับตัวรับบนผิวเซลล์
คณะนักวิทยาศาสตร์ทราบมานานแล้วว่าโปรตีนหนามเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเชื้อไวรัสฯ ก่อโรคโควิด-19 ในการยึดจับกับตัวรับของเซลล์มนุษย์ โดยส่วนยึดจับกับตัวรับถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดของโปรตีนหนามที่ใช้จับกับเซลล์มนุษย์จนนำไปสู่การติดเชื้อ
หวังหมิง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น เปรียบเทียบเชื้อไวรัสฯ ก่อโรคโควิด-19 เหมือนกับผู้ร้าย และการมุ่งเป้าที่ส่วนยึดจับกับตัวรับนั้นเหมือนกับการใส่กุญแจมือ เพื่อยับยั้งเชื้อไวรัสฯ ไม่ให้สามารถเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้
เมื่อเดือนมีนาคม จีนอนุมัติการใช้งานฉุกเฉินแก่วัคซีนที่มุ่งเป้าที่ส่วนยึดจับกับตัวรับที่ผลิตจากเซลล์รังไข่ของหนูแฮมสเตอร์ (CHO Cells) ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันจุลชีววิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน และบริษัท อันฮุย จื้อเฟย หลงเคอหม่า ไบโอฟาร์มาซูติคัล จำกัด (Anhui Zhifei Longcom Biopharmaceutical)
วัคซีนที่มุ่งเป้าที่ส่วนยึดจับกับตัวรับนั้นสามารถผลิตและขยายกำลังการผลิตได้ง่าย เมื่อเทียบวัคซีนชนิดอื่นๆ เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ต้องการโปรตีนหนามของเชื้อไวรัสฯ เพียงเล็กน้อยในการผลิต ทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายและง่ายต่อการจัดเก็บและขนส่ง
หูคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตวัคซีนวี-01 ของลิฟซอนจะสูงถึง 3.5 พันล้านโดสต่อปี โดยนอกจากฟิลิปปินส์แล้ว ลิฟซอนยังยื่นขอทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในกว่า 10 ประเทศ อาทิ อียิปต์ อินโดนีเซีย รัสเซีย รวันดา แอฟริกาใต้ ปากีสถาน มาเลเซีย ตุรกี และเม็กซิโก พร้อมวางแผนเปิดตัวการทดลองทางคลินิกสำหรับวัคซีนโดสกระตุ้นในมาเลเซีย ตุรกี เม็กซิโก และรวันดา
เมื่อเดือนพฤษภาคม คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งและสถาบันวิจัยอื่นๆ ของจีน รายงานในวารสารเซลล์ รีเสิร์ช (Cell Research) ว่าการฉีดวัคซีนชนิดโปรตีนลูกผสมที่มีส่วนยึดจับกับตัวรับเป็นโดสกระตุ้นอาจเป็นแผนการสร้างภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมที่สุดในอนาคต
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Xinhua