หลานโจว, 17 ก.ค. (ซินหัว) — กลุ่มนักวิจัยเดินทางออกจากมณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อวันพฤหัสบดี (16 ก.ค.) ที่ผ่านมา เพื่อทำการสำรวจทางวิทยาศาสตร์บนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
การวิจัยระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งมุ่งเน้น “ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นดิน-ชั้นบรรยากาศ และผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ” เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจทางวิทยาศาสตร์อย่างรอบด้านบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ครั้งที่ 2 ของจีน
ทีมนักวิจัยจะปฏิบัติงานหลายอย่างเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค อาทิ การสร้างฐานข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างพื้นดิน-ชั้นบรรยากาศและข้อมูลทางภูมิศาสตร์ และการสร้างแบบจำลองสามมิติ
หม่าเย่าหมิง หัวหน้ากลุ่มวิจัยและนักวิจัยจากสถาบันวิจัยที่ราบสูงทิเบต สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่านักวิจัยมากกว่า 100 คนจากสถาบัน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย 18 แห่ง จะออกเดินทางไกลประมาณ 6,600 กิโลเมตรในพื้นที่มณฑลกานซู่และมณฑลชิงไห่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ และเขตปกครองตนเองทิเบตทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
เหล่านักวิจัยจะเก็บตัวอย่างจากอากาศ หิมะที่ปกคลุม น้ำ ตะกอน และดิน และรวบรวมข้อมูลจากผู้สังเกตการณ์ภาคสนาม เพื่อสร้างความเข้าใจถึงปฏิสัมพันธ์ของพื้นดินและชั้นบรรยากาศในบริเวณดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น
การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ยังจะอาศัยแพลตฟอร์มสังเกตการณ์ 3 มิติ ที่ครอบคลุมการแลกเปลี่ยนของน้ำและความร้อนระหว่างพื้นดินและชั้นบรรยากาศ รวมถึงใช้ภาพถ่ายหลายสเปกตรัมจากโดรนและการสำรวจระยะไกลด้วยดาวเทียม
ทั้งนี้ การสำรวจทางวิทยาศาสตร์บนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ครั้งที่ 2 ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2017 มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค ทั้งยังส่งเสริมการปกป้องสิ่งแวดล้อมทั่วโลก
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Xinhua