จีนจัดทำชุดข้อมูล ‘การไหลของคาร์บอนทั่วโลก’ ชุดแรกสำเร็จ | XinhuaThai

(แฟ้มภาพซินหัว : พื้นที่ป่าในหมู่บ้านซ่างหยาง ตำบลไท่หูหยวน นครหางโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีน วันที่ 20 ก.ค. 2021)

ปักกิ่ง, 17 ส.ค. (ซินหัว) — คณะนักวิจัยจีนได้จัดทำชุดข้อมูลการไหลของคาร์บอนออกไซด์ทั่วโลกชุดแรกของประเทศ โดยอ้างอิงข้อมูลที่ได้จาก “ทั่นแซต” (TanSat) ดาวเทียมตรวจสอบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งหมายความว่า ขณะนี้จีนสามารถสังเกตการณ์งบประมาณคาร์บอน (Carbon Budget) ในทั่วโลกได้แล้ว

หยางตงซวี่ นักวิจัยชำนาญการของสถาบันฟิสิกส์บรรยากาศ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่า ด้วยการพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยีการตรวจจับในชั้นบรรยากาศและการสร้างแบบจำลอง ทำให้จีนสามารถติดตามการปล่อยก๊าซคาร์บอน ผ่านวิธีสังเกตความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ สำหรับการประเมินความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

จีนได้ปล่อย “ทั่นแซต” ดาวเทียมตรวจสอบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2016 กลายเป็นประเทศที่ 3 รองจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ที่สามารถติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยดาวเทียมของตนเอง

ภารกิจของดาวเทียมดังกล่าวคือการตรวจสอบความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศทั่วโลกด้วยความแม่นยำระดับสูง และการให้ข้อมูลสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

คณะนักวิจัยได้ใช้ข้อมูลของดาวเทียมสังเกตการณ์ “ทั่นแซต” ประเมินปริมาณการไหลของก๊าซคาร์บอนภาคพื้นดิน (terrestrial carbon) ทั่วโลก ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2017 ถึงเมษายน 2018 ซึ่งผลการประมาณที่ได้นั้นแทบจะตรงกันกับผลลัพธ์ของดาวเทียมโกแซท (GOSAT) ของญี่ปุ่นและดาวเทียมโอซีโอ (OCO-2) ของสหรัฐฯ

คณะนักวิจัยระบุค่าที่ได้จากการสังเกตการณ์และค่าที่ได้จากแบบจำลอง ในการตรวจสอบปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ณ สถานที่และเวลาที่กำหนด ทั้งยังใช้การผนวกข้อมูลจริงจากการตรวจวัด เพื่อลดค่าความคลาดเคลื่อนของผลลัพธ์ที่ได้จากแบบจำลอง ทำให้อัตราความไม่แน่นอนลดลงถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับชุดข้อมูลที่ได้ก่อนหน้า

การจัดทำชุดข้อมูลการไหลของคาร์บอนทั่วโลกจะช่วยให้สาธารณชนตระหนักถึงผลกระทบจากการดำเนินการต่างๆ เช่น การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอน ตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของสภาพภูมิอากาศ

ความสำเร็จข้างต้นได้รับการตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ในวารสารแอดวานเซส อิน แอตโมสเฟียริก ไซแอนซ์ (Advances in Atmospheric Sciences)

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :

Xinhua

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]