หลานโจว, 19 ก.ค. (ซินหัว) — ผลการศึกษาล่าสุดจากมหาวิทยาลัยหลานโจวของจีน ค้นพบว่าหิมะภาคหรือไครโอสเฟียร์ (Cryosphere) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผิวโลกที่ประกอบด้วยน้ำในรูปแบบของแข็ง ครอบคลุมตั้งแต่ทะเล ทะเลสาบ แม่น้ำ ธารที่เป็นน้ำแข็ง แผ่นน้ำแข็ง และชั้นดินเยือกแข็งของโลก หดตัวลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 87,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี ในช่วงปี 1979-2016 อันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน
จางถิงจวิน ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าการศึกษานี้มุ่งเน้นความสำคัญของการประเมินหิมะภาคโดยรวม โดยประเมินการเปลี่ยนแปลงโดยรวมในเชิงปริมาณ
เผิงเสี่ยวชิง ผู้นำการศึกษาดังกล่าว ระบุว่าการศึกษานี้ยังบุกเบิกการประเมินหิมะภาคทั้งหมดทั่วโลกอย่างรอบด้านด้วย โดยหิมะภาคของโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีน้ำเยือกแข็ง ครองพื้นที่น้ำจืดเกือบ 3 ใน 4 ของโลก รวมถึงมีบทบาทสำคัญในระบบภูมิอากาศของโลก
“หิมะภาคเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสภาพภูมิอากาศที่ว่องไวที่สุด การเปลี่ยนแปลงของมันแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญระดับโลก ไม่ใช่แค่ปัญหาระดับภูมิภาคเท่านั้น” เผิงกล่าว
เหล่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฯ มุ่งมั่นทำการประมาณการแบบองค์รวมและหาปริมาณการเปลี่ยนแปลงของหิมะภาคครึ่งซีกโลกและทั้งโลกอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยพวกเขาสังเคราะห์น้ำแข็งในทะเล หิมะที่ปกคลุม และขอบเขตของพื้นดินเยือกแข็งให้เป็นชุดข้อมูลขอบเขตหิมะภาคระดับโลกหนึ่งชุด ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อหิมะภาค รวมถึงต่อระบบนิเวศ การแลกเปลี่ยนคาร์บอน และวงจรชีวิต
อนึ่ง ผลการศึกษาดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสารอนาคตของโลก (Earth’s Future)
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Xinhua